วช.-มรภ. ชูสินค้าท้องถิ่นจากแล็บ เร่งปั้นผู้ประกอบการชุมชน

วช.-มรภ. ชูสินค้าท้องถิ่นจากแล็บ เร่งปั้นผู้ประกอบการชุมชน

วช. ผนึกกำลัง ม.ราชภัฎ 38 แห่ง ผลักดันงานวิจัยสู่พาณิชย์ เดินหน้าปั้นผู้ประกอบการในชุมชนทั้ง 7 ภูมิภาค พัฒนากำลังคนด้านท่องเที่ยว สอดรับเศรษฐกิจบีซีจีหลังโควิดจบ

โทนเนอร์บัวแดง ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และกัญชาน้ำผึ้งมะนาว 3 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นที่ต่อยอดมาจากผลงานวิจัย ซึ่งได้รับทุนและการสนับสนุนจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ร่วมทำงานเชิงพื้นที่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง

ทั้งนี้ การบรรยายในหัวข้อ “การทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ และแนวทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์”​ เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยว 

ผ่านกิจกรรม “แผนงานยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่นปีที่ 2” ที่นำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับทุนดังกล่าว และยังผลักดันมาตรฐานผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของชุมชนต่าง ๆ ทั้ง 7 ภูมิภาคของประเทศไทยให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับ BCG Economy Model ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง

วช.-มรภ. ชูสินค้าท้องถิ่นจากแล็บ เร่งปั้นผู้ประกอบการชุมชน

โทนเนอร์บัวแดง

  • ต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการจากงานวิจัย

วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. กล่าวว่า วช. มีแนวทางการยกระดับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นโดยแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงปี 2564 ได้มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในประเภทต่าง ๆ และมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่สาธารณชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในระดับนโยบาย

ส่วนช่วงที่ 2 งบประมาณปี 2565 ได้ให้ทุนและสนับสนุนใน “โครงการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่า อัตลักษณ์ ด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจ BCG” บูรณาการต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนด้วยทุนทางทรัพยากรชุมชน สู่นโยบายการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์

เพื่อเป็นกลไกทางเศรษฐกิจสำคัญที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างอาชีพที่หลากหลาย การหมุนเวียนของรายได้ การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น รวมถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่น และภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างผลงานจากภูมิภาคต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนดังนี้

  • ภาคกลาง - ผลิตภัณฑ์กัญชาน้ำผึ้งมะนาว​จากเครือข่ายกลุ่มศรีอยุธยา โดยวิสาหกิจชุมชน ต.คลองจิก ​อ.บางปะอิน จ.อยุธยา
  • ภาคเหนือ - ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเศษผ้า จากกลุ่มทอผ้าบ้านปงห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่
  • ภาคอีสาน - ผลิตภัณฑ์โทนเนอร์บัวแดง จากชุมชน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
  • ภาคใต้ - ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก จากเครือข่ายหมู่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช

วช.-มรภ. ชูสินค้าท้องถิ่นจากแล็บ เร่งปั้นผู้ประกอบการชุมชน

(ภาพถ่ายโดย Te lensFix)

  • ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงชุมชน

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า ททท. มีบทบาทเรื่องบูรณาการความร่วมมือสร้างความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงและปลอดภัย เพิ่มความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวในการเข้าร่วมกิจกรรมผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ

อีกทั้งเป็นหนึ่งกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน Tourist Police I Lert U ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ที่ใช้ในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการขอความช่วยเหลือจากนักท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นในด้านความมั่นคง ความปลอดภัย ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

บุญเสริม ขันแก้ว รองอธิการบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว (MOU) ร่วมกับทาง อว. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ให้เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Next Normal หลังโควิดจบ

 

  • การทำงานร่วมกันระหว่างม.ราชภัฏ

อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการ วว. อธิบายว่า สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทาง วว. มีส่วนช่วยในการกำหนดการจัดวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย (positioning) กล่าวคือ การบริหารจัดการมุมมองที่ผู้บริโภคมีต่อผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เพื่อทำให้เกิดความแตกต่างและมีความโดดเด่น สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ และเกิดการท่องเที่ยวระดับชุมชน โดยการอาศัยการทำงานร่วมกันกับทีมงานและอาจารย์ม.ราชภัฎ

แผนการดำเนินงานเริ่มจาก “การมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และยกระดับ มาตรฐานคุณภาพการผลิต” โดยเน้นการสร้างคนที่มีความรู้ความเข้าใจพื้นที่เกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น การยกระดับการผลิต การยกระดับบรรจุภัณฑ์ การยกระดับมาตรฐานการผลิต (มผช.อย) การรับรองระบบคุณภาพการผลิตอาหาร (GMP) มาตรฐานสินค้าเกษตร (GAP และ Organic) ตลอดจนสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ทางอว. ยังมี “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล” และ “กลไกมหาวิทยาลัยให้เป็นตลาด” เพื่อเกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่-ชุมชน สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชุมชนสามารถสร้างรายได้ด้วยวัตถุดิบที่มีภายในท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากบทเรียนการทำงานเชิงพื้นที่ วว. เกิดความตระหนักว่า “ความยั่งยืนเกิดจากความร่วมมือของ ทุกภาคส่วน และต้องพัฒนาเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น” โจทย์ของ วว. จึงเป็นการทำงาน เพื่อตอบคำถามว่า “เราจะนำงานวิจัยมาต่อยอดและทำให้การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ยั่งยืนได้อย่างไร”