โควิดติดซ้ำได้ ความรุนแรงมากแค่ไหน? พร้อมวิธีป้องกันต้องทำอย่างไร?

โควิดติดซ้ำได้ ความรุนแรงมากแค่ไหน? พร้อมวิธีป้องกันต้องทำอย่างไร?

สำหรับใครที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะเชื้อโควิดนี้มีโอกาส "ติดซ้ำ" ได้หลายรอบ โดยมีสาเหตุและปัจจัยคือ...

เข้าสู่ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์แบบเต็มรูปแบบ ส่วนที่น่ากังวลนอกเหนือจากอุบัติเหตุจราจรคือการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 โดยสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ ประเทศไทยมีผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น แม้จะยังน้อยกว่าปี 2564 แต่การมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้

สำหรับใครที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะเชื้อโควิดนี้มีโอกาสติดซ้ำได้หลายรอบ

  • ติดเชื้อซ้ำ เพราะอะไร?

การติดเชื้อโควิดซ้ำ คือการที่ผู้ป่วยที่เคยติดโควิดไปแล้วเข้าสู่ภาวะการติดเชื้อซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง โดยสายพันธุ์โอมิครอนพบการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าเดลต้า 3-6 เท่า โดยสาเหตุส่วนใหญ่คือ

1. มักเกิดในช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับไม่ครบ รับวัคซีนสุดท้ายนานกว่า 6 เดือน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

2. เชื้อที่มีการระบาดในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากเชื้อเดิม

3. ผู้คนลดมาตรการป้องกันตัวเอง และมีพฤติกรรมเสี่ยง

โควิดติดซ้ำได้ ความรุนแรงมากแค่ไหน? พร้อมวิธีป้องกันต้องทำอย่างไร?

  • ความรุนแรงจากการติดเชื้อซ้ำมากแค่ไหน? 

วันที่ 29 มีนาคม 2565 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ "หมอยง" หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึง โควิด-19 กับการติดเชื้อซ้ำ หมอยง ระบุว่า การติดเชื้อซ้ำของ โควิด-19 พบได้เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โรคหวัด RSV ไข้หวัดใหญ่

การระบาดในอิตาลี ระลอกแรก ในปี 2020 มีการติดตามผู้ที่ติดเชื้อแล้ว 1,579 คน เวลาเฉลี่ย 280 วัน พบติดเชื้อซ้ำ 5 ราย ซึ่งในช่วงนั้นก็ไม่ได้มีการระบาดมากเท่าสายพันธุ์ไอมิครอน เมื่อเชื้อโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์มาตลอด และติดง่ายขึ้น โอกาสติดเชื้อซ้ำจึงมากขึ้นอีก

การติดเชื้อโควิด-19 จะทำให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นระดับหนึ่ง และเมื่อภูมิต้านทานลดลงก็จะติดเชื้อซ้ำ การติดเชื้อครั้งซ้ำหรือครั้งที่ 2 อาการจะลดลงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก 

หมอยง เผยต่อว่ายกตัวอย่างเช่นเดียวกับ RSV ที่เป็นครั้งแรก อาการจะมากที่สุด และครั้งต่อๆไปอาการจะลดลง เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้นการติดเชื้อจะเป็นแบบไม่มีอาการ

เช่นเดียวกันการฉีดวัคซีนทำให้มีภูมิต้านทานส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะต่อหนามแหลมหรือสไปรท์ และเมื่อภูมิต้านทานลดลงก็มีโอกาสติดเชื้อได้อีก จึงต้องมีการกระตุ้นเข็มที่ 3 เมื่อมีภูมิต้านทานขึ้นแล้วถึงแม้จะติดเชื้ออาการก็จะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยมีภูมิต้านทานมาก่อน หรือไม่เคยฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไม่ครบ

  • กลับบ้านสงกรานต์แบบปลอดเชื้อ

กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยแล้วจะอาการหนัก 3 กลุ่ม คือ

1.ผู้สูงวัยที่ไม่ค่อยออกนอกบ้านหรือกลุ่มติดเตียง ส่วนใหญ่รับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน ผู้ที่มาเยี่ยม

2.กลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการไปสังสรรค์กับเพื่อน/คนรู้จัก การรวมกลุ่มทำกิจกรรม หรือไปสถานที่แออัด เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น

3.เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จึงต้องย้ำกลุ่มเด็ก วัยเรียนและวัยทำงานให้ระมัดระวังเพราะเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อสูงและอาจนำไปแพร่ให้กับ 3 กลุ่มเสี่ยงนี้ได้

ส่วนสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดวงกว้าง คือ

1.การดื่มสุรา รับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้สวมหน้ากาก โดยเฉพาะในสถานที่ปิด ระบายอากาศไม่ดี หรือรับประทานอาหารร่วมกันในบ้าน

2.การร่วมงานหรือกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด มาตรการควบคุมโรครัดกุมไม่เพียงพอ

3.ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด

 

สำหรับมาตรการป้องกันโควิดในช่วงสงกรานต์ แบ่งเป็น 4 ช่วง คือ

1.ก่อนร่วมงาน/ก่อนเดินทาง ขอให้ฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยหนัก ผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนไปร่วมงาน สวมหน้ากากอนามัยและสังเกตว่าสถานที่ที่ไปมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดี เช่น เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนล่วงหน้า หรือตรวจ ATK ก่อนเข้างาน เป็นต้น

2.ระหว่างเข้าร่วมงานสงกรานต์ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักมีมาตรการควบคุมโรค ที่ห้ามตอนนี้คือประแป้ง ปาร์ตี้โฟม เพราะทำให้ใกล้ชิดมากเกินไป ขอให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะมีความเสี่ยงสูง

3.กิจกรรมในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้สวมหน้ากากมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างรับประทานอาหารเว้นระยะห่างให้มากขึ้น ใช้เวลาให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยง

4.หลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเองช่วง 5-7 วันแรกก่อนกลับไปทำงาน งดพบปะผู้คนจำนวนมาก และตรวจ ATK สถานประกอบการควรพิจารณาให้พนักงาน  Work From Home 5-7 วันก่อนกลับเข้าไปทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด