"สถาบันครอบครัว" พื้นที่แห่งการเรียนรู้
14 เม.ย. "วันครอบครัว" สถาบันหลักที่มีความสำคัญต่อชีวิต การเรียนรู้ มุมมอง ทัศนคติ ที่มีบทบาทหล่อหลอมสร้างความแข็งแกร่งให้คนได้เผชิญหน้ากับสังคมทุกยุคสมัย
วันที่ 14 เม.ย. ทุกปี นอกจากจะอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของไทยแล้ว ยังเป็น "วันครอบครัว" ที่มักถือเอาวันนี้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ครอบครัวไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากหลายตัวแปรสำคัญ
"เทคโนโลยี" ก็เป็นหนึ่งในนั้น เป็นเสมือนตัวเชื่อมระยะห่างให้คนในครอบครัว เข้ามาอยู่ใกล้กันมากขึ้น การวีดิโอคอล หรือส่งข้อความหาครอบครัวผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เมื่อไม่สามารถเดินทางไปพบเจอกันได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในยุคนี้ ยิ่งยุค "โควิด-19" การรักษาระยะห่างระหว่างกันก็ยังจำเป็น
อาจพูดได้ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่เติมเต็มความห่างไกลภายในครอบครัวได้มากจริงๆ แน่นอนว่ายุคที่โลกไร้ซึ่งพรมแดน การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนในอดีต ย่อมส่งผลให้โครงสร้างของครอบครัวไทยเปลี่ยนไปจากเดิม รวมไปถึงทัศนคติ ค่านิยมของคนที่มาจากครอบครัวเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอไป
โครงสร้างครอบครัวไทยก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่อยู่กันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือครอบครัวที่สมาชิกบางคนอาจขอออกไปอยู่คนเดียว ด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคม การต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ เหลือแต่ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง ฯลฯ ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ พ่อแม่ลูกอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ก็อาจจะมีแนวโน้มที่ลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม "สถาบันครอบครัว" ยังถือเป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างทางสังคม ทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมทางบุคลิกภาพ และคุณลักษณะให้สมาชิกครอบครัว ให้ความรู้อบรมสั่งสอน หรือขัดเกลาสมาชิกครอบครัว ตลอดทั้งการถ่ายทอดค่านิยม ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตให้กับสมาชิกครอบครัว เพื่อให้ได้เรียนรู้ถึงระเบียบกฎเกณฑ์
รวมถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองต่อสังคม การทำหน้าที่ของสถาบันครอบครัว จำเป็นต้องอาศัย "การสื่อสาร" ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อความหมาย แสดงออก การสร้างความสัมพันธ์ การมีปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว
แต่เพราะด้วยการสื่อสารที่ล้ำสมัย คุยกันได้ทุกที่ ทุกเวลา คุยกันผ่านหน้าจอ ผ่านโลกออนไลน์ ทำให้บางครั้งเราเผลอลืมความสัมพันธ์ในแบบโลกออฟไลน์ เจอหน้าเจอตัว สัมผัส มองตา ซึ่งเราเชื่อว่ายังเป็นสิ่งที่สำคัญ
แม้ช่วงนี้โรคระบาดอาจทำให้การปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวต้องรักษาระยะห่าง การพูดคุยบนโต๊ะอาหาร ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว ในห้องนั่งเล่น หรือบนระเบียงบ้านลดน้อยลงไป
หากสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรลืมคือ ต้องทำให้สถาบันครอบครัวกลายเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ เป็นขุมพลังใจและพลังกาย เป็นสถาบันที่มีบทบาทหล่อหลอมสร้างความแข็งแกร่งให้คนได้เผชิญหน้ากับสังคม และการดำเนินชีวิตในยุคที่โลกไม่เหมือนเดิม