“หมา-แมว” เลี้ยงระบบปิดก็มีสิทธิติด “โรคพิษสุนัขบ้า”
"โรคพิษสุนัขบ้า" กลับมาระบาดอีกครั้ง แม้ว่าจะเลี้ยง "หมา" "แมว" ในระบบปิด ก็ยังสามารถติดโรคนี้ได้ ชวนรู้สาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงที่บ้านติดเชื้อ แม้ไม่ได้ปล่อยน้องออกนอกบ้าน
"โรคพิษสุนัขบ้า" กลับมาระบาดในหลายพื้นที่อีกครั้ง ถึงแม้ว่าคนไทยจะรู้จักกับโรคนี้มานานแล้ว แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ โดยส่วนใหญ่จะละเลยการฉีดวัคซีนให้แก่ "หมา" "แมว" ที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน หรือเมื่อโดนกัด-โดนข่วนจากสัตว์เลี้ยง แล้วไม่ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย รวมถึงเข้าใจว่าเลี้ยงสุนัขหรือแมวระบบปิดแล้วสัตว์เลี้ยงจะไม่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "โรคพิษสุนัขบ้า" ที่หลายคนยังเข้าใจผิด พร้อมทำความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องใหม่อีกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายจากโรคนี้ได้ดีขึ้น
- สถานการณ์ "โรคพิษสุนัขบ้า" ในไทย
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต เพราะเชื้อโรคจะเข้าสู่สมองของผู้ป่วย ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในไทย ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบผู้เสียชีวิต 11, 18 และ 3 ราย ตามลำดับ และปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 20 พ.ย. 63 พบผู้เสียชีวิต 3 ราย จาก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว หนองคาย และศรีสะเกษ ซึ่งผู้เสียชีวิตทุกราย มีประวัติถูกสุนัขที่ตนเลี้ยงไว้กัดหรือข่วน โดยไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการฉีดวัคซีน
- "โรคพิษสุนัขบ้า" ไม่ได้ติดเฉพาะสุนัข
ชื่อของโรคพิษสุนัขบ้าอาจทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าโรคนี้เกิดกับสุนัขเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วโรคนี้เกิดกับสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่นๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น แมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู ค้างคาว วัว ควาย ม้า สุกร (ที่มีประวัติเคยถูกสุนัขบ้ากัดมาก่อน) รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ อีกทั้งยังพบว่าสุนัขเป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญมากที่สุด กว่า 95% ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากสุนัข รองมาคือ แมว
- เลี้ยงสัตว์ระบบปิดก็มีสิทธิติดพิษสุนัขบ้า
สำหรับใครที่เลี้ยงสัตว์เลือดอุ่นเป็นสัตว์เลี้ยงในระบบปิดคือ การเลี้ยงไว้ในบ้าน ไม่ปล่อยออกนอกบ้าน มักจะชะล่าใจว่าคงไม่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และละเลยการฉีดวัคซีนป้องกัน ใครที่ทำแบบนี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนใหม่ เพราะว่ามีสัตว์เลี้ยงจำนวนไม่น้อยที่ติดโรคพิษสุนัขบ้าแม้เลี้ยงในระบบปิด
โดยสาเหตุการติดเชื้ออาจเกิดจากมีหนูหลุดรอดเข้ามาในบ้าน หรือมีสัตว์อื่นๆ เข้ามาในบ้าน ทำให้สัตว์เลี้ยงรับเชื้อผ่านสัตว์เหล่านั้นมาอีกทีก็เป็นได้ โดยวิธีที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนในสุนัขหรือแมวจะป้องกันการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้ 100%
- ฉีดวัคซีนหมาแมว 1 ครั้ง ไม่ได้ป้องกันตลอดไป
หากใครคิดว่าหมาหรือแมวที่ได้รับวัคซีน 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ขอบอกว่าคิดผิด! เพราะว่าการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่ถูก คือ ต้องได้รับวัคซีน 2 เข็มในปีแรก และจากนั้นต้องฉีดอีกปีละ 1 เข็ม เป็นประจำทุกปี
โดยเฉพาะในพื้นที่ประเทศไทยที่ชุกชุมด้วยโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข จึงมีโอกาสที่สัตว์เลี้ยงในบ้านจะได้รับเชื้อโรคชนิดนี้ค่อนข้างมีสูง
- แค่รอยข่วน ไม่โดนกัดก็ติดเชื้อได้
แม้ไม่โดนกัด แต่หากโดนสัตว์ข่วนด้วยเล็บ ก็ทำให้ติดโรคพิษสุนัขบ้าและตายได้ เนื่องจากหมาหรือแมวมักจะมีพฤติกรรมเลียอุ้งเท้าและเล็บของมัน จึงอาจมีไวรัสจากน้ำลายติดค้างอยู่ที่เล็บ และแพร่เชื้อได้หากแผลที่โดนข่วนมีเลือดออกแม้เพียงเล็กน้อย
หากโดนข่วนอย่าปล่อยทิ้งไว้ ต้องรีบล้างแผลด้วยน้ำกับสบู่ เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพบแพทย์ทันที เพื่อล้างแผลอีกครั้ง และฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาไอโอดีน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนมักจะปรากฏหลังจากเชื้อมีการฟักตัวแล้วเดินทางถึงสมอง แต่ระยะฟักตัวของเชื้อนั้นไม่แน่ชัด แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี พบได้ตั้งแต่ 4 วัน จนถึง 4 ปี หลังจากที่ถูกกัด โดยผู้ป่วยประมาณ 70% มีอาการภายใน 3 เดือน และผู้ป่วยประมาณ 96% มีอาการภายใน 1 ปี
การฟักตัวของเชื้อโรคจะช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกัดด้วย หากถูกกัดที่บริเวณใกล้กับสมอง เช่น ใบหน้า หรือบริเวณที่ปลายประสาทรวมกันมากๆ เช่น มือ ระยะฟักตัวของเชื้อและการแสดงอาการของโรคก็จะสั้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด ชนิดสัตว์ที่กัด ปริมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับรักษาเบื้องต้นหลังถูกกัดด้วย
-------------------------------------
อ้างอิง : สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า , hfocus.org
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