‘มัลติคลาวด์’ ทางเลือกใหม่ ‘ลงทุนไอที’ องค์กรยุควิกฤติ
คลาวด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ รองรับแอปพลิเคชัน ดาต้า กรอบการทำงานด้านความปลอดภัยและอื่นๆ ทั้งมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจการเงินไทยจะหันไปใช้ “ไฮบริด มัลติคลาวด์” เพิ่มขึ้น
ในประเทศไทยธุรกิจการเงินเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่เริ่มการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล และคลาวด์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจสูงมากตั้งแต่ก่อนการระบาดของโควิด-19
อานันท์ อาเคลา รองประธานฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์และโซลูชัน นูทานิคซ์ ผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำ กล่าวว่า เพื่อรักษาลูกค้าและแข่งขันกับฟินเทคในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ธุรกิจการเงินมีการผสมผสานการใช้งานระบบคลาวด์ที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงไพรเวทคลาวด์เพียงอย่างเดียว
ที่ผ่านมา หลายองค์กรต่างพบกับความท้าทาย จากการที่การให้บริการลูกค้าต้องปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างกระทันหัน รวมไปถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านออนไลน์ สอดคล้องกับข้อมูลจาก Payment Data Indicator ประจำเดือนเม.ย.2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า การทำธุรกรรมอีเพย์เมนท์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยที่ 348 รายการ/คน/ปี
ดังนั้นคลาวด์จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้รองรับความต้องการดังกล่าวและรองรับแอปพลิเคชัน ดาต้า กรอบการทำงานด้านความปลอดภัยและอื่นๆ ทั้งมีการคาดการณ์ว่าธุรกิจการเงินไทยจะหันไปใช้ “ไฮบริด มัลติคลาวด์” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับแนวโน้มทั่วโลก
คาดลงทุนเพิ่มขึ้น ‘สองเท่า’
ดัชนีคลาวด์ระดับองค์กรประจำปี 2565 (2022 Enterprise Cloud Index - ECI) โดย “นูทานิคซ์” และ “แวนสัน บอร์น” ชี้ว่า องค์กรผู้ให้บริการด้านการเงินทั่วโลกใช้มัลติคลาวด์น้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ราว 10%
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 26% เป็น 56% ในอีกสามปีข้างหน้า สอดคล้องไปกับแนวโน้มทั่วโลกที่มีการพัฒนาไปสู่โครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบมัลติคลาวด์ ซึ่งครอบคลุมการใช้งานผสมผสานกันทั้งไพรเวท และพับลิคคลาวด์
นอกจากนี้ พบด้วยว่าผู้ให้บริการด้านการเงิน 31% ยังคงใช้ดาต้าเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม (three-tier) เป็นโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ใช้คลาวด์ และมีการใช้พับลิคคลาวด์ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นทั้งหมดที่ทำการสำรวจเกี่ยวกับการใช้พับลิคคลาวด์
โดย 59% ไม่ได้ใช้บริการพับลิคคลาวด์ เปรียบเที่ยบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 47% สาเหตุหลักเนื่องจากได้มีการลงทุนจำนวนมากไปกับแอปพลิเคชันรุ่นเก่าที่ยังใช้งานอยู่ และเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมาก
“ความยุ่งยากซับซ้อนในการบริหารจัดการระบบคลาวด์ประเภทต่างๆ ยังคงเป็นความท้าทายใหญ่ของผู้ให้บริการด้านการเงิน โดย 50% ระบุว่าประเด็นเรื่องความปลอดภัยคือความท้าทายประการหนึ่งของการใช้มัลติคลาวด์”
กังวล ‘ความปลอดภัยข้อมูล’
นูทานิคซ์วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมด้านการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบมัลติคลาวด์ที่ทั้งไพรเวทและพับลิคคลาวด์สามารถทำงานร่วมกันได้ ในทิศทางเดียวกันการที่ความปลอดภัยของข้อมูลและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ให้บริการด้านการเงิน
สำหรับ “ความท้าทาย” ในการใช้มัลติคลาวด์ที่ธุรกิจบริการด้านการเงินพบ หลักๆ กว่า 50% หนีไม่พ้น ความปลอดภัย การบูรณาการข้อมูลบนระบบคลาวด์ต่างๆ 46%, ความท้าทายเรื่องประสิทธิภาพเนื่องจากการซ้อนทับกันของเครือข่าย 43% ทั้งยังมีธุรกิจ 78% ระบุถึงปัญหาการขาดแคลนทักษะด้านไอที
อีกหน้าความท้าทาย ความสามารถในการเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันเป็นเรื่องจำเป็น ธุรกิจบริการด้านการเงินเกือบทั้งหมด 98% ได้ย้ายแอปพลิเคชันอย่างน้อยหนึ่งแอป ไปยังสภาพแวดล้อม ไอทีใหม่ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
โดยหลักๆ แล้วเป็นการย้ายจากดาต้าเซ็นเตอร์รุ่นเก่าไปยังไพรเวทคลาวด์ เนื่องจากในภาคธุรกิจนี้ ความแพร่หลายของการใช้มัลติคลาวด์และพับลิคคลาวด์อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ส่วนของ งานด้านไอทีที่ธุรกิจบริการด้านการเงินจัดลำดับความสำคัญในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย 54%, การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการมัลติคลาวด์ 49% และการพัฒนา นำเทคโนโลยีแบบคลาวด์เนทีฟมาใช้ 47%
ที่น่าสนใจ ธุรกิจถึง 70% ระบุว่ามีการใช้จ่ายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น, 64% ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเรื่องของการเพิ่มระบบอัตโนมัติสำหรับการบริการตนเองโดยอาศัยเอไอ และ 64% ลงทุนในด้านการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐาน