‘Sea’ ปักธง 3 ธุรกิจ มุ่งเติบโตคู่เศรษฐกิจไทย
Sea (ประเทศไทย) กางแผนธุรกิจปี 2565 มุ่งสร้างการเติบโตคู่เศรษฐกิจและสังคมไทย ปักธง 3 บริการหลัก เกม อีคอมเมิร์ซ เพย์เมนท์ ล่าสุดเปิดตัวแพลตฟอร์ม “Sea Academy” ติดปีกทักษะดิจิทัลให้คนไทย
นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ โชว์วิสัยทัศน์ “Sea Story 2022: Digital Technology for All” พร้อมเผยถึงกลยุทธ์ของ Sea (ประเทศไทย) ว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจจากนี้เดินหน้าขับเคลื่อน 3 ธุรกิจหลัก การีนา(Garena), ช้อปปี้(Shopee) และ ซีมันนี่ (SeaMoney)
โดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี ผลักดันการเติบโตธุรกิจควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสังคมไทยยุคดิจิทัล
“ปีนี้เรายังคงเน้นการพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภครวมถึงเกมเมอร์ทั้งระดับแมสและรายบุคคล ภายใต้เป้าหมายหลักคือ พัฒนาธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”
เน้น ‘เกมฟอร์มยักษ์’ ระดับโลก
สำหรับ “การีนา” มุ่งพัฒนาประสบการณ์เกมเมอร์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเกมระดับโลก แต่จะมีการปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการระดับท้องถิ่น ขณะเดียวกันต่อยอดเกมสู่กีฬาและอาชีพยุคดิจิทัล
สำหรับประเทศไทย ธุรกิจเกม-อีสปอร์ต ยังคงเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับพฤติกรรมคนไทยที่ให้ความสนใจกับเกมมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีเกมเมอร์กว่า 32 ล้านคน ส่วนตลาดเกมและอีสปอร์ตไทยมีมูลค่าราว 3.3 หมื่นล้านบาท เติบโตราว 14% จากปี 2563
การีนา วางตำแหน่งเป็นผู้ให้บริการควบคู่ไปกับผู้พัฒนาเกม ขณะเดียวกันมุ่งต่อยอดวงการเกมและอีสปอร์ตไทยสู่โอกาสทางอาชีพใหม่ๆ และการใช้เกมเป็นสื่อกลางในการพัฒนาทักษะดิจิทัล
ชูบริการ ‘อีคอมเมิร์ซครบวงจร’
ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” มุ่งตอบโจทย์ผู้ซื้อ-ผู้ขายแบบครบวงจร โดยจะมีการพัฒนาต่อเนื่องด้วย “ดาต้า” และส่งเสริมเอสเอ็มอีทั้งในตลาดไทยและต่างประเทศ
จากระยะเร่ิมต้นที่เข้าสู่ตลาดไทยในฐานะ “Mobile-first E-commerce Platform” จากนี้เดินหน้าสร้างการเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ ผู้ขาย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศไทยทำธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปัจจุบัน ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2563 มียอดขาย (GMV-Gross Merchandise Volume) ราว 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงไปถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 14%
นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซยังรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายและเข้าถึงผู้คนในหลากหลายพื้นที่มากขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ขายและผู้ใช้งานช้อปปี้ในประเทศไทย ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ขายช้อปปี้ที่อยู่นอกเมืองใหญ่เติบโตขึ้น 70% ส่วนจำนวนผู้ใช้งานที่อยู่นอกเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นถึง 40% ช่วงเทศกาล 11.11 ผู้ขายรายใหม่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า
สยายปีก ‘Digital Finance’
นางสาวมณีรัตน์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ "ซีมันนี่" ว่า นอกจากการมอบประสบการณ์การชำระเงินที่คุ้มค่า สะดวกสบาย และปลอดภัยครอบคลุมในทุกไลฟ์สไตล์ด้วยช้อปปี้เพย์ซึ่งสามารถรองรับการสแกนจ่ายด้วยคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ได้แล้ว
ซีมันนี่ยังให้ความสำคัญกับการขยายบริการ “Digital Finance” ด้านอื่นๆ โดยขณะนี้ได้รับใบอนุญาตผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรายแรก
ปัจจุบัน การชำระเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลเพย์เมนท์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทั้งพบว่าผู้บริโภคไทยใช้อีวอลเล็ต มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจาก 18.6 ล้านคนในปี 2563 เป็น 41.9 ล้านคนในปี 2568
นอกจากนี้ ในปี 2564 จำนวนผู้ใช้งานช้อปปี้เพย์ (ShopeePay) ในพื้นที่นอกเขตหัวเมืองใหญ่ของประเทศไทย ยังเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 2563 สะท้อนการเข้าถึงบริการการเงินดิจิทัลที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
สำหรับภาพรวมการเติบโตของธุรกิจนี้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 บริการการเงินดิจิทัลของซีมันนี่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้กว่า 45.8 ล้านคน
ดัน ‘Sea Academy’ หนุนทักษะดิจิทัล
ล่าสุด เปิดตัวเว็บไซต์ “Sea Academy” แพลตฟอร์มที่รวบรวมความรู้หลากหลายด้านจากโครงการต่างๆ ของ Sea (ประเทศไทย) โดยมีเนื้อหาครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1.การใช้อีคอมเมิร์ซและการทำธุรกิจในยุคออนไลน์ 2.การเงินดิจิทัลและความปลอดภัย
ขณะที่ 3.ทักษะสำหรับอาชีพในวงการเกมและอีสปอร์ต และจะมีการเพิ่มเนื้อหาเข้าไปเรื่อยๆ ในอนาคต โดยเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้อย่างอิสระ
บริษัทตั้งเป้าสร้าง “Digital Talent” 10 ล้านคน ใน 10 ปี ปัจจุบันสามารถเข้าไปสร้างเสริมทักษะดิจิทัลด้านต่างๆ ให้แก่คนไทยได้แล้วราว 4.18 ล้านคน