อว. เดินหน้า ใช้ "BCG" เพิ่มมูลค่า "ผ้าทอทุ่งกุลาร้องไห้"
กระทรวง อว. ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ พัฒนาเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ทดแทนการใช้สารเคมี ช่วยทำความสะอาดเส้นใย และเพิ่มประสิทธิภาพการติดสีธรรมชาติของผ้าทอ
ทุ่งกุลาร้องไห้ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องข้าวหอมมะลิที่นุ่มหอมไม่เหมือนใคร แต่ทุ่งราบกว้างใหญ่แห่งนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องของผ้าทอที่มีความวิจิตรงดงาม มีลวดลายการทอผ้าที่แตกต่างหลากหลายตามภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าที่เข้มแข็งของผู้คนจากหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์
วิธีการย้อมสีธรรมชาติมีความเป็นอัตลักษณ์ เช่น 'ผ้าทอเบญจศรี' ของจังหวัดศรีสะเกษอันเลื่องลือ ที่นำวัตถุดิบสำคัญของจังหวัด 5 ชนิด ได้แก่ ผลมะเกลือ ดินปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ดินทุ่งกุลา ใบลำดวน เปลือกไม้มะดัน ใช้ย้อมสีผ้าให้มีสีสันหลากหลาย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ภายใต้กิจกรรม สวทช. เสริมแกร่งภูมิภาค ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG "ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้"
นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าไปต่อยอดพัฒนาฐานทุนอันเป็นจุดแข็งของทุ่งกุลาร้องไห้ให้สามารถสร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศษฐกิจ BCG ที่มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีรายได้พ้นความยากจน
ดร.เอนก กล่าวว่า ทุ่งกุลาร้องไห้เวลานี้ไม่ร้องไห้แล้ว แต่เป็นกุลาม่วนชื่น ประชาชนมีความเข้มแข็งในการสร้างอาชีพพื้นถิ่นของตนเองจากฐานทุนทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์มาช้านาน ประกอบกับกระทรวง อว. ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอในพื้นที่
สวทช. พัฒนาเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) สารชีวภาพที่ผลิตจากเชื้อจุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมี ช่วยทำความสะอาดเส้นใย และเพิ่มประสิทธิภาพการติดสีธรรมชาติได้ดีขึ้น ทำให้ลดเวลาการย้อมสี ลดต้นทุนการฟอกย้อม รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังได้นำนาโนเทคโนโลยีเพิ่มสมบัติพิเศษให้ผ้าทอมีกลิ่นหอมของดอกลำดวน ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เพิ่มอัตลักษณ์แก่ผ้าทอเบญจศรีของดีศรีสะเกษให้พิเศษมากขึ้น
กลุ่มเสื้อเย็บมือผ้าไหมลายลูกแก้ว ย้อมมะเกลืออบสมุนไพรบ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตผ้าไหมที่ได้รับการส่งเสริมเพิ่มมูลค่าผ้าทอด้วยนวัตกรรม ผ้าไหมลายลูกแก้ว โดดเด่นด้วยผ้าทอที่ย้อมสีดำธรรมชาติด้วยมะเกลือที่มีความเงางาม ผ้าจะมีสีดำสนิทต้องใช้เวลามากกว่า 1-2 เดือน เพราะภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอีสานใต้ต้องย้อมซ้ำหลายครั้งและใช้เวลานาน
ฉลวย ชูศรีสัตยา ประธานศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาหม่อนไหมผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง กล่าวว่า เมื่อก่อนใช้ระยะเวลาย้อมผ้านาน ก็คิดว่าทำอย่างไรจะลดเวลาในการย้อมผ้าได้บ้าง กระทั่งทางนักวิชาการและนักวิจัยจาก สวทช. ได้เข้ามาส่งเสริมการใช้เอนไซม์เอนอีซ ถือว่าได้ผลดี ช่วยลดระยะเวลา ลดขั้นตอน ผ้าที่ได้ติดสีสม่ำเสมอ สีผ้ามีความเข้ม และเงางาม เพิ่มโอกาสการขายผ้าทอได้มากขึ้น ได้นวัตกรรมตัวใหม่มาเสริมกับภูมิปัญญา
"จากเดิมย้อมผ้าด้วยมะเกลือซึ่งให้สีดำ กว่าจะย้อมผ้าได้สีดำสนิทต้องจุ่มผ้ากับมะเกลือแล้วก็เอาไปตาก ทำแบบนี้สลับไปเรื่อย ๆ ใช้เวลากว่า 2 เดือน พอมาใช้เอนไซม์เอนอีซในการทำความสะอาดผ้าก่อนการย้อม ก็ช่วยให้การย้อมผ้าติดสีไวดีขึ้น จากต้องตากถึง 60 แดด 300 จุ่ม เหลือแค่ 30 แดด ประมาณ 1 เดือน"
เช่นเดียวกับ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ขึ้นชื่อเรื่องการถักทอผ้าไหมลายลูกแก้วและผ้าทอเบญจศรี ผ้าทอแห่งนี้ไม่เพียงใช้เอนไซม์เอนอีซในการย้อมผ้า แต่ยังนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มความนุ่มลื่น เพิ่มกลิ่นหอมของดอกลำดวนให้ผ้าทอด้วย
สิทธิศักดิ์ ศรีแก้ว ประธานกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้าง กล่าวว่า กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านหัวช้างเป็นทายาทหม่อนไหมรุ่นที่ 4 ผ้าทอที่ทำเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติจากวัตถุดิบในศรีสะเกษ เช่น ดอกลำดวน มะเกลือ ไม้มะดัน เมื่อก่อนจะย้อมตามวิถีชาวบ้าน บางครั้งสีที่ได้ก็ไม่สม่ำเสมอ ใช้เวลานาน แต่กระทรวง อว. และ สวทช. ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนเอนไซม์เอนอีซ ทำให้ผ้าไหมติดสีดี ติดทน อีกทั้งไม่มีสารเคมีที่มาทำลายคุณภาพเส้นไหม ทำให้ผ้าไหมที่ได้มีความนุ่มเงา ถูกใจลูกค้าเป็นอย่างมาก
"อัตลักษณ์ที่สำคัญ คือ ศรีสะเกษ เป็นเมืองดอกลำดวนบาน กระทรวง อว. ยังได้เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องกลิ่นหอมให้ผ้าทอ โดยใช้นาโนเทคโนโลยีมาเคลือบกลิ่นดอกลำดวนไว้บนผ้า ทำให้เวลาเราสวมใส่ เราสัมผัส หรือเวลาเดิน ผ้าจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกลำดวน ถือเป็นอีกอรรถรสหนึ่งที่ช่วยเพิ่มมูลค่าผ้าทอเบญจศรีของดีศรีสะเกษได้ดียิ่งขึ้น"
ดร.ณรงค์ เสริมว่า การทำงานในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ อยากฝากนักวิจัย นักวิชาการและคณาจารย์ไว้กับเกษตรกรชาวบ้านในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ให้มองพวกเขาเป็นลูกหลานแล้วทำงานด้วยกัน เพื่อนำสิ่งดี ๆ เข้ามาในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ เปลี่ยนสิ่งที่ทำไม่ได้ ให้ทำได้ต่อไป
นับเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผสมผสานภูมิปัญญา พัฒนาผ้าทอของทุ่งกุลาร้องไห้ ให้มีเสน่ห์และคงความเป็นอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