จะเทใจให้พรรคไหน ให้ดูนโยบายการศึกษา | เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ใกล้ถึงฤดูเลือกตั้งแล้ว ผมตั้งหน้าตั้งตารอรับชมรับฟังนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่ทั้งหลายอย่างใจจดใจจ่อ เพราะพรรคเหล่านี้มีโอกาสเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล หรืออย่างน้อยสมาชิกพรรคก็มีโอกาสเข้าไปนั่งในสภามากกว่าผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคที่เกิดขึ้นไม่นาน
ในเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนเร็วแบบนี้ การสร้าง "คน" คือปัจจัยสำคัญของการพลิกฟื้นประเทศ นโยบายการศึกษาจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญเรื่องหนึ่งว่าคนไทยจะเทใจให้พรรคนั้นแค่ไหน
สมมติว่ามีพรรคหนึ่งเสนอเรื่องการเพิ่มสวัสดิการและเงินอุดหนุนให้เด็กนักเรียน โดยเน้นไปที่การศึกษาระดับก่อนอุดมศึกษาเพื่อการลดต้นทุนในการส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือ เด็กไทยจะได้เรียนหนังสือกันมากขึ้น
คำถามก็คือ ปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย คือปัญหาด้านต้นทุนหรือเปล่า ค่าใช้จ่ายในการส่งลูกไปเรียนในระดับประถมและมัธยมสูงมากจนทำให้จำนวนคนเรียนต่อน้อยเกินไปหรือไม่ หรือว่าตอนนี้จำนวนคนที่ตัดสินใจเลิกส่งลูกไปโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย หากมองเป็นรายพื้นที่ อาจจะมีทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่” ปนกันไป
แม้นโยบายนี้เป็นนโยบายที่ดี แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะขาดมิติด้านคุณภาพ ขาดความเชื่อมโยงกับมิติอื่นของการศึกษา ระบบเศรษฐกิจและสังคม หากวิกฤติการศึกษาไทยไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนในการส่งลูกไปเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่เป็นด้านคุณภาพด้วย นโยบายด้านคุณภาพก็ต้องมีความชัดเจนเช่นกัน
ถึงตอนนี้ยังไม่เห็นพรรคไหนงัดเอานโยบายปฏิรูป “คุณภาพ” การศึกษาแบบเจาะลึกมาอวดกันเลย การจะออกนโยบายการศึกษาแบบเกรดเอ ผู้คิดนโยบายต้องเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างระบบการศึกษา แนวโน้มตลาดแรงงาน พลวัตของเศรษฐกิจไทย พลวัตของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน และพลวัตของเศรษฐกิจโลก รู้จักอ่านเกมเศรษฐกิจแบบข้ามช็อตได้ทีละสิบช็อต
นอกจากนี้แล้ว หากมาวิเคราะห์เจาะกันเฉพาะนโยบายการศึกษาอย่างเดียว ตัวของนโยบายต้องสะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายสามารถมองกระบวนการศึกษาอย่างเป็นองค์รวม
รู้ถึงความเชื่อมโยงของการศึกษาระดับต่างๆ ว่ามีส่วนเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ข้อจำกัดใดต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน สามารถทำได้จริง ข้อจำกัดใดไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน รู้จักมองปัญหาอย่างเป็นกลางโดยไม่หวังเอาผลลัพธ์ด้านคะแนนเสียงมาเป็นตัวจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
การทำโพลล์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่การเอาผลของโพลล์มากำหนดนโยบายเป็นเรื่องต้องระวัง โพลล์ทำขึ้นมาเพื่อสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มตัวอย่าง หากกลุ่มตัวอย่างดี คำถามละเอียดชัดเจน ครอบคลุมและไม่ชี้นำ ข้อมูลที่ได้ก็เป็นตัวแทนที่ดีของความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในเรื่องนั้นๆ
ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโพลล์เป็น “ผลลัพธ์” ทีมงานด้านนโยบายควรจะมองลึกลงไปว่าอะไรคือ “เหตุปัจจัย” ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ปรากฏเป็นคะแนนเป็นร้อยละในผลสำรวจของโพลล์
ยกตัวอย่างเช่น หากผลการสำรวจออกมาว่าประชาชนต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการศึกษาด้วยการให้เรียนฟรี ทีมงานวางนโยบายควรล้วงลึกต่อไปว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง
เป็นเพราะค่าเทอมสูงเกินไปหรือเปล่า อาหารในโรงเรียนแพงไปหรือไม่ หรือว่าโรงเรียนไกลเกินไปการเดินทางไม่สะดวก ถ้าสิ่งเหล่านี้คือสาเหตุที่แท้จริง การแก้ปัญหาด้วยการลดต้นทุนในการศึกษาก็ถือว่าเป็นการแก้ไขแบบตรงจุด
อย่างไรก็ตาม ถ้าผลที่ได้เกิดจากการระดับรายได้ของผู้ปกครองน้อยเกินไป ค่าครองชีพสูง ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนแทบไม่พอกิน การลดต้นทุนค่าเรียนแค่นิดหน่อยคงไม่ได้ช่วยเหลืออะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน ครั้นจะยกระดับค่าแรงขั้นต่ำเพื่อยกระดับรายได้ก็ไปกระทบกับต้นทุนการผลิตของบริษัท สุดท้ายค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าเงินที่เพิ่ม นโยบายนี้ก็ไร้ผล
ผลกระทบไม่ได้มีแค่นั้น พอของแพง ส่งออกได้น้อย ธุรกิจก็ย่ำแย่ บริษัทปิดกิจการ ย้ายฐานการผลิต คนตกงาน ไม่มีเงิน ถึงจะให้เรียนฟรีก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะทั้งบ้านต้องออกไปหางานทำหาเงินมาจุนเจือครอบครัว
วิธีการยกระดับค่าแรงแบบยั่งยืน จึงไม่ใช่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว การพัฒนาคุณภาพของคนก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ค่าแรงขึ้นและคนทำงานเก่งขึ้น ต้นทุนต่อชิ้นลดลง แบบนี้แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย พอมีกินมีใช้ ใครๆ ก็อยากส่งลูกเข้าโรงเรียน
นโยบายเกรดเอไม่จำเป็นต้องมาจากคนที่มีชื่อเสียงเคยมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงส่งเสมอไป ถ้าอยากได้นโยบายเกรดเอก็ต้องเลือกคนเกรดเอมาทำงาน ประเทศไทยรอไม่ได้แล้ว เราต้องการทีมงานที่จะมองเกมขาดได้ต้องประกอบไปผู้ที่มีปริมณฑลของความรู้กว้างขวางและลึกซึ้ง มองโลกอย่างเป็นองค์รวม ติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ
ลองเอาหลักการนี้ไปใช้วิเคราะห์นโยบายในช่วงเลือกตั้ง เดี๋ยวก็เห็นเองว่าพรรคไหนเป็นของจริง พรรคไหนดีแต่พ่นลม.
คอลัมน์ หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์