"สูงวัย"อย่างไรให้แฮปปี้ 5 กายต้องระวัง-10สิ่งต้องใส่ใจ
วัยที่มากขึ้น ความสุขก็มากขึ้นได้ เพียงเตรียมตัวเองให้พร้อม ลูกหลานมีความเข้าใจ และรัฐมีสิ่งที่สนับสนุน จะสอดประสานให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้ทั้งกายและใจ แม้ว่าสภาพร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนเดิม จนอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของร่างกาย หรือมีโรคประจำตัว
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงของด้านร่างกายและจิตใจเมื่ออายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โดยในส่วนของร่างกาย คือ การมองเห็นแย่ลง ได้ยินไม่ชัด ไม่ค่อยมีแรงส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกล้ามเนื้อ ผิวหนังเหี่ยวย่น กระดูกที่สำคัญคือกระดูกพรุน หัวใจ เหนื่อยง่าย ระบบหายใจ เช่น หอบหืด ทางเดินอาหารเป็นผลมาตั้งแต่การที่ผู้สูงอายุไม่มีฟัน เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ทำให้ท้องผูก ย่อยยาก ไม่ดูดซึม ขาดสารอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต เบ่งปัสสาวะ กั้นไม่อยู่ ภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อง่าย และระบบประสาท จำไม่ได้ คิดช้า หลงลืม ภาวะอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม
จากปัญหาทางกายที่มีการเปลี่ยนแปลงในผู้สูงอายุดังกล่าว ลูกหลาน ญาติ หรือผู้ดูแล จะต้องใส่ใจดูแลเรื่องอาหาร หากฟันผุต้องพาไปพบทันตแพทย์ ในการพิจารณาทำฟันเทียม ดังนั้น อาหารจะต้องสะอาด ถุกสุขอนามัย นิ่มๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย ครบ 5 หมู่ ที่สำคัฐจะต้องฝึกเคี้ยวอาหารช้าๆ ละเอียด ระวังเรื่องการสำลักเพราะอาจจะทำให้หยุดหายใจได้ รวมถึง ออกกำลังกาย ด้วยการเดินเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรกง ทำให้กระดูกไม่เปราะบาง รวมถึงความเครียดกับวิตกกังวล การป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายเรื่องพลัด ตก หก ล้ม ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บ้านและหกล้มที่บ้าน เช่น ในห้องน้ำ ห้องครัว และบันได เป็นต้น ส่วนใหญ่ลูกหลานตอนตกไปแล้ว”นพ.อัครฐานกล่าว
“ปัจจุบันผู้สูงอายุไทยที่มีประมาณ 12.9 ล้านคนนั้น ในส่วนของสุขภาพทางกายภาพรวมมีเป้าหมาย 5 โรคที่หากคัดกรองแล้วมีความเสี่ยง จะนำเข้าสู่ “คลินิกผู้สูงอายุ” ซึ่งจัดตั้งอยู่ในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) คือ 1.หลอดเลือดสมอง 2.หลอดเลือดหัวใจ 3.ช่องปาก 4.ข้อเข้าเสื่อม และ5.การมองเห็น เพื่อนำสู่การแก้ไขได้ทันที โดยหากมีการตรวจพบจะส่งต่อไปยังคลินิกเฉพาะทางโดยตรง”นพ.อัครฐานกล่าว
สำหรับสุขภาพทางใจ ผู้สูงอายุจะรู้สึกสูญเสียพลัดพราก เศร้ากังวลมักคิดว่าแก่แล้วอีกไม่นานก็ตาย ไม่มั่นคงในชีวิตเพราะไม่มีรายได้หากลูกหลานกตัญญูจุลเจือเรื่องรายได้ให้ผู้สูงอายุก็จะรู้สึกดีขึ้น รวมถึง รู้สึกเป็นภาระเมื่อลูกทำงานไม่มีเวลาให้ก็เหมือนโดนทอดทิ้ง ทำให้น้อยใจ ว้าเหว่ นอกจากนี้ ชอบพูดเรื่องในอดีต คิดซ้ำๆ และบางคนชอบเก็บตัว ปลีกวิเวก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ผู้สูงอายุส่งดอกไม้สวัสดีตามวันทางไลน์ ซึ่งหากยังส่งอยู่ก็ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าไม่ส่งเพื่อนก็จะตามหา ทั้งนี้ หากมีปัญหาสุขภาพใจมากลูกหลานจะต้องไปพบแพทย์ โดยผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในรพ. มากที่สุด คือ 1.อารมณ์แปรปรวน 2.เครียดวิตกกังวลซึ่งเจอค่อนข้างมาก 3.จิตเภทแต่เจอไม่มาก 4.สมองเสื่อม หลงลืม และ5.กลุ่มอาการต่างที่จะต้องตรวจต่อ เช่น สมอง หัวใจ
