เลี้ยงลูกปฐมวัยในยุค VUCA World เพิ่มการลงทุน เติมทักษะ 5H – Coding
“ปฐมวัย หรือช่วงขวบปีแรกๆ ของชีวิต” เป็นช่วงเวลาการพัฒนาที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเด็ก โดยเป็นช่วงวัยที่เด็กจะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วทั้งทางสมอง การใช้ภาษา ทักษะทางสังคม ทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหว การสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตและการเรียนรู้ต่อไปในชีวิต
จากงานวิจัยของ เจมส์ เจ เฮ็กแมน (James J Heckman) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้ศึกษาการใช้กระบวนการไฮสโคปเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กในระดับปฐมวัยชี้ให้เห็นว่า การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมดีที่สุดในระยะยาว โดยคืนผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคตมากถึง 7 เท่า
- ลงทุนในเด็กปฐมวัยคุ้มค่ากว่าวัยอื่น 7 เท่า
ประเทศไทยมีเด็กปฐมวัยจำนวนมากที่ขาดการดูแลและการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน การเข้าถึงหนังสือสำหรับเด็กซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้และจินตนาการ ยังเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะในครัวเรือนที่ยากจน
อีกทั้งยังพบว่าเด็กอายุ 3-5 ปีร้อยละ 15 ไม่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญมากต่อพัฒนาการของเด็ก สำหรับเด็กที่ได้เข้าเรียนในระดับปฐมวัย ก็ยังอาจไม่ได้รับบริหารที่มีคุณภาพที่จะช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
- พัฒนาที่ดีเริ่มต้นในช่วง 0-6 ปีแรกของชีวิต
"หมอโอ๋” หรือ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ให้ข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับบทบาทของครอบครัว ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีในช่วงปฐมวัย นับตั้งแต่ 0-6 ปีแรกของชีวิต
โดยช่วงวัยนี้มีความสำคัญมาก เป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาอย่างรวดเร็วและเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถ้าครอบครัวไม่ให้ความใส่ใจหรือให้พลังสนับสนุนกับลูกน้อยเกินไป เด็กอาจรู้สึกไม่ได้รับความรักและไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างที่ควรจะเป็น โตไปเขาอาจรู้สึกว่าชีวิตขาดบางอย่างไป
“หมออยากให้พ่อแม่เข้าใจ ถ้าจะลงทุนอะไรในชีวิต ก็ลงทุนกับการเลี้ยงดูลูก เพราะว่าวันหนึ่งที่ลูกเติบโตมามีปัญหา ไม่ว่าเราจะมีเงินทองเท่าไหร่ มันไม่มีวันซื้อความสุขนั้นได้” พญ.จิราภรณ์ กล่าว
- เลี้ยงลูกปฐมวัย ต้องเริ่มด้วยความเข้าใจลูก
พญ.จิราภรณ์ กล่าวต่อว่า การเข้าใจธรรมชาติของเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรจะมี เพราะสิ่งที่เด็กแสดงออกมา มีความหมายบางอย่างในการเติบโตในแบบของเขาเอง พ่อแม่ควรทำความเข้าใจว่าลูกของตัวเองมีธรรมชาติแบบไหน เข้าใจให้ถึงแง่มุมข้อดี ข้อเสีย นิสัยต่างๆ เพราะเด็กแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน ต้องเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจลูกเป็นสำคัญ
“นอกจากความเข้าใจแล้ว พ่อแม่ต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน ให้เป็นไปตามโภชนาการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมอง และควรปลูกฝังพฤติกรรมการกินที่ถูกต้องให้ลูก รวมถึงต้องส่งเสริมการเล่นตามวัย โดยอาจจะใช้กิจกรรมงานบ้าน เช่นเก็บของเล่น ทำความสะอาดห้อง ชวนลูกประดิษฐ์ สร้างกิจกรรมร่วมกัน และที่สำคัญ อย่าหยุดแสดงความรักต่อลูก” พญ.จิราภรณ์ กล่าว
- สกศ.ตั้งงบ 20 ล้านบาท ดูแลเด็กปฐมวัย
หน้าที่ของการดูแล ส่งเสริมพัฒนาของเด็กปฐมวัย ไม่ใช่เป็นเพียงบทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมของประเทศร่วมด้วย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นไปตามนโยบายและ “การยกระดับพัฒนาเด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของประเทศ
ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่าสกศ.ได้รับโจทย์ใหญ่จากรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งจากงานจากการวิจัยของ สกศ. ที่ได้ศึกษาทักษะที่จำเป็นแห่งอนาคต (Future SKill) ได้สังเคราะห์ทักษะสำคัญ 5 ประการ ที่ครอบคลุม 4 ช่วงวัย ดังนี้ ช่วงปฐมวัย (0-5 ปี) ต้องมีทักษะความคิดเชิงสร้างสรรค์ ความอยากรู้อยากเห็น มีความสามารถทางกายภาพ แก้ไขปัญหาได้เอง อ่านออกเขียนได้ และรู้จักเข้าใจการใช้เทคโนโลยี
“ในปีงบประมาณ 2566 สกศ.ได้เสนอขอตั้งงบฯประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อขยายผลโครงการจัดทำระบบบัญชีเด็กปฐมวัย แพลตฟอร์มสำหรับการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และแอปพลิเคชันสำหรับสืบค้นข้อมูลรายบุคคลของเด็ก รวมถึงขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมาร่วมดำเนินการ”ดร.อรรถพล กล่าว
- 5 H และ Coding อาวุธเด็ก รับมือ VUCA World
ทั้งนี้ สกศ.ได้ จัดงานการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “หนุนเสริม เพิ่มคุณค่า การพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ ขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับประเทศ รวมถึงเป็นการเผยแพร่ ขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเด็กปฐมวัยมีคุณค่าทางวิชาการ นำไปประยุกต์ใช้ส่งเสริมพัฒนา
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่าการลงทุนกับเด็กปฐมวัย ลงทุนกับแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่คลอดจนถึงเข้าประถม 1 จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมลงทุน โดยเริ่มจากแม่ ซึ่งควรมีความสมบูรณ์เพื่อให้เด็กออกมามีคุณภาพทุกด้าน
จากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชากรของคนไทย มีอัตราการเกิดน้อยลงอย่างมาก จากเดิมมี เด็กเกิดใหม่ปีละ 1 ล้านคน ตอนนี้เหลือ 5 แสนคน ซึ่งเมื่อเด็กเกิดน้อย ทุกหน่วยงานต้องดูแลเด็กให้ดีขึ้น ด้วยเงินลงทุน และทรัพยากรที่เท่าเดิม ต้องร่วมสร้างเด็กไทยทุกคน ให้มีคุณภาพใน ทั้ง 5 H ได้แก่ มีความสมดุล (Harmony) ความรู้ความสามารถที่เรียนหรือสั่งสมมา(Head) ทักษะในการทำงาน (Hand) ความมีใจเอาใจใส่มุ่งมั่น (Heart)และ ด้านสุขภาพ (Health) คนทำงานด้านนี้ ต้องช่วยกันคิด ตอบโจทย์เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาด้วยกฎหมาย การทำงาน สร้างให้เด็กมีคุณภาพที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
“เด็กที่เกิดมาและเด็กที่อยู่ในปัจจุบัน ทุกคนจะเผชิญกับ VUCA World คือ อยู่ในโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ โลกต้องการคนที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่และพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสร้างสรรค์ ดังนั้น เมื่อทุกชีวิตต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ ต้องเตรียมเด็กให้มีทักษะการอ่าน การเขียน การคิดแบบมีเหตุผล การคิดสร้างสรรค์ คิดเชิงคำนวณ และ การแก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเด็กจะมีทักษะเหล่านี้ได้ ผ่านกระบวนการ Coding”ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
- ยูนิเซฟ พร้อมหนุนเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัยไทย
นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งถือเป็นอนาคตของประเทศ การลงทุนกับเด็กปฐมวัยจึงมีความคุ้มค่าอย่างมาก ซึ่งมีหลักฐานจากทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องได้รับการบูรณาการทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา สุขภาพ โภชนาการและการคุ้มครอง
“ยูนิเชฟมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสที่จะพัฒนา เต็มศักยภาพ”นางคยอนซอน กล่าว