สจล. พัฒนา Skill Mapping เมื่อ "ตลาดแรงงาน" เปลี่ยน การศึกษาต้องปรับ
สจล. พัฒนาโซลูชั่น "Skill Mapping" ระบบวิเคราะห์ความต้องการตลาดแรงงาน เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ-เอกชน ออกแบบหลักสูตรมหาวิทยาลัยให้สอดคล้อง อัพเดททักษะที่ต้องใช้ในแต่ละสายงาน ตั้งเป้าเริ่มใช้ภายใน สจล. ปีการศึกษา1/2565 เล็งใช้ทรานสคริปต์แนวใหม่ไม่ได้โชว์แค่ GPA
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 65 ศ. ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวในงานสัมภาษณ์พิเศษกลุ่ม เปิดภาพ สจล. ในยุคใหม่กับบทบาทสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต ณ KMITL City Center ทรู ดิจิทัล พาร์ค โดยระบุว่า ที่ผ่านมา อุดมศึกษามักตกเป็นจำเลย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจบไปไม่มีงานทำ หลักสูตรไม่ตอบโจทย์โลกอนาคต ขณะที่ หลักสูตรในมหาวิทยาลัยเปลี่ยนทุก 5 ปี ซึ่งอาจไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน
การแข่งขันด้าน การศึกษา-แรงงานไทย น่าห่วง
ทั้งนี้ เมื่อกลับมาดูการแข่งขันทั้งด้านการศึกษาและด้านระดับฝีมือแรงงานของไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง อาทิ ตัวชี้วัดศักยภาพการแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์โลกในปีที่ผ่านมา (The Global Talent Competitiveness Index 2021) ประเทศไทยได้เฉลี่ยเพียง 45.46 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ซึ่งผลการจัดอันดับข้างต้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอีกหลายผลการสำรวจ
"หากไม่มีการพัฒนาทักษะของแรงงานอย่างจริงจัง ศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยก็จะค่อยๆ ทิ้งห่างจากประเทศอื่นๆ ในเวทีเศรษฐกิจโลกในที่สุด อันสอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรมถึงอุปสงค์ความต้องการทักษะแรงงานที่เปลี่ยนไปโดยคาดหวังว่าบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน"
นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาการแล้ว ควรมีทักษะการทำงานที่พร้อมใช้ทั้งทักษะทางเทคนิค (Technical Skill) และทักษะทั่วไป (General Skill) ตามอุปสงค์ความต้องการทักษะแรงงานที่ต่างไปในแต่ละอุตสาหกรรม
Skill Mapping อัพเดทความต้องการ ตลาดแรงงาน
ดังนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่เป็นกลไกสำคัญ เป็นที่มาของการพัฒนา “ฐานข้อมูลกรอบทักษะแรงงาน” (Skill Mapping) โดยเอาดาต้าชั้นนำของโลก จากเว็บไซต์ LinkedIn ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคน จาก 200 ประเทศทั่วโลก รวมถึง JobsDB เพื่อให้รู้ว่าปัจจุบัน แต่ละอาชีพในตลาดแรงงานต้องการทักษะแบบไหน
"สจล. เล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างระบบตรงกลางที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างทักษะที่ตลาดแรงงานสมัยใหม่ต้องการเพื่อการออกแบบหลักสูตร สาขาวิชาเรียน กิจกรรมการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษา สจล. ให้สอดคล้องกัน สามารถสร้างบัณฑิตที่มีสมรรถนะการทำงานที่ตรงกับความต้องการที่เฉพาะลงไปแต่ละอุตสาหกรรม"
อย่างไรก็ดี โซลูชั่นดังกล่าวได้ผ่านการเห็นชอบกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้นำไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับตั้งแต่ปีการศึกษา 2565
ทำความรู้จัก Skill Mapping
สำหรับ Skill Mapping คือ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ สจล. พัฒนาขึ้นมาเพื่อรวบรวมและแสดงทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละตำแหน่งงานในปัจจุบันจากฝั่งผู้ประกอบการ (Demand Side) เชื่อมโยงทักษะในหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างผู้เรียนจากฝั่งสถานศึกษา (Supply Side) เพื่อช่วยในการวางแผนทรัพยากรบุคคลของประเทศและการออกแบบแนวทางการเรียนรู้ที่ตอบสนองอุปสงค์ภาคแรงงานได้อย่างแท้จริง
