ส่อง 3 เทรนด์ "Healthcare" หลังวิกฤติ "โควิด-19"
"โควิด-19" ถึงแม้จะส่งผลให้ตลาดเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวโควิด-19 เติบโตมากขึ้น แต่ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ กลับลดลง 20.5% ทั้งนี้ "DKSH" คาด 3 เทรนด์ Healthcare หลังวิกฤตโควิด ดิจิทัลมาแรง เน้นป้องกัน และการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบมาตรการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
วิกฤต โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้เราจะพบว่าเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอด/เข็มฉีดยา ฯลฯ มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก แต่ก็มีผลิตภัณฑ์บางกลุ่มที่แนวโน้มลดลง เช่น อุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องฝังในร่างกาย เนื่องจากการล็อกดาวน์ รพ. ต้องลดการผ่าตัดในช่วงการระบาด
ข้อมูลจาก วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64 เผยว่า ในปี 2563 มูลค่าการค้าของเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ในตลาดโลก (ผลรวมของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า) หดตัว 9.7% จากปี 2562 ผลจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้ความต้องการส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น
ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ภายในเป็นลำดับแรก โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีสัดส่วนสูงสุด 66.3% ของมูลค่าการค้าเครื่องมือแพทย์ทั่วโลก หดตัว 20.5% อย่างไรก็ตาม ความต้องการสินค้าที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากตามความต้องการใช้ ส่งผลให้กลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ สัดส่วน 28.3% ของมูลค่าการค้าเครื่องมือแพทย์ทั่วโลก เพิ่มขึ้น 23.8% และกลุ่มน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค สัดส่วน 5.5% เพิ่มขึ้น 20.5% ตามลำดับ
“จอห์น แคลร์” รองประธานฝ่ายบริหาร หน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ประเทศไทยและอินโดจีน (เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว) บริษัท DKSH ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หากมองในภาพรวมจะเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์บางหมวดหมู่บางประเภทที่เคยมีผลประกอบการดีก่อนช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่พอมีโควิด-19 อาจมีการเติบโตที่ลดลง ขณะที่บางผลิตภัณฑ์ที่ก่อนหน้านี้เป็นตลาดที่เล็ก แต่ในช่วงโควิดกลับเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก
หากเจาะลึกลงมาจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจจะไม่ได้มีการเติบโตนักในช่วงโควิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาที่เกี่ยวเนื่องกับการติดเชื้อต่างๆ เนื่องจากเรามีการเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย ทำให้โรคติดต่อที่เคยพบเจอที่โรงเรียนหรือที่ทำงานลดน้อยลง คนป่วยน้อยลง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการผ่าตัด เช่น Surgical Implants อุปกรณ์การแพทย์ อาทิ ข้อเข่าเทียม อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์อะไรที่ต้องฝังเข้าไปในร่างกาย เติบโตน้อยลง เนื่องจากโควิด-19 มีการล็อกดาวน์ ทำให้การผ่าตัดถูกเลื่อนออกไป ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จึงเจอกับความท้าทาย
“ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่เห็นการเติบโตและทำตลาดได้ดี คือ วิตามิน อาหารเสริม เนื่องจากพฤติกรรมของคนที่เริ่มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น สมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร พบว่า คนเริ่มบริโภคมากขึ้น และอีกประเภทหนึ่งที่เติบโตได้ดี คือ ชุด PPE และ อุปกรณ์ด้านการตรวจเชื้อโควิด-19 รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก็มีการเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน”
ล็อกดาวน์ อุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์หดตัว
สอดคล้องกับ ข้อมูลจาก วิจัยกรุงศรี ระบุถึงการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยรวมอยู่ในภาวะซบเซา สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี (-11.0%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการ ล็อกดาวน์ช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ทำให้การผลิตหยุดชะงัก โดยกลุ่มที่หดตัวมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา (-13.7%) และชุดถ่ายเลือดและให้น้ำเกลือ (-6.9%)
อย่างไรก็ตาม การผลิตกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตถุงมือยาง/ถุงมือตรวจเพิ่มขึ้น 17.0% อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์อื่นๆ เพิ่มขึ้น 7.9% และเข็มฉีดยาเพิ่มขึ้น 1.5% เนื่องจากมีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและตลาดส่งออก ผนวกกับภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ทั้งนี้ จากที่หลายประเทศรวมถึงไทยเตรียมพร้อมโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ซึ่งเริ่มเห็นการผ่อนคลายมาตรการเป็นระยะๆ "จอห์น" มองว่า เราน่าจะได้เห็นการปรับเปลี่ยนของตลาดตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวจะเริ่มเข้ามาอีกครั้ง จะเห็นการปรับตัวของตลาดที่ไม่เหมือนเดิม หรือการที่ผลิตภัณฑ์ประเภทยาที่เกี่ยวกับแก้ไอ แก้หวัด เริ่มเติบโตขึ้น เพราะคนเริ่มไปโรงเรียน ไปทำงานมากขึ้น ดังนั้น จะมีการปรับตัวของตลาดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ
“อย่างไรก็ตาม ตลาดด้าน Healthcare คงไม่กลับไปเหมือนสถานการณ์เดิมกับตอนช่วงก่อนโควิด-19 แต่จะเป็นการปรับตัวของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ในหลายประเทศเราเริ่มเห็นว่าเขาไม่ได้บังคับให้ประชาชนใส่หน้ากากกันแล้ว ประชาชนก็ใส่หน้ากากน้อยลง รวมถึงในประเทศไทยระยะยาวก็คงจะเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อคนใส่หน้ากากน้อยลง ก็จะเห็นแพทเทิร์นของโรคติดต่อที่เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้น จะมีผลกระทบต่อหมวดหมู่สินค้า ผลิตภัณฑ์ยาที่เติบโต
“นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการผ่าตัด ซึ่งความจริงมีความต้องการมาตลอด แต่คนไข้ไม่ได้รับการผ่าตัดเนื่องจากการล็อกดาวน์ อย่าง Surgical Implants อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องฝังเข้าไปในร่างกาย เจอความท้าทายเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา แต่คาดว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ห้องผ่าตัดกลับมาเปิดได้ตามปกติในระดับเดิมแล้ว สินค้าพวกนี้จะกลับมาขายได้ดีเท่าในปี 2019”
สำหรับปี 2565-2566 วิจัยกรุงศรี คาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.0-7.0% ต่อปี ผลจากการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั่วประเทศทำให้การระบาดของโควิด-19 บรรเทาลง ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทยอยกลับสู่ระดับใกล้เคียงปกติ ทำให้ความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงเหลือ 8.0% ต่อปี หลังจากมีอัตราการขยายตัวสูงมากในช่วงปี 2563-2564 ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองสูงโดยเฉพาะถุงมือยาง/ถุงมือยางทางการแพทย์
3 เทรนด์ Healthcare ในอนาคต
สำหรับ “เทรนด์ด้าน Healthcare ในอนาคต” “จอห์น แคลร์” มองว่าจะมีการปรับใช้เทคโนโลยี และระบบดิจิทัลต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการใช้ Telehealth การแพทย์ทางไกล มีเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วย เข้าถึงการพบแพทย์ได้ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันในช่วงโควิด-19 จะพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้ผ่านระบบออนไลน์โดยตรง และสามารถมียามาส่งถึงบ้าน
