'ไอบีเอ็ม' ชูความยั่งยืนกู้โลก หนึ่งภารกิจท้า 'ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น'
ภาวะโลกร้อนกำลังสร้างผลกระทบมากขึ้นกับมวลมนุษยชาติ อากาศที่เปลี่ยนแปลง ฤดูที่เปลี่ยนไป กำลังสั่นคลอนโลก องค์กรใหญ๋อย่าง "ไอบีเอ็ม" เปิดแนวทาง 5 ข้อ ที่ผู้นำองค์กรต้องตระหนัก ถึงทิศทางธุรกิจที่ควรมุ่งสู่ความยั่งยืน ผ่านการคิด ผลิต ใช้นวัตกรรมบางอย่างเพื่อกอบกู้โลก
รายงาน “Global Risks Report 2021” โดย World Economic Forum ระบุว่าสภาพอากาศอันรุนแรง ความล้มเหลวจากการรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ และความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ คือความเสี่ยงสูงสุดสามอันดับแรกสำหรับธุรกิจในช่วง 10 ปีข้างหน้า
สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นงานที่ยากยิ่งสำหรับผู้บริหาร เพราะนอกจากจะต้องพยายามนำพาองค์กรก้าวข้ามดิสรัปชันและผ่านสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไปให้ได้แล้ว ยังต้องดูแลธุรกิจให้เติบโต และต้องให้สมดุลกับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ผลสำรวจ “Sustainability as a Transformation Catalyst” โดย IBV ชี้ให้เห็นว่าวันนี้ความยั่งยืนก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญขององค์กร โดย 73% ของผู้บริหารทั่วโลกที่สำรวจ ระบุว่าองค์กรตนได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ขณะที่ 39% ของผู้บริหารที่สำรวจระบุว่าได้บรรจุเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุดขององค์กร และมากกว่าครึ่งตั้งเป้าที่จะทำภายในสามปี
เปิดแผนยั่งยืนสู้โลกร้อน ฉบับ ไอบีเอ็ม
นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าวว่า “อนาคตของธุรกิจและสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง เพราะไม่เพียงบริษัทต่างๆ จะต้องรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรงที่อาจมีผลต่อการดำเนินงาน แต่ยังต้องสามารถอธิบายต่อผู้ถือหุ้นและหน่วยงานที่กำกับดูแลได้ว่าการดำเนินงานของตนส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร”
“องค์กรไม่ควรมองเรื่องการสร้างความยั่งยืนเป็นเพียงสิ่งที่ต้องทำเพราะมีกฎข้อบังคับกำหนดไว้ หรือเพียงเพราะลูกค้า พนักงาน นักลงทุน คู่ค้า และหน่วยงานภาครัฐ ต่างกดดันให้ยกเป็นวาระสำคัญของธุรกิจ แต่องค์กรควรมองเรื่องการสร้างความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ก้าวย่างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน”
สร้างความยั่งยืนเร่งองค์กรสู่ทรานส์ฟอร์เมชัน
สวัสดิ์ กล่าวว่า “องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะไม่มองเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นแค่สิ่งที่ “มีก็ดี” แต่องค์กรเหล่านี้จะผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้ากับคุณค่าหลักขององค์กร และใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยในการพิจารณาความสำเร็จขององค์กร โดยมองว่าการสร้างความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมและสร้างจุดต่างให้องค์กร”
เปิด 5 ข้อผู้นำต้องรู้หมุดหมายเพื่อโลก
สำหรับผู้นำองค์กร การจะสนับสนุนให้เกิดคุณค่าด้านความยั่งยืนขึ้นจริงในองค์กร จำเป็นต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติในห้าด้านสำคัญ ประกอบด้วย
1. ขยายความรับผิดชอบไปสู่กลุ่มผู้บริหารระดับสูงและซีอีโอ โดยซีอีโอควรเป็นผู้นำและผู้ผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ
สวัสดิ์ อธิบายว่า “CIO ควรเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบหลักในการกำหนดวาระด้านความยั่งยืนร่วมกับ COO และ CEO
ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่ามีการผนวกเรื่องความยั่งยืนและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันเข้าไปในการดำเนินการและงานด้านบรรษัทภิบาลอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ ที่ CIO มองว่าเรื่องความยั่งยืนจะเป็นวาระงานที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีอย่างมากในอนาคต อาจกล่าวได้ว่าความเชื่อมโยงลึกซึ้งระหว่างภารกิจด้านความยั่งยืนกับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จะเป็นสองส่วนผสมสำคัญที่ขับเคลื่อนคุณค่าขององค์กร”
