เปิดรายชื่อบอร์ดกสทช.ฟูลทีมครบ7คน คาดพร้อมเดินหน้าสางเผือกร้อน

เปิดรายชื่อบอร์ดกสทช.ฟูลทีมครบ7คน คาดพร้อมเดินหน้าสางเผือกร้อน

หลังจากที่ 5 คนแรกได้รับการโปรดเกล้าฯไปแล้วเรียบร้อยและได้เข้าทำงานที่สำนักงานกสทช.เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อวานนี้วุฒิฯไปเลือกอีก 2 ด้านที่ยังว่างคือ โทรคมนาคม และ กฎหมาย จากผู้ยื่นใบสมัครทั้งสิ้น 28 ราย

วานนี้ (29 เม.ย.) สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านกิจการโทรคมนาคม และด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ด้านกฎหมาย) แทนผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. คือ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ และ ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ที่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติจากวุฒิสภา

ทั้งนี้ จากการเปิดแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน และวันที่ 29 เมษายน เป็นการลงมติ รายงานข่าวจากวุฒิสภาแจ้งว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กสทช. ได้แก่ ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราวัตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านกิจการโทรคมนาคม และ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ด้านกฎหมาย) จากผู้ยื่นใบสมัครทั้งสิ้น 28 ราย
 

สำหรับกสทช.อีก 5 คนที่สรรหาได้ก่อนนี้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ สำนักงาน กสทช. ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง) ศาสตราจารย์ พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์) นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) และรองศาสตราจารย์ ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์) ทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

โดยบอร์ดทั้ง 5 คนมีมติครั้งแรกในครั้งเมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเร่งพิจารณาดีลควบรวมระหว่างทรูและดีแทค ที่ยังเป็นประเด็นร้อนแรงของสังคมตอนนี้ 

เปิดรายชื่อบอร์ดกสทช.ฟูลทีมครบ7คน คาดพร้อมเดินหน้าสางเผือกร้อน เปิดรายชื่อบอร์ดกสทช.ฟูลทีมครบ7คน คาดพร้อมเดินหน้าสางเผือกร้อน


 

สำหรับ กสทช. ชุดนี้ นับเป็น กสทช. ชุดที่ 2 ที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี

กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวม ประวัติของกรรมการ กสทช.ทั้ง 5 ราย มีดังต่อไปนี้  

1.ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ 

เกิดวันที่ 6 มกราคม 2503 อายุ 61 ปี มีคู่สมรสคือ นางพิมพ์พร บุญใบชัยพฤกษ์ อายุ 57 ปี  มีบุตรด้วยกันสองคนคือ นางสาวป่านแก้ว บุญใบชัยพฤกษ์ อายุ 20 ปี และนางสาวแป้งร่ำ บุญใบชัยพฤกษ์ อายุ 20 
 
ประวัติการศึกษา 

-แพทย์ศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์หัวใจ Kaiser Permanente Medical Center, Los Angeles, California ประเทศสหรัฐอเมริกา 
-แพทย์เฉพาะทาง การสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยและรักษา Hospital of the Good Samaritan, Los Angeles,California ประเทศสหรัฐอเมริกา 
 
อาชีพปัจจุบัน 

-อาจารย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ
-อาจารย์ประจําสาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึง ปัจจุบัน)
-สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2562)
 
2.พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

เกิดวันที่ 24 มีนาคม 2506 ปัจจุบันอายุ 58 ปี เป็นบุตรของพลตรี สนิท หร่ายเจริญ ข้าราชการบํานาญ และนางทัศนีย์ หร่ายเจริญ ส่วนชีวิตคู่นั้น พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ สมรสกับนาวาอากาศเอกหญิง อุบลรัตน์ หร่ายเจริญ (รับราชการทหาร) อายุ 56 ปี 

การศึกษา

-ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งกองทัพสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ นครมิวนิค 
-ปริญญาโท สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งกองทัพสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ นครมิวนิค
-ปริญญาเอก สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
อาชีพปัจจุบัน 

รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-ผู้อํานวยการกองแผนและวิศวกรรม กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม (ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555) 
-รองเลขาธิการ กสทช. สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค (ตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2562) 
-รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค (ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ถึง ปัจจุบัน)

3.ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต 

เกิดวันที่ 13 สิงหาคม 2510 อายุ 54 ปี  เป็นลูกสาวของศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ ธีระ รามสูต (ข้าราชการบํานาญ) และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พันธุ์ทิพย์ รามสูต (ข้าราชการบํานาญ) 

มีคู่สมรส คือ ดร.นล รณะนันทน์ (พนักงานธนาคาร) 54 ปี  มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ นายอาศิร์ รณะนันทน์ อายุ 21 ปี นายพิรญาณ รณะนันทน์ อายุ 18 ปี และเด็กหญิงปาณขวัญ รณะนันทน์ อายุ 16  ปี 

ประวัติการศึกษา 

-อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-M.A. (Communication) University of Hawaii at Manoa ประเทศสหรัฐอเมริกา 
-Ph.D. (Communication) Simon Fraser University ประเทศแคนาดา 
 
อาชีพปัจจุบัน 

ศาสตราจารย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-Reporter-rewriter : หนังสือพิมพ์ The Nation (ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 ถึง พ.ศ. 2533) 

-อาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึง ปัจจุบัน) 
รองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2563)

4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ 

(ชื่อเดิม ต่อพงษ์) เกิดวันที่ 4 กรกฎาคม 2519 อายุ 45 ปี เป็นบุตรของนายไพบูลย์ เสลานนท์ (ข้าราชการบํานาญ) และนางเมตตา เสลานนท์ (ธุรกิจส่วนตัว) 

ประวัติการศึกษา 

-ครุศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
-ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตการพัฒนาสังคม การวิเคราะห์และวางแผนทางสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 
 
อาชีพปัจจุบัน 

ที่ปรึกษาประจํารองประธาน กสทช. 
 
ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2557) 
-สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) (ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2560) 
-กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ตามพระราชบัญญัติ แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๐ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ถึง ปัจจุบัน)
 
5.รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัช ศุภชลาศัย

เกิดวันที่ 11 มกราคม 2500 อายุ 64 ปี เป็นบุตรของนายประวิตร ศุภชลาศัย (ถึงแก่กรรม) และนางชลัช ศุภชลาศัย (ถึงแก่กรรม) มีคู่สมรสคือ นางภาวินี ศุภชลาศัย อายุ 61 ปี มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายกิตติภพ ศุภชลาศัย อายุ 25 ปี 

ประวัติการศึกษา 

-เศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยรามคําแหง
-M.A. (Agricultural Development Economics), Australian National University
-Ph.D. (Economics), Australian National University 
 
อาชีพปัจจุบัน 

ผู้อํานวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

-อาจารย์ประจําคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึง พ.ศ.2560)
-กรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ถึง พ.ศ. 2547)
-กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ถึง พ.ศ. 2555

6.ศาสตราจารย์อภิรัฐ ศิริธราวัตร 
อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านกิจการโทรคมนาคม 
โดยจบการศึกษา Ph.D., Electrical Engineering, Manchester University UK ปี 2541 และ วศ.บ., วิศวกรรมไฟฟ้า, มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไทย ปี 2535

7.พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร 
จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 37 และสำเร็จการศึกษาในปี 2527

รองสารวัตร สืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน

รองสารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลบางรัก

รองผู้กำกับการสายตรวจรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 191 ผู้กำกับการศูนย์คอมพิวเตอร์ สำนักงานนโยบายและแผน

รองผู้บังคับการสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ และผู้งคับการสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ

ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 2 ดูแลท่าอากาศยานหลักทั่วประเทศ และปี 2558 ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต่อมาในปี 2560-2563 ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเลื่อนเป็นที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 จะพิจารณารายงาน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหา กสทช.ลงนาม เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา โดยให้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับความเห็นชอบ ก่อนกลับเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ให้มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อไป