อว. ผนึก ม.ราชภัฏ 38 แห่ง ยกระดับการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
กระทรวงอว. ร่วมมือกับ ม.ราชภัฏ 38 แห่ง จัดกิจกรรม “แผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นปีที่ 2” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี ยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และม.ราชภัฏ 38 แห่ง จัดกิจกรรม “การนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย แผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นปีที่ 2” ณ โรงแรม เซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์
ภายใต้แผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นปีที่ 2 ทั้ง 7 ภูมิภาค เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยว รักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่เข้าสู่ชุมชน และการออกแบบให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอว. กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวนั้นได้ใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อยกระดับมาตรฐาน เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวของชุมชนเชิงสร้างสรรค์ โดยพัฒนาบนฐานอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจบริการมูลค่าสูง และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองที่สำคัญ ในการสร้างความมั่นคงอย่างทั่วถึง
โดยมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ร่วมกันเสวนาถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564
วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในปีแรก มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในประเภทต่าง ๆ โดยการทดสอบ พัฒนา และรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ สู่สาธารณชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในระดับนโยบาย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ที่อยู่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ เชื่อมโยงกับทุนทางปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม
ส่วนปีงบประมาณ 2565 วช. สนับสนุนโครงการ “การยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่า อัตลักษณ์ ด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG” บูรณาการต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนด้วยทุนทางทรัพยากรชุมชนสู่นโยบายการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศด้วยแนวคิด BCG Model เพื่อเป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพที่หลากหลาย การหมุนเวียนของรายได้ การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น รวมถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่น และภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ซึ่งภายในงาน มีการแสดงนิทรรศการและผลิตภัณฑ์จากโครงการวิจัยภายใต้แผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นปีที่ 2 ทั้ง 7 ภูมิภาค อาทิเช่น
- ภาคกลาง - ผลิตภัณฑ์กัญชาน้ำผึ้งมะนาวจากเครือข่ายกลุ่มศรีอยุธยา โดยวิสาหกิจชุมชน ต.คลองจิกอ.บางปะอิน จ.อยุธยา
- ภาคเหนือ - ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเศษผ้า จากกลุ่มทอผ้าบ้านปงห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
- ภาคอีสาน - ผลิตภัณฑ์โทนเนอร์บัวแดง จากชุมชน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
- ภาคใต้ - ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก จากเครือข่ายหมู่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ ก็มีการนำเสนอภาพรวมและการดำเนินแผนงานโดย สัญชัย เกียรติทรงชัย ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย บรรยายในหัวข้อ “การทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย” ในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวฯ และแนวทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์