เปิดมุมมองบิ๊กคอร์ป ‘โลกปรับ เกมเปลี่ยน ธุรกิจต้องพลิกโฉมสู่อนาคต’
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ผนึก ม.หอการค้าไทย เปิดเวทีความคิด “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจ สู่อนาคต”
ครั้งนี้มีมุมมองที่น่าสนใจจากผู้บริหารบิ๊กคอร์ประดับโลกและในไทย ทั้งเทเลเนอร์ ทรู คอร์ปอเรชั่น ธนาคารไทยพาณิชย์ รวมถึงนักวิชาการ จากม.หอการค้าไทย
เกมเปลี่ยน ไทยต้องปรับ
นายจอน โอมุนด์ เรฟฮัก ผู้อำนวยการอาวุโส เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย เผยว่า เทเลนอร์เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียกว่า 25 ปี ปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุด และ 60% ของรายได้เทเลนอร์มาจากเอเชีย
สำหรับไทยนับเป็น 1 ใน 4 ตลาดหลักของบริษัท กลยุทธ์จากนี้ยังคงมองเอเชียเป็นตัวจักรในการสร้างการเติบโต โดยอุตสาหกรรมโมบายจะเป็นส่วนหลักในการสร้างการเติบโตของจีดีพี และเชื่อว่าบริการโทรคมนาคมจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนสังคมดิจิทัลในอนาคตต่อไป
“เอเชียจะยังคงเป็นศูนย์กลางการเติบโตด้านดิจิทัล โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะลูกค้าชาวเอเชียมีปริมาณการใช้เทคโนโลยีสูงมาก โควิด-19 เป็นจุดเริ่มต้นของ digitalization และจะยังคงมีการเติบโตและพัฒนาต่อไป ซึ่งเทเลนอร์มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตนี้ในเอเชีย และในประเทศไทย”
หลังจากนี้ เทเลนอร์จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากยุโรปมาสนับสนุน digitalization สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในไทย ยืนยันว่าจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเอเชียและในประเทศไทยต่อไป
5G ฟันเฟืองสำคัญ
เขากล่าวว่า 5G จะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในสังคม ซึ่งถ้าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ให้ได้มากที่สุดก็ต้องมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่นักลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญขั้นตอนและข้อกำหนดมากมาย
โดยเฉพาะในด้านกฎระเบียบ (Regulatory) และกฎหมาย (Legal) เพราะก่อนที่เราจะสามารถลงทุนได้ ทางหน่วยงานกำกับดูแล (Regulators) ของไทยก็ควรมีความชัดเจน ต่อเนื่อง และเป็นธรรมทั้งต่อนักลงทุนและผู้บริโภค เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น
อีกทางหนึ่งการมีบริษัทเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการรองรับพนักงานที่มีศักยภาพนั้นสำคัญมาก และที่ไม่อาจมองข้ามบริษัทโทรคมนาคมต้องส่งมอบบริการที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ให้กับลูกค้า โดยเฉพาะด้านข้อมูลส่วนบุคคล
พร้อมระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอีกมาก เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านการเชื่อมต่อ โทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต
‘ทรู’ มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาค
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ความหน้าของเทคโนโลยีโดยเฉพาะโมบายเป็นความก้าวหน้าที่ผู้บริโภคทุกคนต่างเห็นได้ชัด เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือที่เข้ามาพลิกโฉมการใช้ชีวิต การทำงาน การบริหารจัดการธุรกิจในหลากหลายมิติ พร้อมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
สำหรับผู้ให้บริการได้ปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปสู่ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโพรวายเดอร์ด้านโทรคมนาคม โดยการสร้างความสำเร็จต้องเล่นเกมที่แตกต่าง มีการนำเสนอที่มากกว่าแค่โทรศัพท์ โดยมีดิจิทัลเป็นแกนหลักที่สร้างการเติบโต
ทุกวันนี้การแข่งขันในตลาดไม่ได้มีผู้เล่นเพียงแค่ 3 หรือ 4 ราย แต่มีเป็น 10 ราย เมื่อนับรวมถึงผู้ให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มาจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ผู้เล่นต้องมีความแข็งแกร่งใกล้เคียงกัน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นระดับอินเตอร์ได้ มากกว่านั้นต้องมีการมองตลาดอย่างถูกต้อง ปรับเปลี่ยนได้เร็ว และก้าวตามให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศของไทยจะแข็งแกร่งได้ ต้องมองไปถึงภาพรวมในทุกเลเยอร์ ครอบคลุมทั้งด้านโทรคมนาคมและดิจิทัลไลฟ์สไตล์
สำหรับทรูต้องการเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนในอีโคซิสเต็มส์ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่ง ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ต้องดิสรัปตัวเองด้วยของตัวเอง
นายพุฒิกานต์ เอารัตน์ Head of People & Branding, SCB 10X และ กรรมการผู้จัดการ Chief Digital Asset Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มองถึงการเปลี่ยนผ่านและโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ต่อเนื่อง
ที่ผ่านมามีการทดลอง ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของตลาดและผู้บริโภค โดยไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ต่อไปคนจะต้องการธนาคารหรือไม่ประเด็นที่สำคัญต่อทุกการให้บริการคือการสร้าง “ความน่าเชื่อถือ” โดยมองลูกค้าเป็นพาร์ทเนอร์ที่จะต่อยอดไปด้วยกัน
อย่างไรก็ดี หนึ่งในจุดแข็งที่บริษัทมั่นใจคือ ความปลอดภัย มีศักยภาพที่จะลงทุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงการผสานความร่วมมือไปกับพันธมิตรต่างๆ ต่อไปนอกจากการให้บริการธนาคารแบบดั้งเดิม มองไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลหลากหลายรูแบบโดยขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว
วิชั่นของไทยพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าจะมีฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านคน นั่นหมายความว่านอกจากฐานตลาดในไทยมุ่งก้าวไปสู่การเป็นรีจินอลเพลเยอร์ด้วย
“เรามองไปถึงทุกโอกาสของการเติบโต โดยนอกจากหาบิสสิเนสโมเดลใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ โจทย์ที่สำคัญหากมีการดิสรัปเราต้องดิสรัปตัวเองด้วยของตัวเอง เช่นล่าสุดให้ความสำคัญอย่างมากกับการลงทุนด้านบล็อกเชน พร้อมมองไปถึงการนำอินไซต์มาต่อยอดสู่บริการในอนาคต โดยจากนี้จะไม่มีการหยุดพัฒนา และต้องเป็นผู้พัฒนาในกลุ่มแรกๆ ให้ได้”
สิ่งสำคัญ ‘เร่ิมจากมายเซ็ต’
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มยุรี ศรีกุลวงศ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ “เร่ิมจากมายเซ็ต” จากนั้นมองไปถึงแกนหลักคือ “ลูกค้า” ทั้งความต้องการในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการสร้างความสำเร็จต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์ เกิดการระดมความคิด
จากนั้นก้าวไปสู่การพัฒนานวัตกรรม บิสิเนสโมเดลใหม่ๆ กระบวนการคิดแบบใหม่ๆ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ นำดาต้ามาวิเคราะห์ ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล