ไทยเจอ "โควิดไฮบริด" โอมิครอน XJ 1 ราย ติดซ้ำต่างสายพันธุ์ย่อยเกิดได้

ไทยเจอ "โควิดไฮบริด"  โอมิครอน XJ 1 ราย  ติดซ้ำต่างสายพันธุ์ย่อยเกิดได้

กรมวิทย์ เผยเจอโควิดไฮบริด “โอมิครอน XJ”  ลูกผสม BA.1 + BA.2 ในชายไทย 34 ปี พนักงานส่งของ  อาการหายดีแล้ว ระบุ มีโอกาสติดซ้ำโอมิครอนต่างสายพันธุ์ย่อยได้ ขณะที่สายพันธุ์ครองไทยเป็น “โอมิครอน BA.2” แล้ว  92.2 %  ติดเชื้อง่าย และไวขึ้น


        เมื่อวันที่  4 เม.ย.2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 ประเด็น “การเฝ้าระวังสายพันธุ์” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า   ปกติการเปลี่ยนแปลงการกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นในตัวของมัน จะเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม แล้วถ้าเปลี่ยนไปต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง หรือผลที่แตกต่างมาก จะกลายเป็นตัวใหม่ ถ้าต่างไม่มาก จะเป็นสายพันธุ์ย่อย  อย่างไรก็ตาม  มีกรณี Mixed Infection คือ ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์อยู่ในคนเดียว เคยเจอในไทยมาแล้ว ช่วงเป็นอัลฟาและเดลตา มีการตรวจพบ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน 

แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆจนผสมพันธุ์ออกมาเป็นตัวใหม่ ที่มีพันธุกรรมมาจากมากกว่า 1 สายพันธุ์ เรียก Recombinant หรือไฮบริด คือ มี 2 ตัวอยู่ในไวรัสตัวเดียว
       

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า  เวลามีการผสมเป็นไฮบริด จะใช้คำว่า X นำหน้าคือ มีการข้ามพันธุ์แล้วมาผสมกัน ปัจจุบันมี XA ไล่จนถึง XS ประมาณ 17 ตัว  ซึ่งบางทีมีการผสมพันธุ์เกิดขึ้นตรวจจับนานพอควรแล้ว เช่น กรณี XA พบตั้งแต่เดือนธ.ค.2563 โดยเป็นลูกผสมระหว่าง  B.1.1.7(อัลฟา) กับ B.1.177 หรือ XB เจอตั้งแต่ เดือนก.ค.2563 โดยเป็นลูกผสมระหว่าง B.1.634 กับ B.1.631 ซึ่งเป็น 2 ตัวที่มีการกลายพันธุ์แต่ไม่ได้ถูกตั้งชื่อเพราะไม่ได้มีความหมายอะไร และไม่ได้มีการรายงานเพิ่มเติมน่าจะหมดไปจากโลกแล้ว  ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นลูกผสมถ้าไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ ความพิเศษในแง่แพร่พันธุ์ หลบวัคซีน หรือความรุนแรง ก็ไม่ได้มีความหมายเพราะเป็นธรรมชาติของไวรัสเมื่อมีการเพิ่มจำนวน มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ หรือ XC เป็นลูกผสมของเดลตา AY.29 กับ B.1.1.7(อัลฟา) ประมาณกลางปี  2564


      “โดย 3 ตัวนี้  GISAID วิเคราะห์สิ้นสงสัย และยอมรับแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 ตัวนี้เท่านั้น ที่ยอมรับว่าเกิดไฮบริดขึ้นจริง ส่วน X อื่นๆ ที่นอกจากนี้ยังอยู่ในชั้นที่อาจจะต้องมีการวิเคราะห์ลึกล้ำจนสิ้นสงสัย ว่ามีตัวใหม่ขึ้นมาจริง”นพ.ศุภกิจ กล่าว  
       

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า  ส่วน XE ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี พบในประเทศไทย เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1และ BA.2 และลูกผสมระหว่างโอมิครอน 2สายพันธุ์ย่อยนี้มีอีกหลาย X ที่กำหนดให้ต่างกันเนื่องจากมีรหัสพันธุกรรมที่ต่างกัน   และเจอในประเทศที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้  จากการถอดรหัสพันธุกรรมของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า มีโอกาสเข้าได้ใกล้เคียงกับ โอมิครอนลูกผสม XJ เจอที่ฟินแลนด์ที่แรก โดยเป็นชายไทย อายุ  34 ปี  อาชีพพนักงานบริษัทขนส่ง ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2565 ที่ รพ.ใน กทม. ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม อาการหายดีแล้ว  โดยโอมิครอน XJ เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 กับ BA.2 ด้วย  อย่างไรก็ตาม ทั้ง XE และ XJ ยังไม่ได้ถูกยอมรับจากGISAID ซึ่งวันที่ถูกยอมรับอาจจะเป็นXอื่นก็ได้ ต้องรอกระบวนการวิเคราะห์

