Brainpower Thailand ทัศนะพัฒนากำลังคนเพื่ออุตสาหกรรมอนาคต
สอวช. หนุน “การพัฒนาคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ในงาน “BRAINPOWER THAILAND 2022” บุญเปิดบ้านแปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเวทีเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “ทิศทางและระบบการพัฒนากำลังคนของประเทศ” ในงาน “BRAINPOWER THAILAND 2022” บุญเปิดบ้านแปงเมือง สร้างคนข้ามพรมแดน สู่อุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต
จัดโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภูมิภาค
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลงานของ บพค. เชื่อมโยงไปสู่แนวทางการบริหารจัดการทุนจากแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566-2570 อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือข่ายการพัฒนากำลังคนในระบบนิเวศ ววน. ของประเทศไทยด้วย
นอกจากนี้ ดร. กิติพงค์ กล่าวถึงการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายของประเทศ และกระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับ 3 เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจแรกที่เป็นเศรษฐกิจกระแสหลักคือ เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งหมายถึงภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เศรษฐกิจส่วนที่สองที่กำลังจะฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายคือ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการท่องเที่ยว ที่ถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญของจีดีพี และเศรษฐกิจสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือเศรษฐกิจท้องถิ่น
การจะขับเคลื่อนทำให้ทั้ง 3 เศรษฐกิจนี้ได้นั้น ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับ 3 เรื่องที่สำคัญ เรื่องแรกคือ การขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ต้องสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีให้ได้ 12,500 ดอลลาร์
ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 7,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี และเมื่อคิดเป็นรายได้รวมของประเทศ จะต้องทำรายได้ให้ได้ 27.33 ล้านล้านบาท ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท จึงต้องไปคิดต่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนตรงนี้ได้อย่างไร
เรื่องต่อมาที่ไทยจะต้องเผชิญในทางเศรษฐกิจคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
บพค. มองเห็นความสำคัญในการพัฒนากำลังคนในด้านนี้ หากมีตลาดซื้อขายคาร์บอนก็จะต้องมีคนที่สามารถทำเรื่องการรับรองมาตรฐานของคาร์บอนเครดิตได้ แต่ประเทศไทยยังไม่มี
และต่อไปจะมีเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen Economy) เป็นต้น
ในมุมของ ดร. กิติพงค์ มองว่า เทคโนโลยีเหล่านี้ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้วย คือ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ แต่ไม่มีกำลังคนเพียงพอ จึงต้องมีการพัฒนากำลังคนรองรับเพื่อให้ประเทศสามารถอยู่รอดได้
สำหรับเรื่องที่สาม เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจท้องถิ่น หรือ Local Economy ในเรื่องการขับเคลื่อน Social Mobility ที่มองถึงการยกสถานะของคนที่อยู่ฐานรากขึ้นมา ตั้งแต่การยกสถานะทางเศรษฐกิจ และยกสถานะทางด้านอื่น ๆ เช่น ด้านสังคม ความรู้ การศึกษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ด้านการดำเนินงาน ประเทศไทยได้เลือกเรื่องที่จะขับเคลื่อนในการนำไปปฏิบัติจริง เช่น บีซีจี (BCG), อุตสาหกรรมขั้นแนวหน้า (Frontier Industry) ที่แม้จะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่จะเกิดผลในอนาคต ที่จะมีเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า (Frontier Technology) เช่น อวกาศ, ซินโครตรอน, ฟิสิกส์พลังงานสูง, ควอนตัม, โอมิกส์ เป็นต้น
จึงต้องมีการเตรียมพร้อมการสร้างคนเอาไว้ เพราะการใช้เฉพาะโครงสร้างเดิม คนเดิม ผู้เล่นเดิมไม่เพียงพอ ต้องสร้างผู้เล่นใหม่ ๆ ขึ้นมา
ในอดีตประเทศไทยอาศัยกลุ่ม SME หรือบริษัทใหญ่ ๆ ที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาขับเคลื่อน แต่ในปัจจุบันเรากำลังมุ่งเน้นไปที่บริษัทฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise: IDE) ที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ การมองถึงเป้าหมายของการพัฒนาคนในระดับอุดมศึกษา ที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งขณะนี้กระทรวง อว. มีแนวทางที่เข้ามาสนับสนุน เช่น การจัดการศึกษาที่แตกต่างออกไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ Higher Education Sandbox การจัดทำหลักสูตรที่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสทำงานจริง เจอประสบการณ์จริง สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ทันทีโดยอาจไม่ต้องเรียน 4-5 ปีอย่างในปัจจุบัน
นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังพยายามทำเรื่องธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เรื่องการเรียนที่เป็นหน่วยการเรียนรู้แบบ Module ซึ่งเป็นเทรนด์รูปแบบใหม่ของการจัดการศึกษาที่จะทำให้การไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคนในอนาคตเปลี่ยนไปด้วย
การแลกเปลี่ยนเรื่องการจัดตั้ง Consortium เพื่อพัฒนากำลังคนสู่อุตสาหกรรมขั้นแนวหน้าในอนาคต ดร. กิติพงค์ ให้ความเห็นว่า อยากให้การจัดตั้ง Consortium เป็นการรวมตัวกันเพื่อส่งมอบผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาแต่ละเรื่องให้ได้อย่างจริงจัง ให้แต่ละภาคส่วนที่เข้าร่วมเหมือนเป็นหุ้นส่วนในการทำงานกันจริง ๆ
โดยจะต้องมีกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้ เช่น หากพูดเรื่องการวิจัยขั้นแนวหน้าหรือเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า ต้องมองไปถึงผลที่จะเกิดขึ้นในทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วย
อย่างการทำควอนตัมเทคโนโลยี จะต้องมีทั้งนักกฎหมาย นักอุตสาหกรรม หรือคนทำเรื่องธุรกิจเข้ามาร่วม ให้เป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary) จากคนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่ติดกับดักระหว่างทาง
“เมื่อพูดถึงการออกจากประเทศกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เราต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นแนวหน้า ในการทำ Consortium พัฒนากำลังคนด้านนี้จึงถือเป็นแหล่งสร้างคนที่มีความรู้เอาไว้รองรับอุตสาหกรรม
ในขณะเดียวกัน Consortium และ บพค. ก็จะต้องมองถึงแนวทางที่จะดึงดูดคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ตั้งใจจะทำงานตรงนี้ให้มองเห็นโอกาสการทำงานในระยะยาว อีกทั้งต้องแสดงให้คนทั่วไปเข้าใจว่า อุตสาหกรรมในอนาคตเป็นอีกหนึ่งศักยภาพที่คนไทยมีและสามารถพัฒนาให้เติบโตขึ้นไปได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว