‘รัฐ-เอกชน’ ดันขีดแข่งขันดิจิทัลไทย ปลุกธุรกิจจับสัญญาณ 'ทรานส์ฟอร์ม'

‘รัฐ-เอกชน’ ดันขีดแข่งขันดิจิทัลไทย ปลุกธุรกิจจับสัญญาณ 'ทรานส์ฟอร์ม'

งานสัมมนา Thailand Digital Fast Forward จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์ มีเวทีเสวนา หัวข้อ Digital Thailand Competitiveness โดยมี บอร์ด กสทช. , ดีจีเอ รวมถึงบริษัทดิจิทัลชั้นนำ บลูบิค แอคเซนเชอร์ และไลน์บีเค ในหัวข้อ Digital Transformation Empower your Business

งานสัมมนา Thailand Digital Fast Forward ที่จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์ ในเครือ เนชั่น กรุ๊ป มีเวทีเสวนา หัวข้อ Digital Thailand Competitiveness มี "ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ" คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ,"สุพจน์ เธียรวุฒิ" ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือดีจีเอ (DGA) รวมถึงบริษัทดิจิทัลชั้นนำร่วมเปิดมุมมอง Digital Transformation Empower  your Business ประกอบด้วย บลูบิค เอคเซนเชอร์ และไลน์บีเค 

กสทช.เร่งบทบาทส่งเสริมอุตฯ

ธนพันธุ์ กล่าวว่า กสทช.ทั้ง 5 คนเป็นคนเสนอตัวเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ ดังนั้น แม้การทำงานของ กสทช.กำลังเป็นที่จับตาของจากสังคมและจากหลายภาคส่วน เพราะกสทช.ได้รับการสรรหามาตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น การทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่
 

สำหรับแนวทางการทำงานของ กสทช. ยุคที่ดิจิทัลดิสรัปชั่นแทรกซึมไปอยู่ในทุกๆ อย่าง ต้องพยายามปรับขอบเขตการทำงานให้เป็นไปตามบริบทที่เปลี่ยนไปจากการ “กำกับดูแล” ต้องหันมา “ส่งเสริม” อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ต้องมองไปที่ลาสไมล์ที่เข้าถึงประชาชน เมื่อมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีแล้ว มีอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว ต้องเข้าถึงบริการที่ดีราคาที่เหมาะสมด้วย 

ที่ผ่านมากสทช.ก็ทำงานคู่ขนานไปกับภาครัฐที่มีบริการเน็ตประชารัฐ เพื่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ในส่วนของสำนักงาน กสทช.เองก็มีโครงการยูโซ่ เพื่อบริการในพื้นที่ห่างไกลด้วย
 

“ช่วงเริ่มต้นของการทำงานของ กสทช.ในช่วงที่ผ่านมา ก็มุ่งในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เข้าถึงประชาชนทั้งผ่านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่านมาจนถึงวันนี้แล้วมีการประมูลตั้งแต่ 3จี 4จี มาถึง 5จี สิ่งที่เราต้องทำจากนี้ คือ เพิ่มการเข้าถึงไปยังประชาชนในทุกๆพื้นที่ ให้ได้รับบริการที่ดีในราคาเข้าถึงได้”

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กล่าวอีกว่า การทำงานหลังจากที่ได้รับตำแหน่งมานั้น บอร์ดกสทช.มีการสั่งให้สำนักงาน กสทช.ไปรวบรวมประกาศฯ กสทช.ให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้การทำงานต่อจากนี้ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังต้องวางแผนเปลี่ยนผ่านในส่วนที่เป็นกิจการวิทยุ และกิจการดาวเทียมให้เข้าสู่การเปลี่ยผ่านเป็นดิจิทัลให้ได้โดยเร็ว เพราะอย่างกิจการวิทยุนั้น มีมาตั้งแต่ 80 ปีที่แล้ว เปลี่ยนจาก AM มาเป็น FM แต่ก็ยังไม่เข้าสู่บริการดิจิทัลเท่าที่ควรจะเป็นดังนั้น กิจการวิทยุจึงควรต้องปรับตัวมากขึ้น เพื่อไม่ให้ล้มหายไปจากอุตสาหกรรมเหมือนอย่างโทรเลข

ทั้งยังมีเรื่องการส่งเสริมเปิดเสรีวงโคจรดาวเทียม สำนักงาน กสทช. ได้ไปดำเนินการปรับปรุงการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจที่จะมีเอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมในการประมูลวงโคจรดาวเทียมหากมีการจัดสรรในอนาคต

เขา กล่าวว่า ที่ผ่านมาการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เดิมนั้น จะถือเป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตและเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการอนุญาต โดยสัมปทานดาวเทียมไทยคมถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทยที่จะสิ้นสุด ส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมที่มีความก้าวกระโดดทั้งในส่วนของดาวเทียม บรอดแคสต์และบรอดแบนด์ต่อไป

‘ดีจีเอ’ เร่งยกระดับบริการดิจิทัล

นายสุพจน์ กล่าวว่า ภาพรวมและนโยบายของ ดีจีเอ ในการเดินหน้าพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องขีดความสามารถแข่งขันนั้น ภาครัฐมีความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทุกหน่วยงานต้องปรับตัวเป็นรัฐบาลดิจิทัล ในความหมาย คือ นำเทคโนโลยีมาใช้ในภาครัฐเพื่อยกระดับ เปลี่ยนโฉมการทำงานใหม่เข้าสู่ระบบดิจิทัล

สำหรับเป้าหมาย แผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลรัฐบาลดิจิทัล ระบุชัดเจนว่า ต้องลดความเลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการและสวัสดิการ ด้วยข้อมูลและบริการผ่านทางดิจิทัล เพราะอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) โดยองค์กรสหประชาชาติดีขึ้น 10 อันดับ (ปี 2565 อยู่ที่อันดับ 57) มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ด้วยการปรับปรุง ข้อมูลตามกรอบธรรมภิบาบข้อมูลภารัฐ และ เปิดเผยแก่ประชาชนทางดิจิทัล โดยอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น (CPI) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติดีขึ้น 3 อันดับ (ปี 2563 อันดับ 104)

นอกจากนี้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาบริการของภาครัฐ และ กำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ ด้วยการเสนอความคิดด้านนโยบาย หรือ ประเด็น การพัฒนาประเทศผ่านดิจิทัล ปัจจุบันอันดับดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (EPI) ดีขึ้น 10 อันดับ (ปี 2563 อยู่ที่อันดับ 51)

ปัจุจุบันระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) มียอดดาวน์โหลดแอปพลิคชัน “ทางรัฐ” จำนวน 209,756 ครั้ง เพิ่มขึ้น 156% จำนวน 53 บริการ มีผู้ใช้งาน 90,517 ครัั้ง และ ปริมาณการใช้งานอยู่ที่ 1,517,978 ครั้ง

“ภายใน 5 ปี หลังจากนี้ระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐจะยกระดับขึ้นเป็นเบอร์สองของอาเซียน เหตุผลเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมโยงโครงข่ายไว้จุดเดียว ทุกอย่างจะสำเร็จได้ภาครัฐ ภาคประชาชน และ เอกชน ต้องร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน"

นายสุพจน์ ยังกล่าวอีกว่า ดังนั้นเป้าหมายของ DGA คือ การสร้างบ้านร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ,สำนักงานข้าราชการและพลเรือน หรือ กพ. และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. ทำอย่างไรให้ใช้แพลทฟอร์มให้บริการเพียงจุดเดียวไม่ให้กระจัดกระจาย เพื่อให้บริการทางด้านออนไลน์ ซึ่งขณะนี้ DGA ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐบูรณาการณ์สิ่งเหล่านี้ร่วมกันให้เกิดประสิทธิและเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันมากขึ้นต่อไปตามลำดับ

“เอคเซนเชอร์”แนะ6สัญญาณเทคฯ 

ปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่ ต้องมองเห็นสัญญาณทางเทคโนโลยี และต้องรู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถบอกอะไรเราได้บ้าง อนาคตที่จะเกิดขึ้น มีใครทำอะไรไปบ้างแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรใหม่ๆ สามารถแคปเจอร์ภาพเทคโนโลยีที่น่าสนใจ มาสร้างอนาคตของธุรกิจ จนสามารถทำให้ธุรกิจของเขาสามารถต่อยอดและไปได้เร็วกว่าคนอื่น ซึ่งเอคเซนเชอร์ได้ทำเซอร์เวย์ในกว่า 20 ประเทศ พบว่า มี 6 สัญญาณที่น่าสนใจ (Signals of Change)

ทั้งนี้ 6 Signals of Change ประกอบด้วย 1.Learning From the Future การเรียนรู้ข้อมูลในอนาคต แล้วนำมาสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบริการหรือสินค้าให้ตอบสนองผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด เช่น สตาร์บัค นำเทคโนโลยีหลากหลายมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ เช่น ข้อมูลภูมิอากาศ พฤติกรรม หรือเทรนด์ในอนาคต มาปรับแต่งให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า เช่น ในขณะที่ฝนตก ลูกค้าเข้ามาในร้านเขาจะเข้าสั่งเครื่องดื่มที่มีน้ำแข็งไหม เป็นต้น

2.Pushed to the Edge ทำอย่างไรให้ข้อมูลการตัดสินใจ ใกล้กับจุดที่ต้องการตัดสินใจมากที่สุด เช่น โคคา โคล่า ตั้งตู้ให้ลูกค้ากดผสมสูตรเอง มันไม่ใช่แค่กิมมิก แต่เป็นการดูเทรนด์ว่าจะเป็นอย่างไร และเรียนรู้พฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภค การที่จะตัดสินใจ เขาก็จะมาข้อมูลที่เป็นเน็ตเวิร์คนี้ สามารถมาปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้ใกล้กับความเป็นจริงที่ลูกค้าต้องการ มากที่สุด

3.Sustainable Purpose นำเรื่อง Sustainability มาเชื่อมต่อกับองค์กร ผสมผสานกับการให้บริการ เพราะนั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ต้องการ

4.Supply Unbounded จากปัญหาซัพพลายเชน วันนี้หลายๆ องค์กร มองว่า เมื่อซัพพลายมีปัญหา ก็ต้องหาพาร์ทเนอร์มาช่วยลดทอนปัญหานั้นลง รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การขนส่ง และอื่นๆ เพื่อลดระยะทางการขนส่ง

5.Real Virtualities การนำ Virtual มาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างประสบการณ์สนับสนุนบริการหรือสินค้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

6.The New Scientific Method การนำเรื่องวิทยาศาสตร หรือนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม สร้างให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ เช่น การที่เสียงเครื่องบินรบกวนผู้พักอาศัยใกล้ๆ สนามบิน ก็หาวิธีการนำเสียงรบกวนนั้น มาแปลงเป็นพลังงาน แล้วนำกลับมาใช้ในสนามบินแทน หรือ ปัญหาการขาดแคลนหน้ากาอนามัย ในช่วงโควิดเริ่มแรก ก็มีการนำเทคโนโลยี 3D พริ้นติ้ง มาทำให้ให้ปลายทางสามารถนำรูปแบบหน้ากากอามัยนั้น มาพริ้นได้ปลายทาง โดยไม่ต้องจัดส่งหน้ากากมา เป็นต้น

องค์กรต่างๆ สามารถนำสัญญาณ 6 อย่างนี้ มาสร้างให้เกิดประโยชน์กับองค์กร นำเทรนด์ในอนาคตมาตอบโจทย์ทางธุรกิจให้แม่นยำยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเรื่อง Net Zero ที่แต่ละองค์กรต้องมีแผนงาน เพื่อนำไปสู่จุดหมายนั้น และส่วนหนึ่งที่ทำให้จุดหมายนั้นสำเร็จได้ คือ การนำเรื่องวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาปรับใช้ พร้อมยึดหลักเรื่องของความยั่งยืนเป็นพื้นฐาน

บลูบิคเปิดเทคนิคสร้างธุรกิจเข้มแข็ง

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป (Bluebik) กล่าวว่า สิ่งสำคัญมากขณะนี้คือ การทำธุรกิจให้มีความแข็งแรง เพราะธุรกิจเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันทุกธุรกิจมีการแข่งขันกันแบบข้ามพรมแดน ยกตัวอย่างคือ เฟสบุ๊ค เน็ตฟลิกซ์ ที่เป็นของบริษัทต่างประเทศ หรือแม้แต่ธุรกิจที่เข้ามา Disruption วงการอาหาร เช่น แกร๊บ หรือ วงการการเดินทาง หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ที่หลายๆ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการไม่ใช่บริษัทคนไทย

“ปัจจุบันเราไม่เห็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าตลาดเมืองไทยเป็นอย่างไร ตลาดเมืองนอกเป็นอย่างไร แต่ทุกธุรกิจมีการแข่งขันข้ามพรมแดนมาตลอด การแข่งขันของธุรกิจวันนี้ ไม่ว่าจะแข่งในไทยหรือในต่างประเทศ เราต้องมองถึงการแข่งขันในระดับ global scale หรือ ระดับโลก” พชร กล่าว

พชร กล่าวถึงการสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ คือ การลงทุนใน Cloud Computing ที่มองว่าบริษัทจำเป็นต้องย้ายโครงสร้างบางส่วนของธุรกิจมาอยู่บน Cloud เพราะสามารถช่วยลดต้นทุน และการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงการสูญเสียโอกาส และสร้างความยืดหยุ่นให้ธุรกิจ

ยกตัวอย่าง ในอดีตการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ จะต้องลงทุนในเรื่องของฮาร์ดแวร์ค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันสามารถย้ายข้อมูลขึ้นมาอยู่บน Cloud ซึ่งทำให้ลดข้อจำกัดเดิมๆ ในเรื่องของต้นทุน โดยธุรกิจสามารถจ่ายเท่าที่ใช้ และลดต้นทุนในช่วงที่ไม่ได้ใช้ เช่น ช่วงกลางคืนที่ธุรกิจไม่ได้ให้บริการก็ไม่ต้องเสียเงินจ้างบุคคลากรมาคอยเฝ้า ขณะที่ช่วงกลางวันที่ให้บริการหรือในช่วงที่มีการใช้บริการในปริมาณมากๆ Cloud Computing ก็จะสามารถปรับเพื่อรองรับการให้บริการในช่วงพีคได้

ขณะที่การลงทุนในเรื่องของ Cybersecurity ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งปัจุจบันภัยไซเบอร์ไม่เพียงแต่มุ่งโจมตีขโมยข้อมูล แต่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งหากธุรกิจถูกโจมตี จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างแน่นอน

ยกตัวอย่าง กรณี เหรียญ LUNA ซึ่งเป็นเหรียญที่มีมูลค่ามหาศาล แต่เนื่องจากยังมีช่องโหว่ของอัลกอริทึม ที่ทำให้เกิดช่องโหว่ในการโจมตี ท้ายที่สุดส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มูลค่าของเหรียญหายไปกับตา

บิ๊กดาต้า และ AI เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่าง ปัจจุบันสามารถนำรูปภาพ หรือไฟล์เสียงต่างๆ รวมทั้งคลิปวิดีโอ และใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเรื่องธุรกิจได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ธุรกิจควรมีการทำงานแบบ Agile ที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้แบบ Cross-functional คือการที่บุคคลจากหลายสายงานสามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้โปรเจคหนึ่งสำเร็จขึ้นได้ ซึ่งทำให้การทำงานเป็นแบบ Self-Organizing ส่งผลให้องค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งธุรกิจต้องเป็นแบบ hybrid workplace มากขึ้น คือสามารถทำงานได้ทั้งที่บ้านและที่ออฟฟิศ

พชร กล่าวด้วยว่า ธุรกิจปัจจุบันไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ธุรกิจที่เก่งจะสามารถหาพาร์ทเนอร์ และดึงศักยภาพของธุรกิจตัวเองไปร่วมมือกับธุรกิจอื่นได้ หรือที่เรียกว่า API Economy คือ การเชื่อมต่อเชิงแอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจสามารถเปิด API เพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นอื่นได้

“การพัฒนาอะไรขึ้นมา ควรสร้างในสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ เช่น หากขายรถ 1 คัน เราต้องมองต่อว่า ลูกค้าต้องการซื้อประกัน และต้องการกู้เงิน ซึ่งทั้งหมดไม่จำเป็นต้องมาจากบริษัทเดียวกัน แต่เราสามารถร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงธุรกิจ และทำให้เกิดบริการที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อมากขึ้น” 

พชร กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ถ้ามองว่าใช้งบเท่าไหร่ จะทำให้เกิดการเสียดายเงิน แต่หากมองไปข้างหน้าว่า หากไม่ทำหรือไม่ลงทุนเพิ่มแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเสียอะไรบ้าง หรือเสียโอกาสอะไรบ้าง หรือเสียหายเท่าไหร่ แล้วจะเห็นงบและความจำเป็นที่เราต้องลงทุน

ไลน์ บีเค ชี้ 3เทรนด์มาแรงโลกการเงิน

ธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด หรือ LINE BK กล่าวว่า กว่า 2ปีที่ผ่านมาท่ามกลางระบาดของโควิด-19 โลกการเงินที่นำเทคโนโลยีมา เพิ่มความสะดวกสบายกับการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะ “โมบาย แบงก์กิ้ง” ที่มีผู้บริโภคเข้าถึงบริการประมาณกว่า 70 ล้านบัญชีเมื่อปลายปีที่แล้ว

เห็นได้จาก 3 เทรนด์หลักที่ผูกโลกการเงินกับดิจิทัล ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงโลกการเงินกับดิจิทัล หรือ FINTEGRATION 2.ระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อกับโลกกาเงินหรือFINCOSYSTEMS และ 3.การเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือ FINCLUSIVITY

“วันนี้เรามีวิกฤติโควิด วิกฤติเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและอาหารแพง แม้จะสู้ชีวิตแต่คนไทยยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินอีก โดยเฉพาะการมีสินเชื่อนอกระบบอีกมาก เกือบ 10%ของสินเชื่อครัวเรือนประมาณ 10ล้านล้านบาท ที่น่ากลัวที่สุดสินเชื่อนอกระบบยังคิดดอกเบี้ยในอัตราที่แพงประมาณ 20%ต่อเดือน ซึ่งหากไม่เข้าใจลึกซึ้งจะติดกับดักหนี้”