จาก "Admission" สู่ "TCAS" ย้อนดูวิวัฒนาการ "สอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย"

จาก "Admission" สู่ "TCAS" ย้อนดูวิวัฒนาการ "สอบเข้ามหาวิทยาลัยไทย"

ชวนย้อนดูวิวัฒนาการ 2 ทศวรรษหลังสุดของการ "สอบเข้ามหาวิทยาลัย" ว่าต้องเจอกับการสอบรูปแบบไหนบ้าง ก่อนเข้าสู่ยุค TCAS 2.0 ในปีการศึกษา 2566

สิ้นสุดการรอคอยของเหล่า Dek65 หลังจากวานนี้ (18 เม.ย.) ทปอ. ได้ประกาศผลสอบ GAT/PAT ซึ่งคะแนนที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2565 

ปัจจุบัน นักเรียนไทยเข้าสู่การศึกษาชั้นอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS โดยระบบนี้จะทำหน้าที่คัดเลือกนักศึกษาให้กับคณะของมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ระบบดังกล่าวถูกใช้ครั้งแรกในปี 2561 หลังจากใช้ระบบ Admission มาก่อน

นอกจากนั้น สำหรับ Dek66 หรือบุคคลที่จะเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2566 ก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนเกณฑ์ครั้งสำคัญ ที่ต่างออกไปจากรุ่น Dek65 หรืออาจจะบอกได้ว่า เด็กที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้กำลังเข้าสู่ยุค TCAS 2.0 เป็นปีแรก จึงเท่ากับว่าระบบที่ TCAS ดั้งเดิม หรือ TCAS 1.0 นั้นมีอายุเพียง 5 ปีเท่านั้น 

จากข้างต้น จึงอยากชวนย้อนดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ เส้นทางการเข้าสู่มหาวิทยาลัยในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นักเรียนไทยในแต่ละยุคต้องเจอกับการสอบรูปแบบไหนบ้าง

  •   ย้อนดูวิวัฒนาการ “สอบเข้ามหาวิทยาลัย”  

ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะมีการใช้ระบบ TCAS ประเทศไทยเคยใช้ระบบการคัดเลือกที่เรียกว่า Admission ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.0 และ 2.0

ฉะนั้น วิวัฒนาการในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษหลังสุด นักเรียนไทยจึงต้องเผชิญกับระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยทั้งหมด 4 รูปแบบ ดังนี้ 

รูปแบบที่ 1 : Admission 1.0  ปีการศึกษา 2549 - 2552

รูปแบบนี้ คือ ระบบ Admission แบบแรกที่ถูกนำมาใช้แทนระบบ Entrance ซึ่งเป็นระบบสอบแบบดั้งเดิมที่ใช้มานานหลายสิบปี โดยระบบนี้จะยังคงใช้เกรดเฉลี่ยสะสม หรือ GPAX เช่นเดิม แต่จะเพิ่มการสอบวิชา O-NET และ A-NET  มาเป็นเกณฑ์การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วย โดยจะมีการจัดสอบทั้งสองวิชาเพียงปีละครั้ง แต่สามารถเก็บคะแนนไว้ยื่นในปีอื่นได้ด้วย 

นอกจากนั้น ยังสามารถสอบวิชา A-NET ได้อีกครั้งในปีถัดไป ทำให้การสอบวิชานี้ทำได้หลายครั้ง โดยคะแนนจะมีอายุ 2 ปี จึงทำให้นักเรียนไทยในยุคนั้น หากพลาดจากคณะและมหาวิทยาลัยที่หวังในปีแรก ก็สามารถสอบใหม่แล้วใช้คะแนนที่ดีที่สุดยื่นได้ในปีถัดไป

รูปแบบที่ 2 : Admission 2.0  ปีการศึกษา 2553 - 2560 

หลังจากที่ได้ใช้ระบบ Admission แบบแรกมาได้เพียง 4 ปีเท่านั้น ก็ได้มีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากการสอบวิชา A-NET เป็น GAT/PAT แต่ยังคงเก็บคะแนนไว้ได้ 2 ปี และยังคงใช้คะแนนจาก GPAX และ O-NET เช่นเดิม

แม้ว่าระบบดังกล่าวนี้จะถูกใช้นานถึง 8 ปี แต่ระหว่างทางก็มีการเปลี่ยนแปลงยิบย่อยตามมาตลอด เพียงแค่เกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกจากส่วนกลางยังไม่ต่างจากเดิม โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ดังนี้ 

ปี 2554 มีการปรับลดจำนวนครั้งของจัดสอบ GAT/PAT จาก 3 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้ง

ปี 2555 เป็นปีแรกที่ได้มีการเพิ่มการสอบ 7 วิชาสามัญ เนื่องจากทางกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ กสพท. ได้ให้ความเห็นว่าการสอบ GAT/PAT ไม่ได้ตอบโจทย์การคัดเลือกนักศึกษาจริงๆ และยังเป็นปีแรกที่มีการใช้ระบบเคลียร์ริ่งเฮ้าส์เข้ามาอีกด้วย 

