เปิดคุณสมบัติหญิงไทยอาจมีสิทธิ์รับจ้าง"อุ้มบุญ"ถูกกฎหมาย
ชงปรับกฎหมายอุ้มบุญ เปิดช่องหญิงไทยรับจ้างท้องแทนได้ถูกกฎหมาย พร้อมเปิดเกณฑ์คนเข้าข่ายทำได้ เล็งให้แจ้งขึ้นทะเบียนกับสบส. สถานพยาบาลเป็นระบบ
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือ กฎหมายอุ้มบุญ เพื่อให้หญิงไทยสามารถรับจ้างตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญได้ถูกกฎหมายว่า ในส่วนของเกณฑ์กำหนดผู้ที่จะสามารถรับอุ้มบุญได้นั้น หากมีการแก้ไขกฎหมายจะไม่ได้มีการปรับแก้อะไรในส่วนนี้ เพียงแต่ปรับให้สามารถรับจ้างได้ ซึ่งข้อกำหนดในเบื้องต้นคือเป็นหญิงที่เคยมีลูกมาก่อน แต่ต้องไม่มีลูกเกินกี่คน อายุขั้นต่ำ และอายุสูงสุดที่ให้ตั้งครรภ์ได้ เป็นต้น เพราะหากมีลูกมากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงได้ แต่ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อเสนอ โดยอาจจะทำให้เกิดระบบเป็นทางการด้วยการให้คนที่จะเป็นแม่อุ้มบุญต้องมาขึ้นทะเบียนก่อน และมีรายได้ แทนที่จะไปลักลอบรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมาย
นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากนี้จะเสนอหลักการก่อน หากอนุกรรมการแก้ไขกฎหมายเห็นด้วยก็ไปร่างแนวทาง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการขึ้นทะเบียนสามารถขึ้นทะเบียนกับสบส.ก็ได้ หรือจะขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลก็ได้ หรือขึ้นทะเบียนไว้ตรงกลาง แต่ขอให้รู้ว่ามีตัวตน มีคุณสมบัติ จะได้ไม่ถูกหลอกหรือแอบทำแบบผิดกฎหมาย เหมือนในอดีตก่อนจะมีกฎหมายนี้เกิดขึ้น ที่มีการแอบทำแล้วพบว่าทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญมีภาวะดาวน์ซินโดรมทำให้ผู้ว่าจ้างหนีไป คนอุ้มบุญก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะตัวเองทำผิดกฎหมาย
“ตามกฎหมายให้คนที่รับอุ้มบุญต้องเป็นเครือญาติ แต่ก็มีข้อยกเว้นให้กับคนที่อาจจะไม่มีญาติแต่อยากมีลูกสามารถให้คนอื่นรับอุ้มบุญให้ได้ กรณีที่บอกว่าคนอื่น ก็คือเป็นการรับจ้างอุ้มบุญ แต่ไม่ได้พูดว่ารับจ้างเท่านั้นเอง ดังนั้นกำลังทำให้เรื่องนี้ขึ้นมาอยู่บนดิน ไม่ถูกกดขี่ นอกจากนี้กฎหมายยังจะมีการแก้ไขเพิ่มอัตราเจ้าพนักงาน และแก้ไขให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำอุ้มบุญในไทย รวมถึงการเปิดให้ฝากไข่ สเปิร์ม ตัวอ่อนได้ ” นพ.ธเรศ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายปัจจุบันมีข้อกำหนด ว่า
1.การดำเนินการตั้งครรภ์แทนผู้ให้บริการจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) โดยยื่นเอกสารที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
2.หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นสายเลือดเดียวกันกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
3.เคยมีบุตรมาแล้ว โดยคลอดทารกตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หากผ่าคลอดต้องไม่เกิน 1 ครั้ง
และ4.มีอายุระหว่าง 20-40 ปี
ทั้งนี้ หญิงรับตั้งครรภ์แทนรับอุ้มได้ไม่เกิน 2 ครั้ง คู่สมรสที่ใช้วิธีการอุ้มบุญต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และห้ามเลือกเพศทารก