วิธีใช้"ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์"เหมาะสมตามช่วงวัย ไม่อันตราย
กรมอนามัย เผย อันตรายจากฟลูออไรด์ในยาสีฟันหรือผลิตภัณฑ์ ผสมฟลูออไรด์อื่น ๆ เกิดขึ้นได้น้อยมาก พร้อมแนะวิธีใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ตามช่วงวัยที่เหมาะสม
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีมีการเผยแพร่ ข้อมูลเรื่องอันตรายของฟลูออไรด์ผ่านทางเฟซบุ๊ค โดยอ้างว่าส่งผลต่อความฉลาด การป่วยมะเร็ง มวลกระดูกบาง ฟันผุกร่อน หินปูนที่ข้อ หรือมีรหัสพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ข้อความดังกล่าวมีการบิดเบือน จากความเป็นจริง เนื่องจากอันตรายจากฟลูออไรด์ในยาสีฟันหรือผลิตภัณฑ์ผสมฟลูออไรด์อื่น ๆ เกิดขึ้นได้น้อยมาก การเกิดพิษจากการใช้ฟลูออไรด์ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่บริโภคเข้าสู่ร่างกาย
แต่การใช้ฟลูออไรด์รูปแบบต่าง ๆ ในช่องปาก จะเน้นการสัมผัสของฟลูออไรด์กับผิวฟัน ไม่มีความจำเป็น ต้องกินเข้าไป องค์การอนามัยโลกแนะนำและสนับสนุนให้แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้น 1,000 - 1,500 ppm วันละ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันฟันผุในทุกกลุ่มวัย สำหรับการแปรงฟันด้วยยาสีฟัน ผสมฟลูออไรด์ในเด็กวัยเรียนหรือผู้ใหญ่มีโอกาสกลืนยาสีฟันได้น้อยมาก เพราะสามารถควบคุม การบ้วนทิ้งได้แล้ว แต่มีโอกาสเกิดได้ในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการบีบยาสีฟันในปริมาณ ที่เหมาะสม
ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงวรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ความเข้มข้นตั้งแต่ 1,000 ppm ขึ้นไป เป็นวิธีการป้องกันฟันผุที่ง่ายและคุ้มค่าที่สุด โดยมีข้อแนะนำในแต่ละช่วงวัย ดังนี้ 1) เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรแตะยาสีฟันบนขนแปรง พอเปียก ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กและเช็ดฟองออก 2) เด็กอายุ 3 – 6 ปีที่สามารถควบคุมการบ้วนทิ้งได้ ผู้ปกครองควรเป็นผู้บีบยาสีฟันให้เท่ากับความกว้างของขนแปรง และช่วยแปรงฟัน ซึ่งหลังแปรงฟัน ให้บ้วนน้ำแต่น้อย และ 3) เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ ควรบีบยาสีฟันให้เท่ากับความยาวของขนแปรง หลังแปรงฟันควรบ้วนน้ำแต่น้อยเช่นกัน เพื่อให้ยาสีฟันฟลูออไรด์เกาะยึดกับผิวฟันและทำหน้าที่ป้องกันฟันผุ ได้ยาวนานและมีประสิทธิภาพ