ปี 2558 มีการปรับการสอบ O-NET จาก 8 วิชา เหลือเพียง 5 วิชาหลัก คือ ไทย สังคม อังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยวิชาที่ตัดออกคือ สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ ดนตรี 

ปี 2559 มีการปรับการสอบ 7 วิชาสามัญ ให้เป็น 9 วิชาสามัญ โดยเพิ่มวิชา คณิตศาสตร์ 2 (พื้นฐาน) และวิทยาศาสตร์ทั่วไป 

นอกจากนั้น กฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่แตกต่างจาก Admission 1.0 เท่าใดนัก 

รูปแบบที่ 3 : TCAS 1.0 ปีการศึกษา 2561 - 2565

หลังจากใช้ระบบ Admission 2.0 มาได้สักพัก ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น นั่นคือ การเปลี่ยนไปใช้ระบบ TCAS ในการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย โดยระบบนี้เกิดขึ้นจากความพยายามจะทำให้ระบบรับตรงและโควตาต่างๆ ผ่านส่วนกลางมากขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น 

การรับเข้าด้วยระบบ TCAS จะแบ่งการคัดเลือกออกเป็น 5 รอบ คือ รอบ 1 พอร์ตโฟลิโอ รอบ 2 โควตา รอบ 3 รับตรง (ผ่านส่วนกลาง) และรอบ 4 Admission (แบบเดิม) และรอบ 5 รับตรงอิสระ โดยคะแนนที่ใช้ก็จะไม่ต่างจากเดิมมากนัก เพียงแค่เพิ่มการใช้คะแนนวิชาสามัญเข้ามาคิดในการรับตรงผ่านส่วนกลาง 

การสอบ GAT/PAT และวิชาสามัญของระบบนี้ สามารถสอบได้เพียงครั้งเดียว แต่สามารถยื่นได้หลายรอบ และสามารถเก็บ GAT/PAT คะแนนไว้ได้ 2 ปีเช่นเดิม ส่วนคะแนนสามัญนั้นเก็บไว้ได้เพียง 1 ปีเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ยิบย่อยอีกเช่นกัน โดยในการรับเข้าปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงจากรับ 5 รอบ เหลือเพียง 4 รอบ โดยเอารอบ 3 และ 4 เข้ามาไว้รวมกัน แต่ยังคงใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันเช่นเดิม เสมือนเป็นการให้สิทธิ์ยื่นคะแนน 2 ครั้ง ใน 1 รอบ

  •   การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของ TCAS  

แม้ว่าระบบ TCAS ที่ใช้อยู่นี้จะมีอายุเพียงแค่ 5 ปีก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ได้มีการปรับเกณฑ์ครั้งสำคัญอีกครั้ง กลายเป็น TCAS 2.0 โดยจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2566

วัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดขึ้นเพื่อลดความซ้ำซ้อนของรายวิชา ต้องการให้มีการใช้ความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ ซึ่งข้อสอบจะเป็นเนื้อหาที่ไม่เกินขอบเขตของหลักสูตรในห้องเรียนมากนัก 

TCAS66 จะมีการเปลี่ยนจากการสอบ GAT/PAT เป็น TGAT/TPAT โดย TGAT มีเนื้อหาประกอบไปด้วย การสื่อสารภาษาอังกฤษ การคิดอย่างมีเหตุผล และสมรรถนะการทำงานในอนาคต เต็ม 300 คะแนน

ส่วน TPAT จะมีความคล้าย PAT แต่จะตัดให้เหลือเพียงวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ (PAT4) ครุศาสตร์ (PAT5) ศิลปกรรมศาสตร์ (PAT6) และเพิ่มวิชา กสพท และ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เข้ามา โดยแต่ละวิชาเต็ม 100 คะแนน 

ด้าน 9 วิชาสามัญก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบเช่นกัน หรือที่เรียกว่า A-Level โดยความจริงส่วนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไม่เยอะมาก เพียงแค่ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักสูตรในห้องเรียน เพิ่มวิชาภาษาต่างประเทศอื่นๆ หรือ PAT7 เดิมเข้ามา และมีการรวบวิชาคณิตศาสตร์ 1 และ 2 เข้ามาอยู่รวมกัน แต่สามารถเลือกทำแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งได้ 

นอกจากเปลี่ยนแปลงวิชาที่สอบแล้ว เกณฑ์รับเข้ายังคงเหมือนระบบก่อนหน้าที่ได้มีการอัปเดตไปในปี 2564 แล้ว แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า ระบบดังกล่าวนี้จะถูกใช้ต่อไปอีกนานเท่าใด

ด้วยเหตุนี้ บุคคลที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย จึงต้องติดตามและทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ของระบบคัดเลือกอยู่เสมอ มิฉะนั้นอาจจะพลาดจากคณะและมหาวิทยาลัยที่ตั้งใจไว้

-------------------------------------------

อ้างอิง

ทรูปลูกปัญญา

สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 

The Zero Publishing