สวทช. แจก “ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ” ท้าพิสูจน์การเจริญเติบโต
สวทช. เปิดรับสมัครผู้สนใจปลูก “ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ” เพื่อเปรียบเทียบต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดบนโลกกับบนสถานีอวกาศนานาชาติญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) เปิดรับใบสมัครแล้ววันนี้! ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศส่งใบสมัครรับต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ
เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตของต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เคยเก็บรักษาไว้ในห้องปฏิบัติการคิโบะโมดูล (Kibo Module) ขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นหรือแจ็กซา (JAXA) บนสถานีอวกาศนานาชาติ เปรียบเทียบกับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติบนโลก โดยเปิดรับใบสมัครถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565
กุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า แจ็กซา ได้ดำเนินโครงการ Asian Herb in Space หรือ AHiS เพื่อคัดเลือกเมล็ดพันธุ์พืชส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยมีเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 22 ชนิด ซึ่งคัดเลือกมาจาก 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เนปาล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บังคลาเทศ สิงคโปร์ เวียดนาม ไต้หวัน และไทย เพื่อส่งขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ
“สวทช. เข้าร่วมโครงการ AHiS กับแจ็กซา โดยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือก “เมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์” ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย จำนวน 350 เมล็ด ไปกับจรวดฟอลคอน-9 (Falcon-9) ของ บริษัทสเปซเอกซ์ (SpaceX) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 เพื่อเก็บรักษาในห้องปฏิบัติการคิโบะโมดูลบนสถานีอวกาศนานาชาติ เป็นเวลา 7 เดือน ก่อนส่งกลับถึงพื้นโลก เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564
และได้ร่วมกับห้องปฏิบัติการ Plant Biology & Astroculture กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมฯ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการเพาะเมล็ดพันธุ์ราชพฤกษ์อวกาศ ณ โรงเรือนวิจัย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา”
กุลประภา กล่าวว่า ขณะนี้ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศเติบโตพร้อมนำไปปลูก สวทช. ขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วม “โครงการราชพฤกษ์อวกาศ” เพื่อรับมอบต้นกล้าราชพฤกษ์ที่ปลูกโดยเมล็ดจากอวกาศและต้นกล้าราชพฤกษ์ปลูกโดยเมล็ดปกติ อย่างละ 1 ต้น สำหรับนำไปปลูกคู่กัน
เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเจริญเติบโตระหว่างต้นที่ใช้เมล็ดจากอวกาศกับต้นที่ใช้เมล็ดปกติบนโลก ทั้งนี้ข้อกำหนดสำคัญในการสมัคร คือ หน่วยงานที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องรายงานความเปลี่ยนแปลงของการเจริญเติบโตและจัดกิจกรรมเกี่ยวกับต้นราชพฤกษ์อวกาศส่งมาถึงโครงการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประชาชน
สำหรับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาที่สนใจ ส่งใบสมัครทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ nstda.or.th ภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2565 และประกาศรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 18 ก.ค. 2565 ก่อนที่จะส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศเฟสแรก จำนวน 100 ต้น ในวันที่ 18 ส.ค. 2565 ต่อไป
ทั้งนี้ ติดตามรายละเอียดข้อมูลและการสมัครเข้าร่วมโครงการราชพฤกษ์อวกาศเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: NSTDASpaceEducation