ม.สวนดุสิต ผุด ‘หอมขจรฟาร์ม’ แลนด์มาร์คใหม่เมืองสุพรรณบุรี

ม.สวนดุสิต ผุด ‘หอมขจรฟาร์ม’ แลนด์มาร์คใหม่เมืองสุพรรณบุรี

ม.สวนดุสิต นำร่องแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัย “หอมขจรฟาร์ม” ในพื้นที่ อ.เมืองสุพรรณบุรี เน้นผักสวนครัว และไม้ผล โดยเฉพาะเมลอนสายพันธุ์ญี่ปุ่น ชี้ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ยครัวเรือนละ 1.8 หมื่นบาท

เฉลิมชัย แสงอรุณ ผู้อำนวยการกองอาคารสิ่งแวดล้อม ม.สวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เปิดเผยถึงการสนับสนุน “หอมขจรฟาร์ม” เป็นโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะบนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรแนวใหม่ โดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาถ่ายทอดแก่เกษตรกรในชุมชน 

เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน หวังยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากนี้ยังเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของสุพรรณบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถมาพักผ่อนได้อีกด้วย

โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา ม.สวนดุสิต โดยทำความร่วมมือกับ จ.สุพรรณบุรี และหน่วยงานภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) รวมทั้งโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) 

ม.สวนดุสิต ผุด ‘หอมขจรฟาร์ม’ แลนด์มาร์คใหม่เมืองสุพรรณบุรี

เพื่อพัฒนาโครงการให้เป็นแหล่งความรู้ ศึกษาดูงานของเกษตรกร และนักเรียน นักศึกษา ซึ่งพื้นที่ของหอมขจรฟาร์มประสบปัญหาดินเค็ม ทำให้น้ำมีความเค็มด้วยเป็นอุปสรรคในการเพาะปลูก

จึงต้องหาข้อมูลการเพาะปลูกพืชที่ทนทานต่อปัญหาดังกล่าว จากการทดลองพบว่า อินทผลัมพันธุ์บาฮีสามารถให้ผลผลิตที่ดี นอกจากนี้ยังมีต้นมะม่วงหาวมะนาวโห่ ว่านหางจระเข้ เลมอน และเมลอน

ที่มาของชื่อโครงการมาจากดอกขจรซึ่งเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยพื้นที่ของหอมขจรฟาร์มแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ “โรงเรือนอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยทั้งต้นแบบโรงเรือนอัจฉริยะ แบบกึ่งอัจฉริยะ แบบปกติทั่วไป และโรงเรือนขนาดเล็กสำหรับบริการวิชาการแก่ชุมชน

ม.สวนดุสิต ผุด ‘หอมขจรฟาร์ม’ แลนด์มาร์คใหม่เมืองสุพรรณบุรี

ทั้งนี้ ได้สาธิตการปลูกเมลอนสายพันธุ์ญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี มีรายได้ ตอบโจทย์การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ยังมี “สวนหอมขจร” อันเป็นพื้นที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำการเกษตร โดยเน้นพืชผักสวนครัวและไม้ผลต่างๆ เช่น อินทผลัมซึ่งให้ผลผลิตดีในพื้นที่ ที่เป็นดินเค็มและน้ำกร่อย 

หอมขจรคอสเมติก” นำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกรดพรีเมียมทั้งหมด เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เจลอาบน้ำ เจลล้างมือ ซึ่งใช้วัตถุดิบจากว่านหางจระเข้ปลอดสารเคมีที่มีสารอโลเวร่าช่วยสร้างความชุ่มชื้นแก่ผิว

แปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืช” จำพวกไม้หายาก เป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการทำการเกษตรแบบง่ายๆ โดยร่วมกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมกว่า 20 ชนิด

และเตรียมจดทะเบียนเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายแกนกลางของภาคกลางในการอบรมเรื่องการเกษตรปลอดภัยแบบครบวงจร นอกจากนี้ยังนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหาร และในอนาคตจะทำเป็นเครื่องดื่มสุขภาพตามสไตล์สวนดุสิตส่งตรงถึงบ้าน

“เราต้องการยกระดับสินค้าการเกษตรของ จ.สุพรรณบุรี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการเกษตรมูลค่าสูง โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาคีหลากหลายด้าน ทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย”

ทาง ม.สวนดุสิตจะรับซื้อผลผลิตเมลอนจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ในปี 2565 ได้เริ่มนำร่อง 4 ครัวเรือนในพื้นที่ 4 ตำบลในเขต อ.เมืองสุพรรณบุรี

ม.สวนดุสิต ผุด ‘หอมขจรฟาร์ม’ แลนด์มาร์คใหม่เมืองสุพรรณบุรี

ขณะนี้ขยายผลเพิ่มเติมรวมเป็น 8 ครัวเรือน ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ลงทุนสร้างโรงเรือนขนาด 72 ตารางเมตร มูลค่า 5.5 หมื่นบาท ให้ก่อนแล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย สามารถปลูกเมลอนได้ 180 ต้นต่อโรงเรือน โดยใช้ขุยมะพร้าวและกาบมะพร้าวเป็นวัสดุปลูกเพื่อป้องกันโรคทางวัสดุปลูก

ขณะเดียวกันก็ประมาณการรายได้จากการปลูกเมลอนเฉลี่ย 1.8 หมื่นบาทต่อครัวเรือน ภายใน 1 ปีปลูกได้ 3 ครั้ง ส่วนในฤดูฝนจะสลับไปปลูกผักสลัดและมะเขือเทศแทน นับเป็นทางเลือกที่ดีแก่เกษตรกรที่ต้องการเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชที่ไม่ต้องใช้ปริมาณน้ำเยอะเกินไป โดยใช้น้ำเพียงวันละ 1.5 ลิตรต่อต้นเท่านั้น

ธนากร บุญกล่ำ เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเมลอนว่าควบคุมด้วยระบบ IoT และได้รับมาตรฐาน GAP เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเมลอนเกรดพรีเมียม

นอกจากนี้ยังมีว่านหางจระเข้ที่เริ่มโครงการมาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว เนื่องจากปลูกได้ในทุกสภาพดิน และนำสารสกัดสำคัญไปเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งเลมอนพันธุ์ฮาวายที่ปลูกในบ่อซีเมนต์เพื่อควบคุมการตัดแต่งทรงต้น ง่ายต่อการจัดการและเก็บเกี่ยว โดยใช้ระบบน้ำสปริงเกอร์ทำให้ใช้น้ำไม่มากในการเพาะปลูก 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์