เช็ก อาการ “เชื้อไวรัส HPV” ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เสี่ยง

เช็ก อาการ “เชื้อไวรัส HPV” ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เสี่ยง

แพทย์ ชี้ HPV เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อเอชพีวี แพร่กระจายได้ง่ายผ่านการสัมผัส พบมีเชื้อชนิดนี้มากกว่า 100 สายพันธุ์ บางสายพันธุ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งช่องปากและลำคอ เป็นต้น

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อ ไวรัสเอชพีวี "HPV" ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ การแสดงอาการของโรคอาจเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อและสามารถแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ สำหรับอาการของการติดเชื้อ ไวรัส"HPV" มีดังนี้

 

1. มีหูดหงอนไก่ ( Condyloma Acuminata )

  • เป็นตุ่มเล็กๆ ผิวไม่เรียบหลายๆตุ่ม กระจายตามอวัยวะเพศภายนอก
  • มีอาการคันได้
  • สามารถพบได้ทั้งปากช่องคลอด และปากมดลูก

ลักษณะของหูด

  • หูดชนิดทั่วไป จะมีรูปร่างเป็นตุ่มเล็กๆ เจ็บปวดบ้างในบางครั้ง
  • และหากสัมผัสจะรู้สึกว่าผิวของหูดนั้นมีความขรุขระ
  • มีได้หลายสี
  • พบได้ที่บริเวณมือ นิ้วมือ หรือข้อศอก
  • ซึ่งหูดลักษณะเช่นนี้ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย

 

เช็ก อาการ “เชื้อไวรัส HPV” ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เสี่ยง

นอกจากนี้ ยังมีหูดชนิดอื่นๆ เช่น

  • หูดชนิดแบนราบ เกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย
  • หูดฝ่าเท้า มักขึ้นบริเวณส้นเท้า ทำให้รู้สึกเจ็บในระหว่างยืนหรือเดิน
  • แต่หูดที่สร้างความทุกข์ใจกับผู้ป่วยมากที่สุดคือ หูดที่อวัยวะเพศ หรือเรียกว่า หูดหงอนไก่เป็นติ่งเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศหญิง อวัยวะเพศชาย และทวารหนัก ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกคัน

 

2. มีอาการตกขาวมากกว่าปกติ

  • อาจมีเลือดปนตกขาว
  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด
  • มีอาการเป็นๆหายๆ
  • หากติดเชื้อที่ทวารหนัก จะมีแผลหรือก้อนยื่นออกมาผิดปกติ
  • แต่ก็มีบ่อยครั้งที่ผู้หญิงบางรายได้รับเชื้อ HPV เข้าสู่ร่างกายแต่ไม่แสดงอาการและเชื้อก็จะหายไปเอง
  • หรือหากร่างกายอ่อนแอก็อาจก่อให้เกิดความผิดปกติภายหลัง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคติดเชื้อ HPV มักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก ปาก หรือการใช้อุปกรณ์เพื่อสนองความต้องการทางเพศร่วมกัน และสามารถแพร่ผ่านรอยแผลหรือรอยขีดข่วนตามผิวหนัง หากมีการสัมผัสผิวหนังหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย แม้กระทั่งในช่วงที่ผู้ติดเชื้อยังไม่แสดงอาการก็ตาม

 

ส่วน หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อสู่บุตรระหว่างการคลอดได้ แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัส HPV สามารถทำได้ดังนี้

1. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ทุก 5 ปี

2. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี

3. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์

4. เลี่ยงพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

 

เช็ก อาการ “เชื้อไวรัส HPV” ป้องกันอย่างไร ไม่ให้เสี่ยง