“ที่ผ่านมาองค์กรมักมองว่าวาระด้านความยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบของ COO ของ Chief Sustainability Officer (CSO) หรือเป็นภาระของผู้นำกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งทำให้ CEO และ CIO เข้ามาเกี่ยวข้องน้อย และขาดความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างความยั่งยืนกับเรื่องการทรานส์ฟอร์มองค์กรในภาพใหญ่” สวัสดิ์ เสริม
2. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก้าวล้ำและข้อมูลเพื่อสร้างความยั่งยืน สวัสดิ์ เล่าว่า “จากผลการศึกษา องค์กรที่ประสบความสำเร็จมักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่าง เอไอ ออโตเมชัน หรือบล็อกเชน ในการบริหารจัดการข้อมูลขั้นสูง ตัวอย่างเช่นการผนวกรวมข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้ากับดาต้าแวร์เฮาส์หรือดาต้าเลคขององค์กร ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมเพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างเมทริคด้านความยั่งยืนที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน”
อย่างไรก็ดี การจะนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ให้เกิดมุมมองเชิงลึกได้นั้น ต้องอาศัยความสามารถในการทำงานข้ามระบบและความง่ายในการเคลื่อนย้ายดาต้าระหว่างองค์กรและระบบ ซึ่งต้องอาศัยระบบโอเพนและสภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ที่เปิดกว้าง
“หลายครั้งผู้นำองค์กรอาจมองว่าบริษัทตนมีเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนแล้ว แต่ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นอาจยังไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างการทำบัญชีคาร์บอน ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์มุมมองเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการที่ยุ่งยากและซับซ้อน เป็นการทำงานแบบแมนวลที่ใช้คนจำนวนมาก ต้องอาศัยคนที่มีทักษะด้านสภาพอากาศและวิทยาศาสตร์ข้อมูล รวมถึงต้องใช้พลังประมวลผลสูงจากคอมพิวเตอร์” สวัสดิ์ เสริม
นวัตกรรม พยากรณ์อากาศ
หนึ่งในนวัตกรรมล่าสุด คือการพัฒนาชุดเครื่องมือ Environmental Intelligence Suite ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลพยากรณ์อากาศที่แม่นยำที่สุดในโลก ร่วมกับข้อมูลการวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศขั้นสูง และนวัตกรรมใหม่จากศูนย์วิจัยไอบีเอ็ม
โดยนับเป็นครั้งแรกของการผสานศักยภาพของเอไอ ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเชิงลึก และความสามารถในการจัดทำบัญชีคาร์บอน เข้าด้วยกัน ช่วยให้องค์กรใช้ทรัพยากรในการบริหารจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนเหล่านี้น้อยลง และมีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงการดำเนินการมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามาช่วยวิเคราะห์
3. ร่วมมือกับอิโคซิสเต็มและธุรกิจในวงซัพพลายเชน สวัสดิ์ มองว่า “วันนี้เราอยู่ในยุคของโกลบอลซัพพลายเชน และผลพวงจากการดำเนินงานที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดขึ้นจากทุกองค์กรในวงจรเศรษฐกิจโลก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ ทุกองค์กรล้วนจำเป็นต้องหาแนวทางในการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ของตนทั้งสิ้น”
หลายองค์กรที่ประสบความสำเร็จมักร่วมมือกับคู่ค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแนวทางการทำงานเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่องความยั่งยืนร่วมกัน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับพันธมิตรในวงซัพพลายเชนเพื่อร่วมกันลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการร่วมมือกันนำโซลูชันที่สร้างความยั่งยืนเข้ามาใช้
สวัสดิ์ เล่าถึงตัวอย่างของการนำเครื่องมือ Environmental Intelligence Suite มาใช้ ที่ช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการขนส่งสินค้าในจุดที่มีสภาพอากาศรุนแรงและประสบปัญหาเกี่ยวกับสินค้าคงคลังได้ทันท่วงที ช่วยให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เห็นภาพมากขึ้นว่าระบบทำความเย็นกำลังมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาพรวมอย่างไร หรือดึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการหยุดชะงักของการดำเนินงานที่อาจเกิดขึ้น พร้อมจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่องค์กรต้องตอบสนอง เป็นต้น
4. ใช้ข้อมูลสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชน การกำหนดกฎข้อบังคับเพื่อลดการก่อมลพิษและผลักดันด้านความยั่งยืนอาจไม่สามารถสร้างผลลัพธ์และจิตสำนึกได้ในวงกว้างพอ แต่การพยายามปรับวิธีคิดและการรับรู้บนพื้นฐานของข้อมูล อาจช่วยให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและชุมชนท้องถิ่นมองภาพความยั่งยืนในทิศทางเดียวกันได้
ตัวอย่างเช่น Envirosuite ผู้นำด้านการวิเคราะห์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่ได้นำระบบมอนิเตอร์ การวิเคราะห์ขั้นสูง รวมถึงข้อมูลและมุมมองเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์ เข้าช่วยองค์กรต่างๆ แก้ปัญหา ช่วยให้สนามบิน ศูนย์กำจัดน้ำเสีย ศูนย์ปฏิบัติการเหมืองแร่ รวมถึงโรงงานต่างๆ สามารถมอนิเตอร์เสียง น้ำ คุณภาพอากาศ กลิ่น ฝุ่น และแรงสั่นได้ ถือเป็นการเปิดให้ชุมชนรอบข้างเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็ช่วยให้ชุมชนเห็นภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์
สวัสดิ์ ลองสะท้อนภาพง่ายๆ ว่าในวันนี้ที่อาคารที่พักอาศัยเริ่มขยับเข้าไปอยู่ใกล้สนามบินมากขึ้นเรื่อย การช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลของสนามบินได้ สามารถติดตามข้อมูลไฟล์ทต่างๆ ได้ จะช่วยให้ชุมชนสามารถตรวจสอบที่มาของเสียงรบกวนและปัญหาอื่นๆ ได้ ก่อนที่จะทำการร้องเรียน
“การสร้างสะพานข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างสถานที่ต่างๆ กับผู้ที่อยู่อาศัยโดยรอบ ยังอาจนำสู่การกำกับดูแลรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งการแทรกแซงโดยภาครัฐ ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจให้กับชุมชนรอบข้าง และช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆ เติบโตและอยู่ร่วมกับชุมชนภายใต้ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนขึ้น”
5. จัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่สะท้อนการปฏิบัติจริง วันนี้ กว่าครึ่งขององค์กรที่สำรวจ ระบุว่ามีแนวทางในการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่กำหนดไว้แล้ว โดยองค์กร 54% มองถึงการใช้เฟรมเวิร์ค มาตรฐาน เมทริกซ์ และข้อมูล ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่แล้ว ขณะที่องค์กร 38% มองถึงการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพ การดำเนินงาน การเงิน และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี แนวทางที่วางไว้กับสิ่งที่ลงมือปฏิบัติจริงมักไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตัวอย่างเช่น มีองค์กรเพียงหนึ่งในสามที่พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุปกรณ์และโรงงาน หรือใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิง และมีองค์กรเพียง 40% ที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการวางแผนมอนิเตอร์ ตรวจจับ หรือลงมือปฏิบัติจริง
สวัสดิ์ เล่าว่า “ในแง่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความยั่งยืนก็ยังมีให้เห็นไม่มากนัก โดยมีองค์กรที่สำรวจเพียง 39% ที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือพลังงานที่ประหยัดพลังงาน 37% ที่มีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เอื้อต่อการใช้แหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ 31% ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ก่อให้เกิดของเสียน้อยลง และเพียง 32% ที่นำวัสดุและส่วนประกอบต่างๆ มาใช้ซ้ำ”
คาด 3 ปีองค์กรพัฒนาสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้บริหารที่สำรวจมองว่าน่าจะมีแนวโน้มการลงมือปฏิบัติมากขึ้นในอีกสามปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีองค์กรเพิ่มขึ้น 48% ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดของเสีย และ 44% ที่เพิ่มการใช้วัสดุและแพคเกจรีไซเคิลหรือย่อยสลายทางชีวภาพ
สวัสดิ์ ทิ้งท้ายว่า “ท้ายที่สุดแล้ว การสร้างความมีส่วนร่วมกับพนักงานและลูกค้าคือเรื่องที่องค์กรไม่อาจละเลยได้ ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จมักเข้าถึงลูกค้ามากกว่าองค์กรทั่วไป ทำให้ได้รับข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวางแนวทางด้านความยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ามากขึ้น”
“การสร้างความมีส่วนร่วมของพนักงานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะนำสู่การสร้างแรงบันดาลใจและเจตจำนงร่วมกันในการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน”