‘เที่ยวไทย’ ส่งสัญญาณบวก ‘กูเกิล’ ชี้ดีมานด์ขยับทั่วอาเซียน
นักท่องเที่ยวกระตือรือร้นที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวให้หนำใจเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป พวกเขาตั้งใจที่จะออกไปเที่ยวให้บ่อยขึ้น หาจุดหมายปลายทางใหม่ๆ และใช้โอกาสที่มีให้คุ้มค่ามากที่สุด
กูเกิล เปิดบทวิเคราะห์ การเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยดึงข้อมูลจากการ “ค้นหา” ของผู้คนในภูมิภาคนี้ พบว่า ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก
กูเกิล ประเมินว่า เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 3.8 แสนล้านดอลลาร์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ข้อมูลระบุว่า ช่วงปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงกว่า 82% และลดลงถึง 98% ในปี 2564
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อกระทบแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 7 ล้านคน จากทั้งหมดที่มีจำนวน 43 ล้านคน
จับตา 'ท่องเที่ยว' ฟื้นตัว
เฮอร์ไมโอนี จอย Travel Lead ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กูเกิล เผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมาสถานการณ์การท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง จากที่ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทาง
ขณะที่ บรรดานักท่องเที่ยวต่างก็กระตือรือร้นที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวให้หนำใจเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป พวกเขาตั้งใจที่จะออกไปเที่ยวให้บ่อยขึ้น หาจุดหมายปลายทางใหม่ๆ และใช้โอกาสที่มีให้คุ้มค่ามากที่สุด
กูเกิลได้นำข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์การค้นหาล่าสุดบน “Google Search” มาวิเคราะห์อย่างละเอียดและพบว่า เมื่ออ้างอิงจากปริมาณการค้นหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงเดือนมี.ค. ความต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีการฟื้นตัวเร็วที่สุด ขณะที่ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม อยู่ในระดับปานกลาง
ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศ มาเลเซียและอินโดนีเซียฟื้นกลับมาแตะ 100% แล้วเมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ ฟิลิปปินส์ 90% ไทย 84% และเวียดนาม 80%
'เที่ยวไทย' สัญญาณบวก
สำหรับประเทศไทย ซึ่งก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพี พบว่าช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ได้มีการเดินหน้าผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แน่นอนว่าเมื่อมาตรการการเดินทางเริ่มผ่อนคลายลง ความต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นตามลำดับ
ข้อมูลชี้ว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับ 10 เมืองท่องเที่ยวที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เดือนมี.ค.อุปสงค์การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ที่ 61% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาดเมื่อปี 2562 อีกทางหนึ่งความต้องการเดินทางไปต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเทียบกับปี 2562 ปริมาณการค้นหาลดลง 73% ในเดือนม.ค. และเพิ่มขึ้นเป็น 51% ในเดือนมี.ค. โดยการค้นหา “Thailand Pass” และประกันการเดินทางเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565
ไฮไลต์ที่น่าสนใจ พบว่าช่วงเดือนมี.ค.2565 จุดหมายปลายทางยอดฮิตของคนไทย คือ 1.สิงคโปร์ 2.ลอนดอน 3.บาหลี 4.ดูไบ 5.ปารีส ขณะที่ ส่วนประเทศที่สนใจเดินทางเข้ามาในไทยมากที่สุด 1.อินเดีย 2.สหราชอาณาจักร 3.เยอรมนี 4.สหรัฐ 5.ออสเตรเลีย
ด้านสถานที่สุดฮิตได้แก่ 1.เกาะล้าน พัทยา 2.เมืองโบราณ 3.เขาใหญ่ 4.ดรีมเวิลด์ ทั้งยังพบเทรนด์การท่องเที่ยวแบบใหม่ที่การค้นหาที่พักแบบ “บูตีค โฮเทล” เพิ่มขึ้น 40% คำค้นหา “ที่พักให้เช่าระยะสั้น” เติบโตเพิ่มขึ้น 8 เท่า ทั้งยังพบว่า 6 ใน 10 ของจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวในต่างประเทศที่อุปสงค์ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเป็นประเทศในแถบยุโรป
‘หรูหรา-ยั่งยืน’ เทรนด์มาแรง
จอยบอกว่า การท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกว่าเดิม เดือนมี.ค.มีการเติบโตที่ 85% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด คนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในหลากหลายสถานที่ มีชายหาดพัทยา หัวหิน เกาะสมุย และป่าตองเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการพักผ่อนและความบันเทิงยามค่ำคืน
นอกจากนี้ คนไทยให้ความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งนับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ขณะที่ห้วยสัตว์ใหญ่และสาริกาเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความงดงามของธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความต้องการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่การทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวควรให้ความสำคัญ
จากเทรนด์การค้นหาเห็นได้ชัดว่า สภาพแวดล้อมทางการท่องเที่ยวในปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ผู้คนใช้เวลาในการค้นหาข้อมูล วางแผน และค้นหาทางเลือกต่างๆ มากขึ้น ทั้งยังแสวงหาความอุ่นใจ และทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
'เที่ยว’ ให้หายแค้นกูเกิลพบด้วยว่า นักท่องเที่ยวต้องการที่จะอยู่เที่ยวให้นานกว่าเดิม ความสนใจในที่พักให้เช่าระยะสั้น (Vacation Rental) ในหมู่นักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นกว่า 1010% จากปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต้องการที่จะเที่ยวให้หายแค้น “revenge travelers” กระตือรือร้นที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวให้หนำใจเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินไปกับตัวเลือกการท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม ดังที่เห็นการค้นหา “boutique hotel” (โรงแรมสไตล์บูทีค) ในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยเพิ่มขึ้นถึง 40% จากปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวชาวมีจิตสำนึกด้านความยั่งยืนกันมากขึ้น โดยเฉพาะในสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ที่การค้นหาเกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 45% จากปี 2562 การค้นหาเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นกว่า 163% และ 156% ตามลำดับ