เปิดปม 'กฎหมาย' ขวาง ดีลแสนล้าน 'ทรูควบดีแทค' - กสทช.ตั้ง 4 คณะอนุฯ สอบเข้มดีล
เปิดปม ก.ม.ขวางดีลทรูดีแทค บอร์ดใหม่ กสทช.ตั้งอนุกรรมการ 4 คณะ สอบดีลทุกมิติ - จัด ‘โฟกัสกรุ๊ป’ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้าน กมธ.สภาฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เบรกดีล แจงข้อกฎหมายยิบ
เปิดข้อกฎหมายขวาง “ดีลทรูควบดีแทค” ยกอำนาจเต็ม “กสทช.” ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 พ.ร.บ.กสทช และ พ.ร.บฯ ประกอบกิจการโทรคมนาคม อนุญาตให้ดีลทำได้หรือไม่ได้ ขณะที่ มติบอร์ด กสทช.ชุดใหม่นัดแรก เคาะร่างโรดแมพสอบเข้ม ลุยตั้งอนุฯ 4 คณะ พร้อมโฟกัสกรุ๊ป ผู้มีส่วนได้เสีย 3 ฝ่าย ย้ำจะพิจารณาอย่างระวัง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้าน กมธ.สภาฯ ส่งจดหมายด่วนที่สุดส่งตรงถึงนายกฯ เบรกดีลควบรวมแสนล้านระหว่างทรู-ดีแทค ยกข้อกฏหมายจับ ชี้ยังมีหลายประเด็นยังคงไม่ชัดเจน
เส้นทางการควบรวมกิจการระหว่าง “ทรู” และ “ดีแทค” ที่นับว่าเป็นอภิมหาดีลแสนล้านบาทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ดูเหมือนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่ตั้งใจไว้ แม้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของสองบริษัท จะยกมือไฟเขียวแล้วก็ตาม หากยังมีประเด็นกฎหมาย และการกำกับดูแลรวมถึงการตรวจสอบที่ขณะนี้มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน เพราะหวั่นจะเกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรม รวมไปถึงการมาของ “กสทช.” ชุดใหม่ที่เป็นความหวังในการสอบเข้มดีลนี้
แม้ที่ผ่านมาบอร์ดชุดเก่าจะออกตัวว่า ดีลการควบรวมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ กสทช. เพราะเป็นการควบรวมของบริษัทแม่ไม่ใช่บริษัทลูกที่รับใบอนุญาตจาก กสทช.โดยตรง แต่การที่บอร์ดแสดงท่าทีเช่นนั้นเรียกว่าโดน “ทัวร์ลง” ไม่น้อย เพราะการกำกับดูแลนั้น ย่อมไม่อาจเลี่ยงหน้าที่ของ กสทช.ได้เลย จึงเป็นเหตุให้บอร์ดใหม่นำโดย “หมอสรณ” มีมติแรกจากที่ประชุมว่า จะขอเข้าตรวจสอบดีลนี้อย่างรอบด้านและครบถ้วน
เปิดข้อ ก.ม.ให้อำนาจเต็ม กสทช.
แหล่งข่าวจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดข้อกฎหมายที่จะมีส่วนสำคัญในการพิจารณาดีลควบทรูดีแทค โดย กสทช.มีอำนาจเต็มในการพิจารณา ตาม รัฐธรรมนูญปี 2560 รวมถึงอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.กสทช. และพรบ.ฯ ประกอบกิจการโทรคมนาคม
มาตรา 75 มีอำนาจขจัดการผูกขาด
นอกจากนี้ ตามหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ” มาตรา 75 วรรคแรก ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ”
ดังนั้น ด้วยข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่า ในปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมจัดเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เห็นได้จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 120,849,606 เลขหมาย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่จำนวน 66,171,439 คน อยู่เป็นจำนวนมาก หรือคิดเป็น 182% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
กสทช. ในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล “คลื่นความถี่” รวมถึงการให้บริการโทรคมนาคม จึงมี “หน้าที่”ตามมาตรา 27 (11) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (“พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่”) ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม รวมถึงป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค และขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดอีกด้วย
เปิดมาตรา 21 ห้ามโทรคมผูกขาด
นอกจากนี้ กสทช. ยังมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 (“พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม”) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นการเฉพาะ ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้ 1.การอุดหนุนการบริการ 2.การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน 3. การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม 4.พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน 5.การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย
ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติกฎหมายทั้งสองมาตราข้างต้นประกอบกันแล้ว กสทช. จึงมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม และมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกัน มิให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม ซึ่งรวมถึงการสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย
นอกจากนี้ กสทช. มีหน้าที่ในการนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูดขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมดังที่กล่าวไว้ กสทช. (เดิมคือ คณะกรรมการกิจโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กทช.”) ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (“ประกาศป้องกันการผูกขาด 2549”) ซึ่งกำหนด ห้ามมิให้มีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะทำโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามนัยข้อ 3 ประกอบข้อ 8 ของประกาศป้องกันการผูกขาด 2549 ฉบับดังกล่าว
โดยต่อมาเมื่อ กสทช. พิจารณารายละเอียดของประกาศป้องกันการผูกขาด 2549 แล้ว เห็นว่าประกาศดังกล่าวยังมิได้ครอบคลุมการควบรวมกิจการไว้ได้ทั้งหมด เพื่อเป็นการป้องกันในเบื้องต้นมิให้ผู้รับใบอนุญาตใช้ช่องทางการหลบเลี่ยงจำนวนหุ้นที่ถือครองผ่านบุคคลอื่น หรือหลบเลี่ยงผ่านโครงสร้างการถือหุ้นที่ซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้มีการกระทำที่เกิดการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการบังคับใช้ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม และประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กสทช. จึงได้ออกประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (“ประกาศควบรวมธุรกิจ 2553”)
