‘ไอบีเอ็ม’ ผนึกพันธมิตรปั้นคนไอทีหนุนดิจิทัลไทย
“ไอบีเอ็ม” ปักธงปั้นคน “เอไอ-ดาต้าไซน์ส-ไฮบริดคลาวด์” แก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ผุดโมเดล “สามประสาน” ผสานความร่วมมือระดับภูมิภาค พร้อมดึงทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญ อีโคซิสเต็มคู่ค้าธุรกิจ องค์ความรู้ระดับโลก ร่วมสนับสนุนดิจิทัลไทย
นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติง กล่าวว่า ไอบีเอ็มขอเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรไอทีของประเทศไทย โดยเฉพาะด้านเอไอ ดาต้าไซน์ส และไฮบริดคลาวด์ ที่มีความสำคัญต่อการรับมือดิจิทัลดิสรัปชันทั้งนี้ ภายใต้โมเดล “สามประสาน” ที่จะมีการนำจุดแข็งของไอบีเอ็ม มหาวิทยาลัยต่างๆ และพันธมิตรธุรกิจ เพื่อร่วมสร้างคนไอทีพร้อมใช้ตรงกับความต้องการของโลกธุรกิจ
โดยไอบีเอ็มจะมอบหลักสูตรเต็มภาคเรียนด้านเอไอ ดาต้าไซน์ส ไฮบริดคลาวด์ นวัตกรรมบนระบบเมนเฟรม และการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่พัฒนาขึ้นจากความเชี่ยวชาญและความเข้าใจเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและธุรกิจของไอบีเอ็ม ร่วมด้วยการถ่ายทอดความรู้ในมุมอุตสาหกรรมและบริบทจริงของธุรกิจจากอีโคซิสเต็มของคู่ค้า แก่สถาบันการศึกษาที่เน้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงาน
เบื้องต้นประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และจะมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพิ่มเติมภายในปีนี้ โดยมีบริษัทเอ็นทีทีเดต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นพันธมิตรที่ร่วมนำร่อง ก่อนจะขยายความร่วมมือสู่พันธมิตรทางธุรกิจรายอื่นๆ ต่อไป“สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง จะเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางดิจิทัลอย่างรุนแรง วาระเร่งด่วนวันนี้ไม่ใช่แค่การพยายามสร้างคนจำนวนมากเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมั่นใจด้วยว่าคนที่จบออกมาจะมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและพร้อมทำงานจริงๆ”
ปัจจุบัน ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในเอเชียแปซิฟิคที่ได้เห็นการเดินหน้าผลักดันโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีการนำเทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างเอไอ ดาต้าไซน์ส และไฮบริดคลาวด์เข้ามาใช้ในโลกธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ผู้บริโภคไทยในวงกว้างก็เปิดรับและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ดังเห็นได้จากปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 230% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
นางสาวแอ็กเนส เฮฟท์เบอร์เกอร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเกาหลี (ASEANZK) กล่าวเสริมว่า วันนี้การขาดคนที่มีทักษะความพร้อมสำหรับการทำงานกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก
ไอบีเอ็มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและพร้อมที่จะดึงทรัพยากร ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงอีโคซิสเต็มของคู่ค้าธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีประสบการณ์ เข้าร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนนี้ เพื่อช่วยประเทศไทยสร้างคนทำงานที่มีทักษะและความพร้อมสำหรับใช้งาน
“การรับมือกับปัญหาทักษะและความพร้อมของคนทำงานในแนวทางที่ยั่งยืน ย่อมไม่สามารถทำได้สำเร็จหากขาดความร่วมมือจากพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในเชิงลึกทั้งจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงการร่วมผลักดันจากภาคการศึกษา”
ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคในแง่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ โดยเฉพาะในธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทค เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถสร้างเงินทุนหมุนเวียนให้ประเทศไทยได้กว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
ขณะที่ เวิล์ดอีโคโนมิกฟอรัมคาดการณ์ว่า การปิดช่องว่างด้านทักษะทั่วโลก จะสามารถเพิ่มจีดีพีโลกได้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2571