ปลดล็อกศักยภาพไบโอพลาสติก สู่ตลาดบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปลดล็อกศักยภาพไบโอพลาสติก สู่ตลาดบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

‘ปิโตรแมท’ จับมือ ‘เคมี อินโนเวชั่น’ ร่วมรับทุน ‘บพข.’ปลดล็อกศักยภาพไบโอพลาสติก มุ่งสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง กำลังส่งผลเสียอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทำให้ไบโอพลาสติกหรือพลาสติกชีวภาพได้รับความสนใจมากขึ้น

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และ บริษัท เคมี อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือและมอบทุนโครงการวิจัยเรื่อง “การยกระดับศักยภาพบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพแบบครบวงจรร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อการขยายตลาดเชิงพาณิชย์” ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้งานพลาสติกชีวภาพ พร้อมสนับสนุนผู้บริโภคให้หันมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ พลาสติกชีวภาพยังมีความทนทานไม่เพียงพอต่อการนำไปผลิต การเก็บรักษา การใช้งาน ตลอดจนการนำไปรีไซเคิล

 

  • ไทยมีศักยภาพผู้นำไบโอพลาสติกสู่บรรจุภัณฑ์

โครงการวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อร่วมมือกันระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ    ในการพัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพ และกระบวนการผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงตลาดผู้บริโภคทั้งด้านต้นทุนและคุณสมบัติในการใช้งาน

พลาสติกชีวภาพผลิตได้จากวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถปลูกหมุนเวียนทดแทนได้ จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติกปิโตรเคมีที่นิยมใช้อยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในการเป็นผู้นำด้านนี้ เนื่องจากเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ในพืชผลทางการเกษตรที่เหมาะสมต่อการใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ

โดยเฉพาะพอลิแล็กติกแอซิดที่ผลิตได้จากอ้อย ข้าวโพดและมันสำปะหลัง โดยในปี 2564 ไทยมีมูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพในปริมาณสูงถึง 3,547.37 ล้านบาท

 

  • ขยายตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพเติบโตกว่าร้อยละ 39

นอกจากนี้ไทยยังเป็นผู้ส่งออกพอลิแล็กติกแอซิดรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญในตลาดอาเซียน ทั้งนี้ จะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศและกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกร รวมถึงขยายผลไปสู่การเป็นประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

ในด้านการใช้งานเป็นผลิตภัณฑ์ พลาสติกชีวภาพสามารถนำไปผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารได้หลากหลายประเภท อาทิ กล่องใส่อาหาร และช้อนส้อม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมแบบใช้แล้วทิ้ง

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2565 ไทยมีการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ โฟม ถุงหิ้ว แก้ว และหลอดพลาสติก โครงการนี้ตั้งเป้าว่าจะขยายตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพภายในประเทศให้เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 39 เพื่อทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกปิโตรเคมี โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่    ให้คนไทยสนใจใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพกันมากขึ้น

โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกภายในประเทศสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของไทยให้เติบโตแบบไร้ขีดจำกัด พร้อมส่งเสริมการเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในระดับโลก