อุตสาหกรรมใดควรไปต่อ และด้านไหนเตรียมพร้อมถูกดิสรัปชัน?
กระทรวงอว. นำทีมโดย ศุภชัย ปทุมนากุล เผยถึงภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังจะถูกดิสรัปชัน เนื่องจาก กำลังคนและกำลังผลิตไม่เพียงพอ ชี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และบริการดิจิทัลยังเดินหน้าต่อได้ แต่ระบบขนส่งและผู้ค้าคนกลางกำลังจะหายไป
นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรและธุรกิจเติบโต ยั่งยืน และมีความทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่พัฒนาเรื่อย ๆ ซึ่ง ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจไทยในแง่มูลค่าเพิ่มและการจ้างงาน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ถึงเกือบ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ
ขณะนี้อุตสาหกรรมไทยต้องการ Boots Up เนื่องจากมีการเติบโตช้า งานวิจัยไทยไม่สามารถต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้ ฝั่งกระบวนการผลิตประเทศไทยยังอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 เป็นส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ที่มีกำลังการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมสูงขึ้นกว่าไทยในทุก ๆ ปี
GDP ยังต้องพึ่งพาการลงทุนในภาคการผลิตจากต่างประเทศ ยิ่งส่งผลให้ไทยต้องเร่งพัฒนาตัวเองสู่ Industry 4.0 ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยที่สามารถปรับตัวได้สูงสุดคือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ รองลงมาได้แก่ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปโลหะ สิ่งทอ การบริการ และอาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ส่วนอุตสาหกรรมที่เตรียมพร้อมรับมือการถูกลดทอนธุรกิจคือ ระบบขนส่งและผู้ค้าคนกลาง
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ทั้งนี้ ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสและยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน” ภายในงาน FTI Expo 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES for STRONGER THAILAND EXPO 2022 โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จังหวัดเชียงใหม่
กระทรวงอว. เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญตรงนี้จึงเข้ามามีบทบาท สนับสนุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งเอกชน มหาวิทยาลัย โดยให้เกิดทุนวิจัยเพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจ ผลักดันงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
ความต้องการของผู้บริโภคและแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง
ศ.ดร.ศุภชัย อธิบายว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ ผู้บริโภคมีส่วนร่วมสร้าง หรือออกแบบแนวคิด ของตนเองในผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อ ยกตัวอย่างเช่น บริการของอิเกีย (ikea) ที่มีแคมเปญให้ลูกค้าสามารถร่วมออกแบบห้องได้ตามใจชอบ
ทั้งนี้ แนวโน้มของผลิตภัณฑ์จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภค แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
- From dumb to smart: เทคโนโลยีดิจิทัล, อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things หรือ iOT), ระบบเซ็นเซอร์ จะถูกนำมาใช้กับเครื่องมือกว่า 26,000 ล้านชิ้นในปี 2565
- From product to platform: ไม่ได้หมายถึง ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงสิ่งแวดล้อมที่มีการสร้างมาตรฐาน รูปแบบการใช้งาน ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมง่ายขึ้น เช่น Android, iOS และ ระบบบริการของอิเกีย
- From product to service: ผู้ประกอบการลดการเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แต่เปลี่ยนไปเป็นการให้บริการแทน เช่น การเกิดขึ้นของธุรกิจ Sharing economy จำพวก อูเบอร์ (Uber) แกร็บ (Grab) หรือ Cloud based software as a service เป็นต้น
นอกจากนี้ กำลังการผลิตในปัจจุบันก็กำลังปรับเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน โดย ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การที่เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นพร้อมกับราคาลดลงอย่างรวดเร็ว (Exponential Technologies) เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robot) ระบบพลังงานทางเลือก และ Digital Medicine การเข้ามาของดิจิทัลทำให้ระบบขนส่งนั้นเริ่มหายไป เพราะผู้คนสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์โดยที่ไม่ต้องใช้ระบบขนส่ง ใช้เพียงแค่ 3D Printing ก็สามารถส่งไฟล์ให้โรงงานที่ใกล้เคียงพิมพ์ชิ้นส่วนออกมาได้อย่างง่ายดาย
จิ๊กซอว์ที่เริ่มหายไปของภาคอุตสาหกรรม
1. Eroding Value Proposition for Intermediaries: การหายไปของคนกลาง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการค้าปลีก (Retail) และการค้าส่ง (Wholesale) เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อกับผู้ขายหรือผู้ผลิตโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องติดต่อผ่านผู้ค้าคนกลางอย่างเมื่อก่อนอีกต่อไป
