เช็ค อาการต้องสังเกต "ฝีดาษวานร" และกลุ่มที่อาจจะต้องฉีดวัคซีน

เช็ค อาการต้องสังเกต "ฝีดาษวานร" และกลุ่มที่อาจจะต้องฉีดวัคซีน

คร. เผยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงฝีดาษวานร รายแรกในไทย  8 ราย ผลไม่พบเชื้อแล้ว 6 ราย กักตัว/ติดตามอาการ 21 วัน ระบุ เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ความรุนแรงน้อยกว่า ยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนฝีดาษวงกว้าง เว้นกลุ่มเฉพาะ ย้ำโอกาสระบาดวงกว้างไม่เท่าโควิด-19

เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ว่า  จังหวัดภูเก็ตได้รับรายงานจาก รพ.แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบชายต่างชาติชาวไนจีเรียอายุ 27 ปี มีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร  มีตุ่มขึ้นใบหน้า ลำตัว แขนขา อวัยวะเพศ มีการส่งสิ่งส่งตรวจต่างๆ ไปยังห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)รพ.จุฬาลงกรณ์ พบเชื้อฝีดาษวานร  แต่ตามขั้นตอนเนื่องจากเป็นรายแรกจึงต้องมีการยืนยันผลทางห้องแล็บ 2 แห่ง จึงส่งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันตรงกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนี้จะรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคลินิก ระบาดวิทยา เสนอต่อคณะกรรมการวิชาการในพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อยืนยัน ซึ่งได้ประกาศยืนยันเมื่อวานตอนเย็นที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรณีรายนี้พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าอีกสายพันธุ์คือ แอฟริกากลาง  ได้มีการสอบสวนควบคุมโรคทันทีหลังพบเป็นผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย ติดตามหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มี  2 ราย เป็นเพื่อนกับผู้ป่วย แต่ไม่มีอาการป่วย เมื่อส่งตรวจไม่พบเชื้อ แต่ต้องกักตัวหรือเฝ้าสังเกตอาการตนเองไป 21 วัน จากนั้นก็ไปค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติมยังสถานที่เสี่ยง ในสถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยไปใช้บริการ พบผู้ที่มีอาการไข้ เจ็บคอ จำนวน 6 ราย ผลตรวจ 4 รายไม่พบเชื้อ ส่วนอีก 2  รายอยู่ระหว่างรอผล   ได้ให้ติดตามสังเกตอาการตนเอง 21 วัน  ทั้งนี้ การจะกักตัว หรือให้สังเกตอาการนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายๆ ของเจ้าหน้าที่ โดยหากไม่แน่ใจอาจให้มีการกักตัว  แต่หากสามารถติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้ทุกวันก็ใช้การสังเกตอาการ

        นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า โรคฝีดาษวานร พบว่าความรุนแรงไม่ได้มากนัก การติดต่อไม่ได้รวดเร็ว   โดยตั้งแต่ผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 12,608 ราย แต่การกระจายตัวค่อนข้างเยอะประมาณ 66 ประเทศ ซึ่งแตกต่างจากโควิด-19 แค่ไม่กี่เดือนพบติดเชื้อหลักล้านคน ทั้งนี้ จะพบฝีดาษลิงมากๆ คือ ทวีปยุโรป และอเมริกา และเอเชีย มีสิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย ส่วนประเทศที่พบติดเชื้อมากที่สุด คือ สเปน 2,835 ราย รองลงมาเยอรมนี 1,859 ราย โดยข้อมูลที่พบส่วนใหญ่เป็นชาย สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ป่วย โดยเฉพาะตุ่ม ฝีหนอง จะพบเชื้อไวรัสจำนวนมาก โดยทั่วไปการติดต่อทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้ แต่จะจากการสัมผัสใกล้ชิด

 

 

       องค์การอนามัยโลกกำลังประชุมกันอยู่ ต้องติดตามต่อไป แต่มีข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ให้มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นชนิด และขนาดไหน โดยใช้แนวทางจากการประเมินความเสี่ยง วางแผนการจัดงานให้ดี และสถานพยาบาลหลายแห่งขอให้รวบรวมข้อมูลผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยยืนยันหรือสงสัย เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยัง WHO Global Clinicai Platform ขอย้ำว่า โรคฝีดาษวานร โดยลักษณะไม่ได้รุนแรงสูงมาก และจากการประเมินหลังพบผู้ป่วยยืนยันรายแรกในไทย โอกาสจะไม่ระบาดวงกว้างเหมือนโรคโควิด-19  เพราะไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิด

           "โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่ายๆ ดังนั้น มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด-19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้ คือ Universal Prevention  ทั้งล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มมีหนอง เป็นสิ่งสำคัญ  และมีข้อน่าสังเกตอาจจะติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ จึงควรเพิ่มการป้องกันตัวเองเหมือนการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย  นอกจากนี้ ขออย่าตีตรา และลดทอนคุณค่ากลุ่มเสี่ยง" นพ.โอภาส กล่าว

         นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในภาพรวมโรคฝีดาษวานร มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ให้ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังอันดับที่ 56 โดยกำหนดอาการมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลือง บวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก แขนหรือขา บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า  เมื่อมีการประกาศเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังแล้ว มาตรการ และการดำเนินงานคือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงเจ้าพนักงานควบคุมโรคต้องทำแผนปฏิบัติงานโรคติดต่อต้องเฝ้าระวังและรายงานสถานการณ์โรค หรือเหตุสงสัยต่ออธิบดี รวมทั้งเรียกบุคคลใดๆ มาให้ข้อเท็จจริง หรือจัดส่งข้อมูลหรือเอกสารใดๆ ที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณา

      ผู้สื่อข่าวถามถึงความจำเป็นของการฉีดวัคซีน  นพ.โอภาส กล่าวว่า  โรคนี้รักษาตามอาการ เหมือนจะน่ากลัวแต่ความรุนแรงของโรคไม่มากนัก ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนเรื่องวัคซีนขณะนี้ที่ผลิตมาและเตรียมจะใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการสั่งจองวัคซีนเบื้องต้นไปแล้ว และยังมีวัคซีนเดิมสำหรับโรคฝีดาษที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.)เก็บไว้อยู่ในขั้นตอนที่อาจจะนำมาใช้ได้ต้องดูตามข้อบ่งชี้ประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และการประเมินสถานการณ์เพื่อการนำมาใช้ต่อไป

       “การให้วัคซีนดูตามความจำเป็น ซึ่งดูจากสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนในวงกว้าง แต่อาจต้องมีความจำเป็นในการฉีดให้กับกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขที่ให้การดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด เนื่องจากวัคซีนตัวนี้มีผลข้างเคียงอยู่บ้างอาจต้องชั่งผลดีผลเสียระหว่างการฉีด และไม่ฉีด”นพ.โอภาส กล่าว 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์