‘อาลีบาบา’ ชี้เป้า ผู้บริโภคเอเชีย 90% พร้อมเปย์เงินซื้อ 'สินค้าที่ยั่งยืน'
อาลีบาบา เห็นเทรนด์ใหญ่ เมื่อผู้บริโภคในแถบเอเชียแปซิฟิกกว่า 90% เต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่ยั่งยืน แต่เพราะข้อมูลและสินค้าในตลาดที่ไม่เพียงพอ ทำให้พวกเขาซื้อสินค้าได้ไม่เต็มที่ต่อความต้องการ
อาลีบาบา ยักษ์อีคอมเมิร์ซ มองเทรนด์ใหญ่ สินค้าเพื่อความยั่งยืน และเพื่อสุขภาพที่ดี กำลังไต่อันดับความน่าสนใจ กลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริษัทที่ปรึกษา Bain & Co ผู้ทำแบบสำรวจกล่าวว่า 14% ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกและยุโรป และกว่า 8% ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกานั้นมีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
นอกจากนี้ 51% ของผู้บริโภคทั้งหมดในแถบเอเชียแปซิฟิกยังเป็นผู้บริโภคที่รักสุขภาพ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้บริโภคในยุโรปที่มีเพียง 27% และสหรัฐอเมริกา 31% โดยผู้บริโภคเหล่านี้มักมองว่า สินค้าที่ยั่งยืนจะเป็นเส้นทางนำไปสู่วิถีชีวิตที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น
ผู้ค้าปลีกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติอย่าง Unilever และ L’Oreal หรือจะเป็นสตาร์ทอัพด้านดิจิทัลทั้งหลาย ต่างกำลังเร่งศึกษาและวิจัยว่า การที่ผู้บริโภครับรู้และเข้าใจเรื่องความยั่งยืนมากขึ้นนั้น จะส่งผลต่อธุรกิจและแบรนด์ของพวกเขาอย่างไรได้บ้าง
“การช้อปปิ้งแบบยั่งยืนในอนาคตดูมีหวังขึ้นมาก” Zara Lightowler พาร์ทเนอร์ของบริษัทที่ปรึกษา Bain กล่าว ซึ่งเธอเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ และทำแบบสำรวจกับผู้บริโภคกว่า 16,000 คน จาก 11 ประเทศ ในหมวดหมู่สินค้ากว่า 7 ชนิด
แต่อุปสรรคก็ยังคงมีอยู่
อันที่จริง การซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นพูดง่าย แต่การลงมือซื้อจริงกลับเป็นเรื่องยาก โดย 1 ใน 10 ของผู้บริโภคกล่าวว่าสินค้าในตลาดมีไม่มากพอ ทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการซื้อสินค้าที่ยั่งยืน นอกจากนี้ 15% ของผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ซื้อสินค้าที่ยั่งยืนแพราะตนเองยังขาดข้อมูลหรือยังไม่ไว้ใจต่อตัวแบรนด์
“สิ่งที่สำคัญคือ แบรนด์ต้องทำให้ข้อมูลกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย” Lightowler กล่าว
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ กำลังเร่งมือเพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซ B2C ของอาลีบาบาอย่าง ทีมอลล์ ได้นำร่องติดป้ายบนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางทีมอลล์ก็ได้จัดอันดับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไปมากกว่า 300,000 รายการ และจากผู้ค้าหลายพันราย โดยใช้ปริมาณการใช้พลังงานเป็นเกณฑ์ตัดสิน นอกจากนี้ ในประเทศจีน การไลฟ์เกี่ยวกับสินค้าและแพ็กเกจจิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นก็กำลังเป็นกระแสเลยทีเดียว
ประเทศที่กำลังพัฒนาคือผู้นำในตลาดนี้
Bain ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคจากตลาดที่พัฒนารวดเร็วอย่าง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามนั้น ล้วนตระหนักถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมากกว่าผู้ที่อยู่ในตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้คือ คนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจะเห็นผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยตรง และรู้ว่าภัยเหล่านี้เป็นจริงและจับต้องได้
การวิจัยของ Bain ทำให้ได้รู้อีกว่า ผู้บริโภคที่อายุน้อยและมีกำลังจ่ายจะเป็นผู้ที่ตระหนักถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยในแถบเอเชียแปซิฟิกนี้ สัดส่วนของผู้บริโภคที่เป็นทั้งผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพนั้น มีจำนวนใกล้เคียงกับผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจที่มีอายุระหว่าง 18 – 34 ปี รวมไปถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ แบรนด์ใหม่ ๆ จำนวนมากในทวีปเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกทุกวันนี้ถือกำเนิดโดยใช้ความยั่งยืนเป็นแกนหลัก เน้นที่แนวคิด ESG ให้กลายเป็นส่วนสำคัญของจุดประสงค์แบรนด์ อย่างแบรนด์ Coco Veda วิสาหกิจเพื่อสังคมด้านสุขภาพและความงามในสิงคโปร์ เพิ่งเข้าร่วมในบูธแคมป์ด้านอีคอมเมิร์ซที่ได้รับการสนับสนุนจากอาลีบาบา โดยทางแบรนด์มุ่งมั่นที่จะสร้างแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนสำหรับพาร์ทเนอร์ที่เป็นเกษตรกร รวมไปถึงงานสำหรับทีมช่างฝีมือสตรีในประเทศฟิลิปปินส์
แบรนด์ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของนักช้อปที่อยากได้สินค้าที่ยั่งยืนมากขึ้นให้กลายเป็นจริงได้ จะทำให้แบรนด์ของตัวเองเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในที่สุด
“อนาคตดูมีแนวโน้มที่ดี แต่ปัญหาก็ยังขึนอยู่กับว่า ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจจะซื้อสินค้าจริงหรือไม่ และแบรนด์ต่าง ๆ จะทำให้ตนเองมีความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าได้อย่างไร” Lightowler กล่าว