เทรนด์ "อาหาร" และ "สุขภาพ" กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ยุค New normal
เป้าหมายของไทยที่จะก้าวสู่การเป็น Medical Hub และการผ่านพ้นวิกฤติโควิด ทำให้เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยว ก้าวสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพ และการพำนักอาศัยระยะยาว สอดคล้องกับจุดแข็งภาคการท่องเที่ยวไทย
ตั้งแต่ช่วงการระบาดของ โควิด-19 จนกระทั่งภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 เราได้เห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยกลับมาฟื้นตัวได้ด้วยความยืดหยุ่นเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาด นอกจากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวสถานการณ์โควิด ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับโอกาสใหม่ ๆ และสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ให้เข้ากับกระแสนิวนอร์มอล
ข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทย กลับมาเป็นน่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต อุตสาหกรรมอนาคตกำลังก้าวสู่เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก และ อาหารทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยว ยังเป็นก้าวใหม่สู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพ และการพำนักอาศัยระยะยาว กำลังเติบโตซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งภาคการท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเกิดธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจดิจิทัล และ New S-Curve เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนศักยภาพของธุรกิจไทย และ บ่งชี้ว่านักลงทุนให้ความสนใจธุรกิจขนาดเล็กในเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤติและความท้าทาย
ภาคธุรกิจตระหนักว่า ต้องมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมกับความยืดหยุ่น และคล้องแคล้วด้านการสื่อสารและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต ทั้งหมดนี้ จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และ เห็นโอกาสการลงทุนในประเทศไทย
คาดตลาดสุขภาพทั่วโลก ทะลุ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025
Global Wellness Institute คาดว่า ตลาดการดูแลสุขภาพทั่วโลก เติบโตก้าวกระโดด เฉลี่ยปีละ 9.9% จนมีมูลค่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 จาก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 และ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงก่อนโควิดระบาด
"พญ.ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ" ประธานกรรมการบริหาร และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงาน Thailand Focus 2022: The New Hope โดยระบุว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในปี 2020 ธุรกิจนี้สร้างรายได้ 600 ล้านดอลลาร์ อยู่อันดับ 3 รองจาก สหรัฐ 3,500 ล้านดอลลาร์ และ เกาหลี 655 ล้านดอลลาร์ จุดหมายปลายทางยอดนิยม คือ กรุงเทพ ภูเก็ด พัทยา เชียงใหม่ สมุย
"นี่คือโอกาสและประเทศไทยมีจุดแข็งทั้งนโยบายรัฐบาลสนับสนุนศูนย์กลางการแพทย์แห่งเอเชีย อัตรารักษาที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่งถึง 40-70% โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และ บุคคลากรการแพทย์มืออาชีพ อัธยาศัยของคนไทย และ แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก"
ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังก่อให้เกิดโอกาสใหม่ในวงการแพทย์ ผู้คนใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และ อยากมีสุขภาพยืนยาว BDMS จึงสร้างระบบการแพทย์ขึ้นเพื่อตอบสนองทุกกลุ่มลูกค้าทุกช่วงวัย ในเทคโนโลยีและดิจิทัลรองรับระบบการแพทย์ทางไกล การรักษาทางไกล และ ข้อมูล เป็นต้น
สุขภาพและอาหาร กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นครัวโลก "อุตสากรรมอาหาร" จึงถือเป็นอนาคตของอุตสาหกรรมที่น่าสนใจโดยเฉพาะการเชื่อมโยงในเรื่องอาหารและสุขภาพ นโยบายของรัฐไทยและแผนการพัฒนาประเทศ มีการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในอุตสหากรรมเกษตร และ อุตสหากรรมอาหาร มากขึ้น
"วิเวก ดาวัน" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมก้า ไลพีไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า การมาประสานกันระหว่างสุขภาพและอาหารทั่วโลก ทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ และบริษัทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากมาย เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น คนเรามีอายุยืนขึ้น และโรคร้ายต่างๆ ล้วนมีส่วนทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง
"เทรนด์ที่มาแรงที่สุดในอีก 5 ปี คือ ความมีสุขภาพดี (wellness) และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่ทำมาจากพืช หรือวีแกน ที่ช่วยเปิดโอกาสอันดียิ่ง ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก บริษัทที่ผลิตอาหารต่าง ๆ ก็หันมาผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และยารักษาโรค เวลาเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เราจะเห็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้นกว่าแต่ก่อน"
กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
ขณะเดียวกัน กทม. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการมาเยือนประเทศไทย “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า กรุงเทพฯ พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวและธุรกิจจากทั่วโลก สถานการณ์โควิดในกรุงเทพดีขึ้น ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมทั้งการครองเตียง และ ยาฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ สามารถรองรับได้หากมีการแพร่ระบาด ขณะที่คนกรุงเทพฯ มีอัตราการรับวัคซีนสูง อีกทั้ง มีจุดเด่นที่ดวามแตกต่างหลากหลายสังคมวัฒนธรรมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ และแหล่งท่องเที่ยวมากมาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เมืองกรุงเทพควรจะพัฒนาให้ดีขึ้น อาทิ กฎหมายและระเบียบที่เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจ การคอรัปชั่น ความสามารถภาษาอังกฤษ และ ทักษะแห่งอนาคต ขณะเดียวกัน ด้านคุณภาพชีวิต กรุงเทพมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัญหาจราจร และ พื้นที่สีเขียวน้อยเฉลี่ย 1 ตารางเมตรต่อคน เทียบกับเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก ที่กำหนด 9 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งอาจนำแนวทาง Land Tax มาใช้เพื่อจูงใจเอกชนนำที่ดินให้สาธารณะประโยชน์เพิ่มขึ้น
กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 เมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ขณะที่ติดอันดับ 98 เมืองคุณภาพชีวิตที่ดี สะท้อนว่าเหมาะสำหรับการพำนักระยะสั้น โดยวางเป้าหมายว่าจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคน ผ่าน 9 แนวทาง ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย การเดินทาง การจัดการโครงสร้างเศรษฐกิจ ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ บนกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจกรุงเทพฯ มุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัล การท่องเที่ยวและสุขภาพ อัญมณี การจัดประชุมสัมมนา และ การเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี
“เป้าหมาย กรุงเทพฯ เมืองที่น่าอยู่อาศัยสำหรับทุกคน มีภารกิจ 4 ข้อ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส และ การสร้างความเชื่อมั่น นอกจากนี้ การเปิดกรุงเทพ ยังหมายถึงความโปร่งใสด้านข้อมูลข่าวสาร เช่น การเปิดเผยข้อมูลงบประมาณในเว็บไซต์ และ การนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เช่น ทราฟฟี่ฟองดู เข้าแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ สามารถเพิ่มประสิทธิการในการทำงานโดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม และยังสามารถเพิ่มความโปร่งใสแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้ด้วย” ดร.ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย