เทคนิคเลี้ยงลูกยุคใหม่ เชื่อลูกอย่างไร? ให้ลูกเชื่อคุณ

เทคนิคเลี้ยงลูกยุคใหม่ เชื่อลูกอย่างไร?  ให้ลูกเชื่อคุณ

การเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบัน มักจะถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและดูจะเป็นปัญหาให้แก่พ่อแม่ ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นเด็กดี เด็กเก่ง และสามารถใช้ชีวิตได้ในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่มีความแตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ การเลี้ยงลูกโดยตามสิ่งที่พ่อแม่เคยถูกปลูกฝัง เลี้ยงดูมาอาจจะไม่เหมาะ

วันนี้ (5 เม.ย.2565) ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50  และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ  “Trusts Parenting เชื่อลูกอย่างไรให้ลูกเชื่อเรา” หนังสือที่นำ TRUSTS และ  NLP มาผสมผสานในการเลี้ยงลูก

  • พ่อแม่ต้องสร้างจิตใต้สำนึกให้ลูก ตั้งแต่เด็กๆ

ชาตรี เตชะปภา ผู้เขียนหนังสือ หนังสือ  “Trusts Parenting เชื่อลูกอย่างไรให้ลูกเชื่อเรา” และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใต้สำนึก NLP ในสาย Tad James เล่าว่า อารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ล้วนเกิดจากกระบวนการผลิตอารมณ์ และการที่แต่ละคนมีพฤติกรรมแตกต่างกัน เกิดจากความรู้สึก อารมณ์ที่ต่างกัน ซึ่งทุกคนสามารถดีไซต์ได้

เช่นเดียวกับ ความเชื่อในตัวลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนต้องมี การเขียนหนังสือดังกล่าว  เพื่อที่จะเป็นโมเดลการเลี้ยงดูลูก เพราะโดยปกติ ผู้ปกครองเวลาสอนลูก ชอบพูดว่าต้องปลุกจิตสำนึกของลูก ซึ่งจิตสำนึกเป็นเรื่องความรู้ แต่จิตใต้สำนึก คือ เรื่องพฤติกรรม เรื่องการเลี้ยง เราต้องดูแลจิตใต้สำนึกให้ดี

"TRUSTS แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ  หมวดแรก ความเชื่อมั่น ความเคารพ และความรักที่ไม่มีเงื่อนไข หมวดที่ 2 การสื่อสารกับลูก สื่อสารอย่างไรให้เป็นเนื้อเดียวกัน 16 เทคนิคที่จะบอกพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก และ หมวดที่ 3 สร้างระบบนิเวศความรักในครอบครัว ทำอย่างไรให้พ่อแม่ลูกเข้าใจ และรักกัน ถ้าทำได้ 3 หมวด ทำให้เด็กๆ เกิดขึ้นมามีจิตใต้สำนึกที่แข็งแรง และมีความสุข" ชาตรี กล่าว

 

 

  • ควรเคารพลูก ให้อิสระแก่ลูกในทุกด้าน

ปัญหาที่เจอในปัจจุบัน อย่าง เด็กติดออนไลน์ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้เด็กไม่เล่นเกม ไม่เล่นโซเซียลมีเดียได้ แต่เมื่อพ่อแม่ต้องเตือนลูก แล้วลูกมีปฎิกริยา คงต้องมองย้อนกลับมาวิธีที่เตือนลูกว่าทำอย่างไร

ชาตรี กล่าวต่อว่า พ่อแม่ควรมีวิธีต่อรองกับลูก มีกติกาสื่อสารกับลูก กำหนดเวลา หรือดูเนื้อหาที่ลูกดู และอย่ามองแต่ด้านลบของการกระทำลูกอย่างเดียว ขณะเดียวกัน พ่อแม่ควรพาลูกไปทำกิจกรรม สร้างทางเลือกให้แก่ลูก

"16 กระบวนท่าในการเลี้ยงดูลูก  เช่น การสร้างแนวร่วม คือ การทำอย่างไรให้ลูกรู้สึกว่าเราคือพวกเดียวกับเขา  อย่าไปเป็นพ่อแม่ให้ไปเป็นเพื่อนลูก การเป็นเพื่อนของลูก เราต้องก้าวเข้าไปอยู่ในโลกของลูก เราไปอินกับสิ่งที่เขาสนใจและชอบ  ถ้าเขารู้สึกไว้ใจพ่อแม่ เขาจะเชื่อฟังพ่อแม่" ชาตรี กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนการให้อิสระแก่ลูก ลองนึกถึงการปลูกต้นไม่ ถ้าปลูกในกระถางที่เล็กก็จะโตได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าปลูกในสวนก็จะโตขึ้น ในฐานะพ่อแม่ควรเป็นกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่ เพื่อให้ลูกโตเต็มศักยภาพ

โดยเมื่อตอนเด็กเล็กๆ ให้อิสระทางด้านความคิดอย่างเต็มที่ และต้องทำให้เขาปลอดภัย  ขณะเดียวกัน เมื่อโตขึ้นเด็กต้องการอิสระทางกาย ต้องปล่อยเขา และหันกลับมาพิจารณาตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมลูกไม่อยากอยู่ด้วย

