‘มอร์มีท’ เนื้อจากพืช สตาร์ตจากแล็บ-สเปซเอฟเร่งโต
มอร์มีท (More meat) นวัตกรรมเนื้อจากพืช สตาร์ตจากแล็บสู่เช้ล จับมือ ’วีฟู้ดส์’ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์แขนงเครื่องดื่ม น้ำนมข้าวโพด เตรียมขยายตลาดสู่สิงคโปร์ พร้อมเข้าร่วมโครงการสเปซเอฟ พัฒนาเทคโนโลยีด้านธุรกิจอาหารเชิงลึก สร้างมูลค่าหลังเปิดประเทศ
มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค (More Foods Innotech) สตาร์ตอัปสายฟู้ดเทค สัญชาติไทย ผู้พัฒนานวัตกรรมเนื้อสัตว์จากพืชอย่าง เห็ดแครงและถั่วเหลือง ภายใต้แบรนด์ “มอร์มีท (More Meat)” ในปี 2565 มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 150% ก่อนหน้านี้ได้ร่วมทุนกับวีฟู้ดส์ พัฒนาเครื่องดื่ม “น้ำนมข้าวโพด”
ล่าสุดขยายตลาดสู่ต่างประเทศด้วยการเปิดบริษัทในประเทศสิงคโปร์ พร้อมทั้งเข้าร่วมโครงการสเปซ-เอฟ (Space-F) เป็นครั้งที่ 2 ในโปรแกรมเร่งการเติบโต (Accelerator) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านธุรกิจอาหารเชิงลึก สร้างมูลค่าหลังเปิดประเทศ
- นวัตกรรมอาหารแพลนท์เบส
วรกันต์ ธนโชติวรพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท มอร์ฟู้ดส์ อินโนเทค จำกัด มองเห็นเทรนด์การเติบโตของอาหารกลุ่มแพลนท์เบส (Plant Based) ในไทย หากแต่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจำหน่ายนั้นมีจุดบกพร่องในแง่ความไม่สะอาดของวัตถุดิบ มีโซเดียมและวัตถุปรุงแต่งสูง จึงเปิดทางให้กับแบรนด์มอร์มีทที่จะแก้เพนท์พ้อยต์ดังกล่าว โดยเน้นเรื่องความสะอาด งดแต่งกลิ่น มีโซเดียมต่ำที่สุดในตลาด
เห็ดแครงและถั่วเหลือง คือส่วนผสมหลัก เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยและนำวัตถุดิบภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเนื้อหมูสับและเนื้อลาบทอด ในรูปแบบสินค้าพร้อมปรุง (Ready To Cook) ที่ต้องผ่านการผัด ต้ม นึ่ง ทอด เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสนุกในการทำอาหาร แต่ปรุงรสชาติได้ง่ายกว่าเดิม
ปัจจุบัน โรงงานผลิตของมอร์มีทอยู่ที่ จ.สงขลา กำลังการผลิต 3-4 ตันต่อเดือน สามารถเพิ่มได้อีก 2 เท่า และในปี 2566 บริษัทมีแผนจะเพิ่มสินค้าใหม่ๆ รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อการส่งออกไปต่างประเทศ
กลุ่มเป้าหมายของมอร์มีทคือ ผู้ที่รับประทานอาหารแพลนท์เบส ผู้ประกอบการร้านอาหาร โรงงานผลิตอาหาร โดยช่องทางจัดจำหน่ายจะมีทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตและช่องทางออนไลน์
วรกันต์ อธิบายว่า สินค้าในปัจจุบันเป็นการพัฒนารอบที่สาม โดยรับข้อคิดเห็นจากผู้บริโภคมาพัฒนาสูตรและส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้ตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคมากขึ้น และที่สำคัญคือ การทำให้มีวัตถุปรุงแต่งน้อยลงกว่าเดิม
เมื่อต้นปี 2565 ได้จดทะเบียนเปิดบริษัทเพื่อขยายกิจการในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสำนักงานที่รวมแหล่งนักลงทุน รับออเดอร์ของต่างประเทศและยังดีลกับซูเปอร์มาร์เก็ตในสิงคโปร์ พร้อมกันนี้ยังเตรียมพร้อมที่จะขยายตลาดไปประเทศอื่นๆ อีกด้วย
“ความท้าทายของทีมคือ การสื่อสาร เพราะเมื่อเป็นแพลนท์เบส ผู้บริโภคหลายคนจะไม่มีความเข้าใจ เช่น เรื่องส่วนผสม คุณค่าทางโภชนาการที่แต่ละแบรนด์มีความแตกต่าง จึงพยายามเน้นการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด"
