นวัตกรรมฝรั่งเศสขาขึ้น | พันธุ์อาจ ชัยรัตน์
นวัตกรรมของโลกหลายอย่างมีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นร่มชูชีพ หูฟังแพทย์ กล้องถ่ายรูป โรงภาพยนตร์ ยาแอสไพริน การพาสเจอไรซ์ เครื่องผสมอาหาร
รวมทั้งกล่องในโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่คำว่า “ผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur” ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดย ฌอง-บาติสต์ เซย์ นักเศรษฐศาสตร์ นวัตกรรมข้างต้นสามารถบ่งบอกถึงการเชื่อมโยงในความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ของประเทศนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผนวกเอาศิลปะเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรมอาหารและการพัฒนาธุรกิจ แม้ว่าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เราไม่ค่อยได้รับรู้พัฒนาการทางนวัตกรรมจากฝรั่งเศสมากนัก นั่นอาจจะเป็นเพราะเราจะเห็นนวัตกรรมอันโดดเด่นและร้อนแรงมาจากประเทศเพื่อนบ้านรอบตัวเรามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมทั้งอิสราเอล
(ภาพถ่ายโดย Kindel Media)
นั่นเพราะเรามองนวัตกรรมจากมุมที่คุ้นเคย ซึ่งก็คือนวัตกรรมต้องคู่กับเทคโนโลยี และเป็นการนำเอา “สิ่งประดิษฐ์” มาผลิตเป็นสินค้าขาย ในความเป็นจริงแล้วหากเรามองอีกมุมหนึ่ง ที่เป็นจุดแข็งทางนวัตกรรมของฝรั่งเศสมาตลอด นั่นคือ “นวัตกรรมในอุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูง (High Fashion industry)” ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากได้สินค้าแบรนด์เนมเหล่านี้มาครอบครองไม่มากก็น้อย
จะเห็นได้จากสามในสิบบริษัทด้านอุตสาหกรรมนี้มาจากประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ LVMH Hermès และ Chanel ซึ่งเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงทั้งหมด มีมูลค่ารวมกันกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่รวมสตาร์ตอัพในตลาดสินค้าแฟชั่นชั้นสูงมือสองที่กลายเป็นยูนิคอร์นไปเมื่อปีที่แล้ว เช่น Vestiaire Collective
ผมขอไม่กล่าวถึงนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเนื้อที่จำกัด ความน่าสนใจของระบบนวัตกรรมยุคใหม่ของฝรั่งเศสในระลอกใหม่นี้ เริ่มต้นจากการประสบความสำเร็จในการไต่อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index : GII) ขึ้นมาอยู่อันดับ 11 ในปี 2564 ซึ่งเป็นการเลื่อนสูงขึ้นถึง 10 อันดับในเวลาเพียงแค่ 6 ปี
(ภาพถ่ายโดย Edd Gent)
จุดแข็งที่สะท้อนออกมาคือ การเกิดบริษัทสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ขึ้นมาในระบบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังรั้งอันดับ 6 ของประเทศที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุดในโลกเมื่อปีที่แล้ว ไต่ขึ้นมาถึง 7 อันดับ และเป็นเศรษฐกิจที่มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอันดับ 5 ของโลกอีกด้วย
ในมุมระดับนโยบาย สิ่งที่น่าสนใจคือ แอมานุแอล มาครง ชนะการเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในช่วงเวลานี้พอดี ต่อมาเมื่อปลายปี 2564 ก่อนการเลือกตั้งผู้นำรอบใหม่ในปีถัดไปได้ไม่นาน มาครงได้ประกาศการสนับสนุนทางการเงินนวัตกรรมระลอกใหม่สูงถึง 3 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้ยุทธศาสตร์การลงทุนทางนวัตกรรม (Innovation Investment Strategy)
คำกล่าวของมาครงที่ดูธรรมดา แต่สะท้อนความไม่แน่นอนของอนาคตนวัตกรรมฝรั่งเศสได้อย่างชัดเจน เขากล่าวว่า “หากเราพบว่าเราอยู่นอกวงการนวัตกรรมไปเสียแล้ว เราจะพ่ายแพ้อย่างยับเยิน” โดยเน้นให้บริษัทขนาดใหญ่ทำงานร่วมกับสตาร์ตอัพ เลิกทำนวัตกรรมแบบไซโลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก (Deeptech startup)
นอกจากนั้นยังมีโครงการลงทุนทางเทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงาน “นิวเคลียร์” และรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่ากว่าหนึ่งในสามของกองเงินข้างต้น รวมถึงอุตสาหกรรมอากาศยาน ยาและอาหารแห่งอนาคต
ตัดฉากกลับมาที่ฝั่งเอกชนบ้าง หลายท่านคงรู้จัก Station-F ที่ก่อตั้งโดย ซาเวียร์ นิลล์ มหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคม โดยเป็นการนำเอาสถานีรถไฟเก่าชานเมืองปารีส แปลงมาเป็นพื้นที่บ่มเพาะสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2560 โดยประธานาธิบดีมาครงได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดด้วยตัวเอง ตอนนี้มีสตาร์ตอัพเข้ามาอยู่ในพื้นที่กว่า 500 ราย
จริง ๆ ไม่ใช่แค่ฝั่งเอกชน เทศบาลนครปารีสก็มีหน่วยงานเฉพาะในการสนับสนุนนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจ ที่เปิดกว้างให้ทั้งคนฝรั่งเศสและต่างประเทศมาทำธุรกิจสตาร์ตอัพในอาคารที่เทศบาลจัดไว้ให้กว่า 11 แห่ง เพื่อเพิ่มความเป็นนานาชาติในปารีส นั่นคือ Paris&Co ฝรั่งเศสตั้งเป้าหมายจะผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพยูนิคอร์น 25 ราย ภายในปี 2568 แต่ปีนี้ก็สามารถทำได้แล้ว ก่อนปีเป้าหมายถึง 3 ปี โดยยูนิคอร์นตัวล่าสุดเป็นสตาร์ตอัพเทคโนโลยีเชิงลึกด้านหุ่นยนต์ EXOTEC ที่มีมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์
จากที่เขียนมาจะเห็นว่าแท้จริงแล้วทั้งกรุงเทพมหานครและระบบนวัตกรรมไทย ก็มีแนวทางการพัฒนาไม่ค่อยต่างจากฝรั่งเศสเท่าไร แต่หากดูเม็ดเงินที่รัฐบาลลงทุนสนับสนุนนั้น คงต้องออกแรงกันอีกมาก ทั้งนี้ ปีหน้าเป็นปีที่สำคัญของไทยและฝรั่งเศส ภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่นับย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อ 337 ปีก่อน ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศสำคัญในฉากทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมของไทย
ปี 2565 ทั้งสองประเทศได้กำหนดให้เป็น “ปีแห่งนวัตกรรมไทย-ฝรั่งเศส” วันนี้วันบัสตีย์ สุขสันต์วันชาติฝรั่งเศส ครับ