"พ่อแม่ต้องเคารพลูก คือ เคารพในความเป็นเขา เคารพในสิทธิส่วนบุคคล  เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราอยากให้ลูกเราโตขึ้นแล้วอย่างไร เราอาจต้องเลี้ยงดูเขาแบบนั้น การหาวิชาในการเลี้ยงลูกจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่ลูกจะได้ดีขึ้น" ชาตรี กล่าว

 

  • "ครอบครัว" จุดเริ่มต้นที่สำคัญของเด็ก

ครอบครัวเป็นจุดเล็กๆ แต่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด "กฤษณ์ รุยาพร  นักบริหาร นักธุรกิจ ผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมภาวะผู้นำที่ไร่ใจยิ้ม" กล่าวว่าผู้บริหารได้เข้ามาเรียนรู้ศูนย์ฝึกอบรมมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจ แต่มีปัญหาในแง่ของครอบครัว ทางศูนย์ฯ  จึงได้เชิญ อ. ชาตรี เข้ามาช่วยสอน ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลเลี้ยงดูลูก

"ต้องยอมรับว่า พ่อแม่รักลูกแต่ก็จะมีข้อจำกัด หรือความคาดหวังที่อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งบางครั้งความสุขของลูกอาจจะไม่ใช่ความสุขแบบเดียวกับที่พ่อแม่อยากให้เป็น ทางศูนย์ฯ ได้มีการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้พ่อแม่ ลูกได้เรียนรู้ร่วมกัน เป็นการต่อยอดเทคนิคต่างๆ จากหนังสือ"

กิจกรรม ต่อเรือกระดาษ ข้ามทะเลสาบหน้าไร่ พบว่ามีพ่อแม่ที่ไม่เชื่อลูก เขาก็สร้างเรือแบบที่เขาอยากให้เป็น และให้ลูกพาย แต่ปรากฎว่าพายไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยกันเข็ญเรือให้ผ่านไปอีกฝั่งให้ได้ เพราะเรือที่พ่อแม่สร้างไม่เหมาะกับลูก และพ่อแม่เองก็ไม่ได้ฟังสิ่งที่ลูกบอก แต่เมื่อพ่อแม่เปิดใจฟังในสิ่งที่ลูกบอก มีความไว้เนื้อเชื่อใจลูก ร่วมกันต่อเรือ โดยฟังความคิดเห็นของลูก ปรากฎว่า เรือสามารถไปถึงฝั่งได้โดยลูกเป็นคนพาย กิจกรรมเหล่านี้ สะท้อนหลายเรื่องให้แก่พ่อแม่ 

  • พ่อแม่ต้องเชื่อใจลูก  เป็นเพื่อนกับลูก

แม่จุ๊บ รุ่งกานต์ วงศ์ธนาสุนทร  เจ้าของเพจพาลูกเที่ยวดะ  กล่าวว่าได้มีโอกาสอ่านหนังสือนี้ตอนลูกโตแล้ว ซึ่งถือเป็นหนังสือเตือนสติให้แก่พ่อแม่ ในเรื่องการไว้วางใจ เชื่อใจ และให้อิสระแก่ลูก เพราะด้วยความเป็นแม่ จะมีความกังวล ความห่วงลูกในหลายๆ เรื่อง จนทำให้บางครั้งเราลืมไปว่าลูกดูแลตัวเองได้ เป็นเรื่องที่เราต้องวางใจ และเข้าใจ

"การที่จะไปสร้างจิตใต้สำนึกที่ดีให้แก่ลูก ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ 80-90% มาจากพ่อแม่ ถ้าเราเข้าใจ มีปฎิสัมพันธ์กับเขาอย่างดี เราเชื่อว่าเขาทำได้ ก็จะก่อในตัวของเขาเอง หนังสือเล่มนี้ ช่วยปรับ mindset พ่อแม่ในการมองลูก และทำอย่างไรให้ลูกมีจิตใต้สำนึกแข็งแรง เข้าใจว่าพ่อแม่รักเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข"แม่จุ๊บ กล่าว

โหมดของพ่อแม่ เชื่อว่าทุกคนรักและห่วงลูก แต่บางครั้งการแสดงออกของพ่อแม่ก็จะตรงข้าม อย่าง ลูกทำของตกแตก สิ่งที่พ่อแม่ทำ คือการชี้โทษ ดุเขาว่าทำไมซุ่มซ่าม  ทำให้สกปรก คำเหล่านี้ ล้วนไม่จำเป็นสำหรับลูก

แม่จุ๊บ เล่าต่อว่า ทุกครั้งที่ลูกทำของตกแตก สิ่งที่พ่อแม่คิดถึงลูก คือ เรากลัวว่าจะเป็นอันตราย ดังนั้น เราควรบอกเขาว่า ให้ระวัง และถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า  เราไม่ควรโทษลูก  และพ่อแม่ไม่ควรปากหนักกับลูก รู้สึกอย่างไรกับลูกก็พูดก็ แสดงออก ถ้าเราเป็นห่วง เรารัก เราก็พูดเราก็แสดงออก หากเราโกรธ เราบอกลูกได้ แต่เราต้องไม่ด่าลูก  ยิ่งลูกวัยรุ่น ไม่ควรพูด พ่อแม่ควรจะสังเกต และเชื่อใจลูก ให้อิสระแก่ลูก