Long COVID วัยรุ่นมีปัญหามากกว่าเด็กเล็ก เผย 3 อาการผิดปกติพบบ่อยที่สุด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เกี่ยวกับอาการลองโควิด (Long COVID) ที่ดูเหมือนว่า ในวัยรุ่นจะประสบปัญหามากกว่าเด็กเล็ก เผย 3 อาการผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด
(25 ส.ค.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เกี่ยวกับอาการลองโควิด (Long COVID) ที่ดูเหมือนว่า ในวัยรุ่นจะประสบปัญหามากกว่าเด็กเล็ก
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 2,002 ราย ตาย 29 ราย
- โควิดวันนี้ 10 จังหวัดติดเชื้อสูง กทม. 1,218 จับตาสมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี
"หมอธีระ" พูดถึง "Long COVID" โดยระบุว่า Dumont R และคณะจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยใน medRxiv เมื่อวานนี้ 24 สิงหาคม 2565 โดยศึกษาความชุกของ Long COVID ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 เปรียบเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อ
สาระสำคัญที่พบคือ เด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มีปัญหา Long COVID ที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ราว 9.1% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6.7% - 11.8%)
ทั้งนี้ เด็กวัยรุ่น 12-17 ปี จะพบว่าประสบปัญหา Long COVID มากกว่าเด็กเล็ก
อาการผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่ ปัญหาด้านการดมกลิ่น การไม่มีสมาธิ และอาการปวดท้อง
ผลการศึกษานี้สะท้อนให้ผู้ปกครองและคุณครูเห็นถึงความสำคัญในการดูแลเด็ก ให้ความรู้ ฝึกทักษะในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ปรับสภาพแวดล้อมให้มีการถ่ายเทอากาศที่ดี
หากเด็กๆเคยติดเชื้อมาก่อน ผู้ปกครองก็ควรสังเกต ประเมินสุขภาพของเด็กทั้งด้านกาย อารมณ์ สมาธิ ฯลฯ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ จะได้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที
สถานการณ์ไทยเรานั้น การที่จะประคับประคองให้เรามีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นต้องมีความใส่ใจด้านสุขภาพ หรือ Health consciousness
สภาพแวดล้อมในสังคมระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวันนั้นมีความเสี่ยงมากกว่าในอดีต การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ไม่ว่าจะทำงาน พบปะ ศึกษาเล่าเรียน และอื่นๆ พยายามเว้นระยะจากกันไว้บ้าง ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง และพกสเปรย์แอลกอฮอล์ไว้ล้างมือหลังหยิบจับสิ่งของสาธารณะ
ใครที่มีอาการไม่สบาย ควรแจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ เลี่ยงการพบปะกับผู้อื่นไปก่อน ก็จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย
โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่
ติดแล้ว ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ แม้ฉีดวัคซีนมาแล้วหรือเคยติดเชื้อมาก่อนแล้วก็ตาม การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ
ปัญหาอาการผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID เป็นเรื่องที่ควรตระหนักไว้เสมอ เพราะจะบั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัว และประเทศ
CR หมอธีระ