ทั้งนี้ ข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศควบรวมธุรกิจ 2553 ดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี HHI ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาด ก่อนและหลังการควบรวม กรณีที่ก่อนการควบรวมมีค่าดัชนี HHIมากกว่า 1800 จุด และหลังควบรวมแล้ว ทำให้ค่าดัชนี HHI เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 จุด แสดงว่าการควบรวมกิจการดังกล่าว ทำให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีการกระจุกตัวสูง และส่งผลด้านลบต่อการแข่งขัน อันถือว่าเป็นการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง และกสทช. ต้องสั่งห้ามควบรวมกิจการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู กับ ดีแทค ที่มีผลทำให้ค่าดัชนี HHI เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 3,575 จุด เป็น 4,734 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,159 จุด หรือเกือบ 12 เท่า นั้น จะไม่อยู่ในลักษณะที่ กสทช. จะอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการกันได้ หากประกาศควบรวมธุรกิจ 2553 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประกาศควบรวมธุรกิจ 2553 ถูกยกเลิกไปในปี 2561 ที่กสทช. ได้ออกประกาศควบรวม ปี 2561 โดยในประกาศควบรวม ปี 2561 นั้น กำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้หรือไม่ ตาม ข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า
“การรายงานตามข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549”
กรณีจึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า การรายงานการรวมธุรกิจ ตามประกาศควบรวม ปี 2561 นั้น กำหนดให้เป็น “การขออนุญาต” เท่านั้น และมิได้กำหนดว่า การรายงานการรวมธุรกิจ “ถือว่าได้รับอนุญาตแล้ว” ดังนั้น เมื่อการรายงานการรวมธุรกิจ ตามนัยข้อ 5 แห่งประกาศควบรวม ปี 2561 ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามนัยข้อ 8 แห่งประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่ กสทช. เห็นว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการได้ ดังนั้น ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC กสทช. จึงมีอำนาจและหน้าที่อย่างเต็มที่ในการพิจารณา “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด ปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย
นอกจากนี้ กสทช. มีหน้าที่ในการนำกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ามาใช้ในการพิจารณา
เกี่ยวกับการควบรวมระหว่าง ทรู และ ดีแทค นั้น มาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็น “กฎหมายเฉพาะ” ที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า
“นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การอุดหนุนการบริการ
(2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน
(3) การใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม
(4) พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน
(5) การคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย
นอกจากนี้ เจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ยังได้ถูกนำมากำหนดไว้ในข้อ 3 แห่ง ประกาศป้องกันการผูกขาด 2549 ด้วย ซึ่งเป็นประกาศที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่า
“นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมตามประกาศนี้
การกระทำตามวรรคหนึ่ง อาจเป็นการกระทำโดยผู้รับใบอนุญาตเพียงรายเดียว หรือหลายรายร่วมมือกันก็ได้ และรวมทั้งร่วมมือกับบุคคลอื่นด้วย”
จากบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น กรณีจึงพิจารณาได้ว่า ในการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค นั้น นอกจากที่ กสทช. จะต้องพิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้ว ทรู และ ดีแทค รวมถึง TUC และ DTN ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า กล่าวคือ การควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าด้วย
ประการสำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับกฎหมายแข่งขันทางการค้ายังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรู และ ดีแทค ในระหว่างการเสวนา “ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค” เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ไว้ว่า การควบรวมธุรกิจดังกล่าว จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ กล่าวคือ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม และ พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า เพราะ พ.ร.บ. กิจการโทรคมนาคม บัญญัติให้กลับไปใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอยู่
ตั้ง 4 อนุฯ เดินหน้าโรดแมพสอบดีล
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการกสทช.เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2565 วานนี้ (27 เม.ย.65) ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ กสทช. ชุดใหม่ ที่มีนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ เป็นประธาน กสทช. โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงาน (โรดแมป) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้จัดโฟกัส กรุ๊ป เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ตลอดจนมอบหมายให้คณะทำงานของสำนักงาน กสทช. และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคมในระยะเวลาที่เร็วที่สุด
“ทาง กสทช. จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ครบถ้วน และรอบด้าน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยดูทั้งข้อกฎหมาย และผลกระทบในต้านต่างๆ ทั้งทางบวกและทางลบจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายวางใจ”
กมธ.ร่าย7ประเด็นกังขาควบรวม