อัพเดทข้อมูลให้ทันสมัย รู้เท่าทันตลาดแรงงาน
รศ. ดร.ปานวิทย์ ธุวะนุติ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาการเรียนการสอน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นักวิจัยผู้พัฒนาโซลูชั่นระบบ Skill Mapping เผยว่า จุดเด่นของโซลูชั่นดังกล่าว คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรม หน่วยงานรับรองคุณวุฒิ หน่วยงานของรัฐ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะแรงงานที่ผู้ประกอบการคาดหวังในการจ้างงานได้
โดยระบบจะปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยตลอดเวลาโดยใช้วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ประมวลผลข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บทั้งจากผู้ใช้งานโดยตรง รวมถึงแหล่งข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพสายงานต่างๆ ร่วมกับฐานข้อมูลภายนอกอื่นๆ อาทิ ข้อมูลจากเว็บไซต์สมัครงานที่เป็นที่นิยมอย่าง ลิงก์อิน (LinkedIn) จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) นำมารวบรวมและกลั่นกรองก่อนประมวลผลออกมาเป็นฐานข้อมูลกรอบทักษะที่แต่ละสายอาชีพต้องการอย่างแท้จริง
ทั้งด้านเทคนิคและทักษะทั่วไปเพื่อให้สถานศึกษาต่างๆ ได้นำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการออกแบบหลักสูตร นอกจากนี้ โซลูชั่นดังกล่าวยังเปิดให้ นักศึกษา ประชาชน ได้เข้าถึงฐานข้อมูลที่แสดงบน Skill Mapping มาเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะของตนให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสายอาชีพได้เช่นกัน
เล็งใช้ ใบทรานสคริปต์แนวใหม่ ที่ไม่ได้โชว์แค่ GPA
แรกเริ่มนั้น สจล. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม กองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำแพลตฟอร์ม Skill Mapping มาใช้กับ สจล. ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป รวมถึง เล็งประกาศใช้ ใบทรานสคริปต์แนวใหม่ ที่ไม่ได้โชว์แค่ GPA แต่ระบุถึงศักยภาพของบัณฑิตทั้ง Soft Skill และ Hard Skill ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
รศ. ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. มุ่งมั่นในการพลิกบทบาทสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต ตั้งเป้าเป็นสถาบันการศึกษาที่ริเริ่มนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาการศึกษาทั้งในระบบการศึกษาหลักและการศึกษาทางเลือก ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบัณฑิตยุคใหม่ รวมถึงแรงงานและผู้ประกอบการไทยให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปด้วยนวัตกรรม
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิสรัปชัน (Technology Disruption) คือความท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรมมีการนำนวัตกรรมระดับสูงมาใช้ มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ๆ ที่สามารถปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ สจล.ในฐานะสถาบันการศึกษาที่เป็นผู้นำในการวางรากฐานนวัตกรรม ทั้งการสร้างงานวิจัย รวมทั้งบุคลากรให้สามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Disruptor)
"การพัฒนา “ฐานข้อมูลกรอบทักษะแรงงาน” (Skill Mapping) โซลูชั่นระบบรวบรวมทักษะแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบหรือพัฒนาหลักสูตรของ สจล. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ โซลูชั่นดังกล่าว เปรียบเสมือนแผนที่นำทาง ที่เปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และภาคแรงงาน ได้ร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกัน" รักษาการอธิการบดี สจล. กล่าว
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://skill.kmitl.ac.th/