ถัดมา คือ เทรนด์การป้องกัน ผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องการบำรุงสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม วิตามิน ที่มีการเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้บริโภค เริ่มหันมาพึ่งร้านขายยามากขึ้น บทบาทของร้านขายยากลายเป็นด่านแรกที่ผู้บริโภคสามารถขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้ เช่น ในช่วงสถานการณ์โควิด ผู้บริโภคไม่อยากไปโรงพยาบาล ร้านขายยาจึงมีบทบาทในการให้คำปรึกษา และในเชิงป้องกันได้
สุดท้าย ในแง่ของความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้านกฎระเบียบมาตรการในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพราะที่เห็นได้ชัดจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ป่วยได้รับคำปรึกษาผ่าน Telehealth และมีการส่งยาถึงที่บ้าน เรียกว่าเป็นอะไรที่ใหม่และไม่มีเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มีผลกระทบต่อกฎระเบียบ มาตรการ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปให้ทันต่อสถานการณ์ เพราะฉะนั้น ในอนาคตกฎระเบียบต่างๆ อาจต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความต้องการของผู้ป่วยในอนาคตมากขึ้น
DKSH กระจายวัคซีนครบ 70 ล้านโดส
สำหรับ บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DKSH หลังจากที่ ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม ในการจัดเก็บ จัดบรรจุ และกระจายวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกที่มาถึงไทยจำนวน 2 ล้านโดสฟรี เมื่อเดือน ก.พ. 64 ที่ผ่านมา
ล่าสุด “จอห์น แคลร์” เผยว่า หลังจากวัคซีนล็อตแรกที่เข้ามาในไทยวันที่ 24 ก.พ. 64 DKSH ได้นำไปยังศูนย์กระจายสินค้า ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จแรกในแง่ของการกระจายวัคซีน โดย 2 ล้านโดสแรก ที่มาถึงประเทศไทย DKSH ให้บริการฟรีทั้งหมด เพราะเรามองว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายด้านระบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและระบบบริการสาธารณสุข เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม
"นอกจากจะสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนแล้ว ยังสนับสนุนสถานทูตต่างๆ ในประเทศไทย ในกระจายวัคซีนให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่เข้าไม่ถึงวัคซีนในช่วงเวลานั้น โดยล่าสุด มีการกระจายวัคซีนไปแล้วรวมกว่า 70 ล้านโดส"
นอกจากนี้ ยังมีการกระจายผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ช่วยในสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจ RT-PCR , ATK และสินค้า PPE ต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงได้มากขึ้น
พัฒนาคุณภาพกระจายสินค้า - ระบบดิจิทัล
สำหรับในปีนี้ “จอห์น แคลร์” เผยว่า เป้าหมายแรก ของ DKSH คือ จะยังคงให้การสนับสนุนประเทศไทยในด้านการกระจายวัคซีนโควิด-19 และจะยังคงมีการพัฒนาโอกาสกับพันธมิตรใหม่ๆ เพราะอุตสาหกรรมวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีและการค้นพบใหม่ๆ ดังนั้น เรามองเห็นโอกาสในการช่วยประเทศไทย กระจายวัคซีนที่มีการพัฒนาใหม่ๆ ในอนาคตต่อไป นอกจากวัคซีน จะสนับสนุนในเรื่องการกระจายยารักษาต่างๆ ที่ช่วยเหลือต่างๆ ด้านโควิดได้อีกด้วย
ทั้งนี้ DKSH มีการขยายการให้บริการ รวมไปถึงความสามารถด้านการกระจายสินค้าในอุณหภูมิที่หลากหลายเหมาะสมกับแต่ละผลิตภัณฑ์ เช่น สามารถจัดเก็บวัคซีนได้ตั้งแต่อุณหภูมิ -70 องศา ไปจนถึง ห้องที่สามารถจัดเก็บผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพทั่วไปราว 25 องศา มีการขยายพื้นที่จัดเก็บได้ครอบคลุมทุกอุณหภูมิ
"นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบแพลตฟอร์มไอที ดิจิทัลต่อไป เพราะเราได้เห็นว่า มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผู้ค้าและลูกค้า จึงพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ทั้งสองฝ่าย สามสิ่งนี้ คือ สิ่งที่เรามองว่าตอบโจทย์ในการให้การสนับสนุนระบบสาธารณสุขไทย" จอห์น แคลร์ กล่าวทิ้งท้าย