2. Direct consumer engagement: ผู้บริโภคเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต ตลอดจนการทดสอบตลาด
3. Faster Speed to Commercialization: ด้วยระบบ Digital transformationส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวตาม และทำให้หลายบริษัทต้องมีการลงทุนทางด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก Digital transformation สามารถเพิ่มผลกำไรและความก้าวหน้าทางธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดด
จากเดิมที่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาศัยการคำนวณต้นทุนและการคาดการณ์ด้วยตนเองแบบ Manual ที่ไม่มีโลกดิจิทัล ทำให้เกิดความล่าช้าและข้อผิดพลาด ทุก ๆ กระบวนการจึงสามารถทำได้รวดเร็ว เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดมากขึ้น เช่นเดียวกับการหายไปของผลิตภัณฑ์เก่า ๆ ซึ่งเกิดการดิสรัปชันกันง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เช่น การเกิดขึ้นของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ทำให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนต์กำลังถูกเบียดเบียน
3. Build to Order Vs Build to Stock: ผลิตตามคำสั่งซื้อ มากกว่าผลิตเพื่อเป็นสินค้าเก็บไว้ในคลัง
กลไกการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย
กระทรวงอว. และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เตรียมสร้างโครงการความร่วมมือต่าง ๆ โดยต่อยอดเชื่อมโยงงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการบ่มเพาะและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเติบโตอย่างเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสอดรับกับอุตสาหกรรม 4.0 ดังนี้
1. การขับเคลื่อนในภาคเอกชน การให้ทุนวิจัยโดยตรงแก่เอกชน เช่น ทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เพื่อให้เอกชนสามารถนำงานวิจัยไปต่อยอดเชิงนวัตกรรมพาณิชย์ และสามารถประกอบธุรกิจนวัตกรรมได้ด้วยตนเอง
2. เครือข่ายอุดมศึกษาเพื่ออุตสาหกรรม (Hi-Fl Consortium) โครงการวิทยาศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม (Science for Industry, Sci-FI) โดยการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ระดับปริญญาโท ร่วมกับกลไกการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมยกระดับการพัฒนานวัตกรรมในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นโครงการที่นักศึกษาป.โทสามารถเรียนและทำวิจัยเพื่อนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมได้
3. โครงการบูรณาการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-integrated Learning หรือ WiL) คือ การนำโรงเรียนไปไว้ในโรงงาน เพื่อผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เมื่อจบแล้วสามารถทำงานได้ทันที มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างคนให้ตรงกับงาน นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงและค่าตอบแทนจริงจากการทำงาน
4. โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยจากภาครัฐ (Talent Mobility) โดยส่งเสริมให้ปฎิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับเอกชน
5. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูงและการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง (Thailand Plus Package) ซึ่งกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุน ทั้งมาตรการภาษี การพัฒนาบุคลากร ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน เร่งรัดให้ได้ข้อสรุปเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ พร้อมทำตลาดเชิงรุก โดยแบ่งออกเป็น
- มาตรการที่ 1 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 250% สำหรับการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือการจัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ที่ผ่านการรับรองโดย อว.
- มาตรการที่ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 150% สำหรับการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
และในอนาคตอันใกล้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีทั้งบริการประสานงาน เชื่อมโยง ฝั่ง Demand และฝั่ง Supply วิเคราะห์ความต้องการกำลังคน และบริหารจัดการข้อมูล ที่ให้ภาคเอกชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย อาทิ การจับคู่กำลังคนที่มีทักษะตรงตามตำแหน่งงาน Job Positioning, Reskill/Upskill ให้แก่บุคลากรขององค์กร, Co-Creation
เพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากรร่วมกันระหว่างสถานประกอบการและภาคการอุดมศึกษา ไปจนถึงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ฝึกปฏิบัติงานหรือ Industrial Training Center (ITC) เป็นต้น