‘เทเลนอร์’ ยันไม่คิดถอนการลงทุนจากไทย
"ซิคเว่" ซีอีโอ เทเลนอร์ กรุ๊ป ยัน ไม่คิดถอนการลงทุนจากตลาดไทย ดีลควบรวมทรู - ดีแทค จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค หนุนการแข่งขันที่เท่าเทียม ส่วนประเด็นราคาที่อาจเพิ่มขึ้นไม่ต้องกังวลมีกฎของ กสทช. ควบคุมอยู่แล้ว ไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียว
นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า เทเลนอร์ขอยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะถอนการลงทุนจากประเทศไทย บริษัทเข้ามาทำตลาดในไทยกว่า 20 ปี และจากนี้จะยังคงเดินหน้าต่อเนื่องในอีก 20 ปี ต่อไป
ปัจจุบัน เทรนด์ธุรกิจอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจาก “Telecom” ไปสู่ “Telecom-Tech” โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5จี เอไอ ไอโอที เข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่น่าอัศจรรย์
สำหรับการควบรวมระหว่างดีแทคกับกลุ่มทรู จะเกิดเป็นบริษัทใหม่ไม่ใช่ดีแทค ไม่ใช่ทรู มีการนำส่วนที่ดีจากทั้งสององค์กรเข้ามาผสมผสาน และการแข่งขันเพื่อการเติบโตในยุค 2.0 ซึ่งผู้แข่งอย่างเอไอเอสก็ต้องปรับตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากดีลไม่ได้รับการอนุมัติทางเทเลนอร์จะยังคงยังเดินหน้าธุรกิจในไทยต่อไป ทว่าคงไม่ได้ส่งผลดีต่อผู้บริโภคไทย เป็นการสกัดการก้าวไปสู่การเติบโตยุค 2.0 แต่ทั้งนี้จะทำอย่างดีที่สุด
“เราเชื่อว่าดีลนี้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะให้ทาง กสทช.พิจารณา การรวมกันจะส่งผลดีทำให้การลงทุนไม่ซับซ้อน การแข่งขันเท่าเทียม ขณะนี้เรากำลังติดตามกระบวนการ การพิจารณา และรอดูผลที่จะเกิดขึ้นในเดือนก.ค.นี้ โดยทางเทเลนอร์เชื่อในกระบวนการ การพิจารณาของ กสทช.”
ซิคเว่ เชื่อว่าการควบรวมจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันไม่ใช่ลดการแข่งขัน และมีความสามารถที่จะแข่งขันกับโกลบอลเพลย์เยอร์ที่เข้ามา วันนี้จะต้องมองไปที่ภาพรวมของการแข่งขันไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งหากไม่แข็งแรงมากพออนาคตก็อาจสู้ไม่ได้ แต่หากมีผู้เล่นสองรายที่แข็งแกร่งก็จะแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกัน
ส่วนของความกังวลด้านราคามีกฎของ กสทช.ที่รองรับอยู่แล้ว ดังนั้นอยากให้มองในอีกมุมหนึ่งว่าหากการควบรวมไม่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรกับการพัฒนานวัตกรรม ทั้งไม่ทำให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง
โดยขอยืนยันว่า แม้มีการรวมกันแต่ทางเทเลนอร์ยังคงยึดหลักธรรมาภิบาล และทำธุรกิจในวิธีการที่ถูกต้องภายใต้กรอบที่วางไว้
ที่ผ่านมา ยอมรับว่าสิ่งที่ทำให้ดีแทคเป็นผู้เล่นที่อ่อนแอกว่าคู่แข่ง เนื่องมาจากมีคลื่นความถี่ที่น้อยกว่า โมบายเน็ตเวิร์คน้อยกว่า และไม่สามารถที่จะลงทุนมากขนาดนั้นได้
“ช่วงสองปีที่สองมาที่เรามีการลงทุนที่น้อย เป็นเหตุผลทางการเงินที่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มทุน ผลตอบแทน ซึ่งหากมองว่าลงแล้วไม่คุ้มทุนก็อาจจะลงทุนไม่ได้มาก แต่การควบรวมจะเพิ่มความแข็งแรงในส่วนนี้ได้ ส่วนต่อไปแนวทางการลงทุนจะเน้นปรับปรุงด้านเทคโนโลยีไอที บุคลากร รวมถึงการเติบโตใหม่ๆ เช่น โรโบติก และบริการอัตโนมัติ”
นายเยอเก้น โรสทริป, EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า การควบรวมกิจการระหว่างดีแทค และทรูจะสร้างบริษัทที่แข็งแกร่งซึ่งสามารถลงทุนและมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่อนาคต
เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเติบโต 2.0 (Growth 2.0) และทำให้ประเทศอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาค ประเทศไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่งแต่อีก 2 ไม่แข็งแกร่ง
บริษัท เทเลคอม-เทคโนโลยีในประเทศไทย นี้จะดีสำหรับผู้บริโภค ธุรกิจ สตาร์ทอัพ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย บริษัทจะนำเทคโนโลยีขั้นสูง และความเชี่ยวชาญของเทเลนอร์ทั้งในกลุ่มภูมิภาคนอร์ดิก และเอเชียสู่บริษัทใหม่นี้
พร้อมกับรักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล และสร้างสถานที่ทำงานสำหรับอนาคต
หากได้รับการเห็นชอบจาก กสทช.ผู้กำกับดูแล คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์