  “กรณีการพบในชายไทยสายพันธุ์ลูกผสมใกล้เคียง XJ แต่ในเรื่องความรุนแรง การแพร่เร็ว ยังไม่มีข้อมูล เพราะในระยะเบื้องต้นจะพบการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมก่อน ว่าพบเปลี่ยนตรงตำแหน่งไหน โดยในชายไทยที่เป็นคนส่งของอาการหายดีแล้ว ซึ่งอาการแทบแยกไม่ออกเลย เพราะไม่ว่าเดลตา โอมิครอนแทบแยกไม่ได้  ส่วนใหญ่เป็นอาการทางเดินหายใจใกล้เคียงกัน เพียงแต่เมื่อจำนวนรวมกันเยอะๆ   อาจมีไข้น้อยกว่านิดหน่อย หรือเจ็บคอมากกว่านิดหน่อย แต่คงไม่สามารถนำมาใช้แยกอาการกับสายพันธุ์ได้  นอกจากนี้   ยังมีอีก 1 ราย ข้อมูลยังไม่พอ เพราะตัวอย่างเพิ่งส่งมาวันที่ 3 เม.ย. แต่จากข้อมูลเบื้องต้นโอกาสที่จะเป็นรีคอมบิแนนท์  (recombinant) พบ 60% จึงยังสรุปไม่”  นพ.ศุภกิจ กล่าว   
 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า   จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการสุ่มตรวจราว 2 พันราย  พบเดลตา 3 ราย ในเขตสุขภาพที่ 8 ที่เหลือเป็นโอมิครอน  คิดเป็น 99.8 %  ในภาพรวมขณะนี้โอมิครอนครองไทยแทบจะไม่มีสายพันธุ์อื่นหลงเหลือในประเทศไทยแล้ว โดยเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 คิดเป็น 92.2% และ BA.1 คิดเป็น  7.8 %  ซึ่งจะทำให้ติดเชื้อง่าย และไวขึ้น  ขณะที่ในอังกฤษก็มี BA.2 ระบาดหนักอยู่ปัจจุบัน พบเรื่องการแพร่เร็วชัดเจน แต่ในส่วนที่จะหลบภูมิคุ้มกัน และความรุนแรง ยังมีข้อมูลไม่มากพอที่จะบอกว่ามีปัญหาเรื่องความรุนแรงมากขึ้น อาจจะหลบภูมิได้มากขึ้นเล็กน้อย 
        

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าคนที่ติดโอมิครอนมีโอกาสติดซ้ำในต่างสายพันธุ์ย่อยได้ เช่น ติดBA.1แล้วมีโอกาสติดBA.2อีก นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีโอกาสได้ เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า โอมิครอน BA.2 สามารถหลบภูมิคุ้มกันไม่ว่าโดยธรรมชาติ หรือวัคซีนในจำนวนหนึ่ง ดังนั้น คนติดเดลตาก็ติดโอมิครอนได้ หรือติดโอมิครอน BA.1 ก็อาจติด BA.2 ได้ แต่ไม่ใช่ทุกราย  ฉะนั้น ภูมิคุ้มกันฉีด 2 เข็มจึงไม่พอ จำเป็นต้องบูสเตอร์เข็ม 3 หรือคนฉีดเข็ม 3 นานมากแล้ว ก็แนะนำมาฉีดเข็ม 4  แต่อย่างที่บอกว่า ภูมิคุ้มกันในเลือดอย่างเดียวก็มีองค์ประกอบเยอะ อย่างฉีดวัคซีนเชื้อตายในอดีต ก็อาจทำให้เซลล์ต่างๆ มาช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ในกรณีเจอเชื้อใหม่เข้ามา

      เมื่อถามย้ำว่าคนติดโควิดมาแล้วไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ตามก็ยังต้องฉีดวัคซีนตามกำหนดหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากติดโอมิครอนวันนี้ ซึ่งพบว่าหากติด BA.2 ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 มีมากแน่ และจะไม่เป็นซ้ำในเวลาสั้นๆ แต่หากติด BA.1 ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ก็อาจไม่มากพอ  ซึ่งกรณีเหล่านี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังทำการตรวจสอบวิเคราะห์อยู่ หากแล้วเสร็จจะมีการเผยแพร่ต่อไป
    

“ภาพรวมโอมิครอน ติดง่ายมาก เพียงแต่ความรุนแรงลดลง ดังนั้น จึงขอให้ระมัดระวัง อย่าไปเชื่อว่า ปล่อยให้ติดไปให้หมด แบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าปล่อยให้ติดเชื้อเยอะๆ โอกาสกลายพันธุ์มีสูง และเราก็ไม่รู้ว่าหากกลายพันธุ์แล้วรุนแรงก็จะมีปัญหา แต่โดยธรรมชาติวันนี้ ความรุนแรงลดลง เพียงแต่ยังแพร่เร็ว และจากการติดเชื้อขณะนี้ค่อนข้างเร็ว จึงต้องขอให้พึงสังวรว่า เมื่อเชื้อแพร่เร็ว โอกาสติดเชื้อก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น อะไรเลี่ยงได้ ป้องกันได้ขอให้ทำ หลายท่านอยากถอดหน้ากากอนามัย ขออย่าเพิ่งทำ อย่าไปรับประทานอาหารร่วมกันมากๆ ” นพ.ศุภกิจ กล่าว   

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์