ครั้งแรกในไทย เจ้าภาพประชุมด้านเครื่องเร่งอนุภาคระดับโลก
ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่กับการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก ประชุมวิชาการด้านเครื่องเร่งอนุภาค หรือ IPAC’22 ต่อยอดองค์ความรู้ พัฒนาอุตสาหกรรม
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ในนามประเทศไทย ตัวแทนภาคพื้นเอเชียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาค 13th International Particle Accelerator Conference หรือ IPAC’22
ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งคนไทย และต่างชาติรวมกว่า 800 คน มาจากประเทศเยอรมนี, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ญี่ปุ่น, อิตาลี, สหราชอาณาจักร, เกาหลี และสเปน
มีผู้ส่งบทคัดย่องานวิจัยมากว่า 1,000 ชิ้น และการแสดงสินค้าของผู้ประกอบการทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคจากต่างประเทศกว่า 60 บูท ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทางด้านวิชาการ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยทั่วโลก
นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศก่อให้เกิดรายได้เข้าในส่วนธุรกิจโรงแรม อาหาร และการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และเป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทยที่ดีให้กับชาวต่างชาติที่ได้เข้าร่วมงาน
ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงาน IPAC’22 กล่าวว่า IPAC เป็นการประชุมวิชาการด้านเครื่องเร่งอนุภาคที่มีความสำคัญ และใหญ่ที่สุดของโลก และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเวียนการเป็นเจ้าภาพใน 3 ทวีป คือ เอเชีย (รวมออสเตรเลีย) ยุโรป และอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้
สำหรับปีนี้เป็นวาระของทวีปเอเชีย และประเทศไทยโดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนแข่งขันและได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงานครั้งที่ 13 นี้โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิชาการ และผู้สนใจจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร และผู้ประกอบการด้านเครื่องเร่งอนุภาค
ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ต่างกล่าวชื่นชมประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงานว่าจัดออกมาได้อย่างดี และประทับใจเป็นอย่างมาก
ภายในงาน IPAC’22 มีการนำเสนอข้อมูลล่าสุดของการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วโลกรวมทั้งการนำงานวิจัย เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้จริงในห้องปฏิบัติการ และในภาคอุตสาหกรรม
นักวิทยาศาสตร์จากทั่วทุกมุมโลกมาอัพเดทงานวิจัยด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาค เทคโนโลยีแม่เหล็ก เทคโนโลยีสุญญากาศ และเทคโนโลยีระบบ เพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ก้าวล้ำมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์
นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลแก่นักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคระดับโลกรางวัลแต่ละประเภท ซึ่งเป็นชื่อนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคเชื้อสายเอเชียที่มีคุณูปการและบทบาทสำคัญต่อวงการเครื่องเร่งอนุภาค ได้แก่
- รางวัลเซี่ยจยาหลิน ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.เซี่ยจยาหลิน นักฟิสิกส์เชื้อสายจีนผู้บุกเบิกการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อใช้บำบัดมะเร็ง
- รางวัลนิชิกาวา เทซึจิ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ชิกาวา เทซึจิ นักฟิสิกส์เชื้อสายญี่ปุ่นเชี่ยวชาญด้านพลศาสตร์ลำแสงของเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น
- รางวัลโฮกิล คิม ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.โฮกิล คิม นักฟิสิกส์และนักการศึกษาผู้บุกเบิกโครงการเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ ในเกาหลีใต้ และประสบความสำเร็จในฐานะนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค ที่สถาบันการศึกษาในสหรัฐ
ภายในงานยังมีกิจกรรมที่มีการนำเสนอนิทรรศการการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศ ที่จะสร้างขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จังหวัดระยอง เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรม โดยจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศอีกไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาทซึ่งจะเป็นการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ การจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาค 14th International Particle Accelerator Conference จะจัดขึ้นครั้งต่อไปโดยประเทศอิตาลีเป็นเจ้าภาพการจัดงาน.