“ในเรื่องของการพัฒนาสมองนั้น ผู้สูงอายุที่แข็งแรงดี สมองดี แนะนำไปพัฒนาเรื่องของสมอง ด้วยการมีกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นไพ่ จึงฝากบอกรัฐบาลว่าถ้าเล่น 500-1,000 บาทถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ส่วนหากเริ่มเป็นสมองเสื่อมเบื้องต้น ก็จะมีโปรแกรมเบื้องต้น มีเกมให้เล่น เช่น เกมต่อรูป เกมภาพเหมือน ไม่เหมือน และมีแอปพลิเคชั่น สูงวัย 5 G แต่ถ้าเป็นโรคแล้วก็เข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งลูกหลาน ญาติหรือผู้ดูแลต้องคอยสังเกตผู้สูงอายุ คือ ทานอาหารได้หรือไม่ ง่วงหาวนอน ซึมผิดปกติหรือไม่ อารมณ์เป็นอย่างไรมีแปรปรวนหรือไม่ พฤติกรรมเป็นอย่างไร พูดมากพูดน้อย และมีอาการเจ็บป่วยทางกายหรือไม่ ”นพ.อัครฐานกล่าว
บทสรุปเรื่องจิตผู้สูงอายุ ช่วยกันดูแลได้ โดย 1.ให้ความรักความอบอุ่น 2.ให้เกียรติ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่อยากฟังเวลาผู้สูงอายุพูด บางที่แสดงความรำคาญ 3.พยายามทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ควบคุมอารมณ์ ยอมรับสภาพความเป็นจริง 4.ให้รู้สึกมีคุณค่า บางครั้งต้องยอบ้างแม้ไม่ได้ทำถูกมาก 100 % แต่ก็ทำแบบมีขอบเขต มิเช่นนั้นจะออกนอกกรอบไปมาก 5.ช่วยฝึกระบบความคิด ฝึกการวางแผน เช่น ทำสิ่งนี้ก่อนแล้วค่อยไปทำสิ่งนั้น 6.ช่วยให้เข้าสังคม เพราะหากได้เจอเพื่อน ได้คุยกันได้นึกถึงความหลังครั้งอดีต มีการโต้ตอบ จะรู้สึกป่อนคลาย 7.หากิจกรรมที่ทำให้มีความสุข เช่น บางคนไปเล่นกีฬา บางคนไปรำวง ดนตรี วาดรูป 8.ฝึกสมอง เล่นไพ่ เล่นเกม แอปพลิเคชั่น เป็นต้น 9.ให้เป็นที่ปรึกษา และ10.ส่งเสริมให้ออกกำลังกายวันละ 15-30 นาทีส่วนใหญ่จะให้เดิน โยคะ เป็นต้น
หากในครอบครัวมีการอยู่ร่วมกันของคนต่างช่วงวัยกับผู้สูงอายุ นพ.อัครฐาน บอกว่า แต่ละเจเนอเรชั่นบุคลิกจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาคุยกับผู้สูงอายุจะโต้ตอบ 2 แบบ คือ ถ้าเป็นเจน X เกิดช่วงปี2507-2522 และเจน Y เกิดช่วง2522-2540 จะรำคาญ และ เจน Z เกิดหลังปี 2540 จะไม่คุยด้วยเลย จึงอาจจะต้องเจอกันตรงกลาง โดยเคล็ดลับในการสื่อสารกับผู้สูงอายุโดยทั่วไป คือ 1.ใจเย็น เพราะผู้สูงอายุต้องใช้เวลาในการเรียบเรียงคำพูด 2.พูดช้าๆชัดๆ ทีละคำ
3.ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะหูตึง การได้ยินลดลง จึงต้องเสียงดังขึ้น 4.ใช้คำง่ายๆ ศัพท์วัยรุ่นใช้ไม่ได้กับผู้สูงอายุ ต้องสื่อเป็นประโยค มีประธาน กริยา กรรม และ5.คุยเรื่องที่ท่านสนใจ เช่น เรื่องในอดีต สอนประสบการณ์ที่เคยมี เป็นต้น
“บางครั้งผู้ที่มีอายุน้อยกว่าอาจต้องเป็นผู้เริ่มบทสนทนาก่อน เพราะบางทีผู้สูงอายุโดนดุว่าพูดมาก พูดแต่เรื่องเดิม เรื่องในอดีต ทำให้ท่านจ๋อง เงียบ ไม่กล้าพูด หมดความมั่นใจ จึงต้องทำให้ท่านรู้สึกปลอดภัยในการที่จะพูด”นพ.อัครฐานกล่าว