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ เขาต้องการสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับคนไทยว่าอาหารแพลนท์เบสไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้
- ความสำเร็จของมอร์ฟู้ดส์
มอร์ฟู้ดส์เริ่มต้นจากทีมพี่น้อง 3 คน แต่ละคนไม่ได้เรียนจบด้านอาหาร แต่รู้จักกับอาจารย์ที่จบทางด้านนี้ จึงได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ใช้ระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่คิดค้นว่าจะใช้พืชชนิดใด จนมาเจอเห็ดแครงที่ให้ผิวสัมผัสและมีรสสัมผัสที่สามารถขบเคี้ยวได้ มีสารอาหารที่ค่อนข้างสูง ทางอาจารย์ในทีมจะช่วยเหลือในเรื่องการคำนวณสัดส่วนของส่วนผสมที่เหมาะสม ถือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัยไทย ก่อนจะได้เป็นผลิตภัณฑ์ออกมา
วรกันต์ กล่าวว่า ธุรกิจแพลนท์เบสต้องใช้ใจและแพชชันนำ ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องกำไร เมื่อไรก็ตามที่เรามองเรื่องทุนนิยมมากเกินไป ในแง่ของการลดคุณภาพสินค้า และการขายให้ได้กำไรสูงสุด มันจะไม่ตอบโจทย์ของแพลนท์เบสซึ่งเกิดจากความต้องการที่จะแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างเช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการละเว้นชีวิต ต้องเริ่มต้นจากการที่เราอยากทำ และเชื่อว่าเป็นทางออกของการบริโภค ไม่ใช่เทรนด์ที่มา ๆ ไป ๆ
“ผู้ประกอบการต้องมีความโปร่งใส่ในแง่ของการผลิต อย่าทำให้แพลนท์เบสฟู้ดเป็นตลาดที่ฉาบฉวย แต่ทำให้เป็นตลาดที่ให้ลูกค้าเข้าใจว่าแพลนท์เบสแตกต่างจากอาหารเจที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก”
- Space-F เร่งการเติบโต
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ กล่าวว่า ในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา เอ็นไอเอได้เร่งสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและเอื้อสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกให้กับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น ผ่าน “โครงการสเปซ-เอฟ(Space-F)” ที่บ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการฯ จะสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรม จากผู้ประกอบการสตาร์ตอัป โดยมุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์สินค้าหรือนวัตกรรมที่เป็นการบริการ, การเป็นพี่เลี้ยงผ่านโปรแกรมต่างๆ, การดึงสตาร์ตอัปด้านฟู้ดเทคต่างชาติเข้ามารับเงินทุนจากบริษัทอุตสาหกรรมด้านอาหารของไทย พร้อมตั้งบริษัทในกรุงเทพฯ และจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย, ความร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันกรุงเทพมหานครสู่ “Bangkok FoodTech Silicon Valley”
“สเปซ-เอฟ เป็นเหมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการฟู้ดเทคได้ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และแสดงโซลูชันของตนเอง เพื่อดึงดูดนักลงทุนพาร์ตเนอร์และผู้ค้าใหม่ ๆ เข้ามาร่วมทุนกับทางบริษัท อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญที่สร้างให้เกิดการยอมรับระดับสากลด้านการพัฒนาและการลงทุนด้านนวัตกรรมอาหาร” วรกันต์ กล่าว