ผู้สื่อข่าวรายงาน วานนี้ (27 เม.ย.) น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทคและการค้าปลีก - ค้าส่ง สภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด สผ 0018.11/2641 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอส่งข้อเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาให้ชะลอการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคออกไป โดยระบุว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการประชุมไปแล้ว จำนวน 10 ครั้ง
การประชุมได้มีการเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ได้แก่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เชอร์วิส (เอไอเอส) เพื่อร่วมให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการ และความคืบหน้าในการดำเนินการรวมธุรกิจ
ดังนั้น จึงได้พบว่าการดำเนินการของหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ยังมีข้อมูลและข้อเท็จจริงตลอดจนข้อกฎหมาย หลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนและสร้างความกังวลแก่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ และสังคม รวม 7 ข้อ ได้แก่
1.ดัชนีการกระจุกตัวอุตสาหกรรม (Herfndhal+lirsch man Index - HHI) พบว่า หากมีการรวมธุรกิจครั้งนี้ จะทำให้ค่า HHI สูงขึ้น มากกว่า 2,500 จุดและเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 1,000 จุด ส่งผลต่อสภาวะการแข่งขัน สุ่มเสี่ยงต่อการใช้อำนาจ เหนือตลาด แสดงถึงสัญญาณอันตรายในการลดการแข่งขันอย่างเสรี
2. ประเด็นด้านข้อกฎหมาย พบว่าตามประกาศ เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ข้อ 5 นั้น ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตแหรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการกสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนการดำเนินการ จากประเด็นข้อกฎหมายนี้มีความกังวลว่าเดิมทีก่อนมีประกาศกสทช. ปี 2561 กฎหมายมีการกำหนดให้ กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ตามประกาศฉบับนี้ซึ่งได้มีการแก้ไขในปี 2561 มีลักษณะเป็นการลดอำนาจของตัวเองมาเป็นการรับทราบรายงานแทน และมีอำนาจเพียงการออกมาตรการกำกับดูแลผลกระทบเท่านั้น
3.ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างคณะกรรมการ กสทช.ชุดเดิมและชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้มีอบอร์ดชุดใหม่แล้ว โจึงต้องการการพิจารณาจากบอร์ดชุดใหม่เพื่อประกอบการตัดสินใจอนุญาตการรวมธุรกิจครั้งนี้อย่างละเอียดรอบคอบ
4.ประเด็นการคัดเลือกที่ปรึกษาอิสระ ของ กสทช. พบว่าคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระนั้นอาจไม่มีความเป็นอิสระจริง 5.ประเด็นข้อมูลรายงานผลการศึกษาผลกระทบต่างๆไม่ทันสมัย ไม่มีความเป็นปัจจุบันและไม่ทันต่อบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
6.การกำหนดมาตรการของหน่วยงานกำกับดูแลที่จะดำเนินการในการควบคุมกำกับดูแลการรวมธุรกิจครั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อไม่ให้การรวมธุรกิจเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชนและประเทศชาติทั้งในระยะสั้นระยะยาว และ 7. ประเด็นข้อกังวลของสังคมและองค์กรต่าง ๆ เช่น หนึ่งในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ได้มีการยื่นหนังสือถึง กสทช. เรื่องขอให้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจที่กฎหมาย
ดังนั้น จากข้อมูลประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าหากมีการดำเนินการให้เกิดการรวมธุรกิจในห้วงเวลานี้ มีหลายประเด็นยังคงไม่ชัดเจน และมีข้อกังวลจากหลายฝ่าย ซึ่งอาจจะทำให้การรวมธุรกิจครั้งนี้เกิดผลเสียหรือส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ประชาชนผู้ใช้บริการและประเทศชาติโดยรวมในอนาคตได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน คณะกรรมาธิกรวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอมายังพล.อ.ประยุทธ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เพื่อพิจารณาขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้มีการชะลอการดำเนินการดังกล่าวออกไปก่อนจนกว่าจะมีข้อกฎหมาย ข้อมูลและแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่าจะสามารถปกป้องประเทศชาติและประชาชนจากผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ข้อกฎหมายชี้กสทช.อำนาจล้น
จากประเด็นกฎหมายที่กล่าวว่า พบว่า กสทช.ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการควบรวม เพราะกสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาสั่ง “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาตรา 60 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ตามที่บัญญัติว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ประกอบกับ มาตรา 274 กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่
นอกจากนี้ ตามหมวด 6 ว่าด้วย “แนวนโยบายแห่งรัฐ” มาตรา 75 วรรคแรก ยังได้บัญญัติไว้อีกว่า “รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ”
ถือเป็นสาธารณูปโภคสำคัญ
ในปัจจุบันกิจการโทรคมนาคมจัดเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งหมดรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เห็นได้จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 120,849,606 เลขหมาย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่จำนวน 66,171,439 คน หรือคิดเป็น 182% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
กสทช. ในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแล “คลื่นความถี่” รวมถึงการให้บริการโทรคมนาคม จึงมี “หน้าที่”ตามมาตรา 27 (11) แห่งพ.ร.บ.กสทช.ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันรวมถึงป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด ที่ไม่เป็นธรรมตามแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจาก กสทช. จะมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.กสทช. มาตรา 21 แห่งพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ว่าการประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม