’5GCT’ เดินเกมรุกบริการแพลตฟอร์ม ‘สมาร์ทซิตี้’
สตาร์ทอัพสัญชาติไทย "5GCT" ลุยบริการ Urban Data Platform แพลตฟอร์มอัจฉริยะหนุนการบริหารการจัดการเมืองในรูปแบบ Data Visualization and Dashboard ประเดิมนำรองพื้นที่อีอีซี ตั้งเป้าขยายสู่ 10 เมืองภายในปี 2567
ชาริณี แชนน่อน กัลยาณมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร 5G Catalyst Technologies หรือ 5GCT สตาร์ทอัพสัญชาติไทย เผยว่า เดินหน้าบริการเทคโนโลยีโซลูชั่นสำหรับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ภายใต้ “Urban Data Platform” แพลตฟอร์มอัจฉริยะครบวงจรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรวบรวมข้อมูล
เพื่อผู้บริหารเมืองสามารถจัดสรรทรัพยากรและบริหารจัดการเมืองผ่านข้อมูลดิจิทัล การแจ้งเตือนภัยแบบเรียลไทม์การเชื่อมโยงข้อมูลระบบการจราจร
รวมถึง การวิเคราะห์สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการแสดงผลที่จุดเดียวได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ (Data Visualization and Dashboard) ส่งเสริมทำให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเป็นรูปธรรม
โดยข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาและต่อยอดสู่การปฏิบัติงานร่วมกับผู้นำเมือง ผู้นำองค์กรส่วนท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงการพัฒนา ออกแบบ และช่วยปรับปรุงเมืองยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับปีนี้ได้เร่ิมดำเนินการเริ่มติดตั้งแพลตฟอร์มดังกล่าวจำนวน 3 เมืองและตั้งเป้าที่จะขยายเป็น 10 เมืองภายในปี 2567 ภายใต้เป้าหมายคือเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองและส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
เบื้องต้น ยูสเคสสำหรับ Urban Data Platform นำไปใช้กับการบริหารเมืองอัจฉริยะ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยร่วมมือกับพันธมิตรเช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เฟสแรกจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 4 ปี 2565
ที่ผ่านมา ยังได้มีการนำร่องเมืองอัจฉริยะที่เปิดใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการครั้งแรกของประเทศไทยในบ้านฉาง และโครงการนี้ได้รับการดัดแปลงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นโซลูชันแรกที่ช่วยสร้างโซลูชันแบบรวมศูนย์ได้สำเร็จ
โดยได้เชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ มุ่งเน้นที่ความปลอดภัยและความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม และ e-governance นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญสำหรับรากฐานของแพลตฟอร์มข้อมูลเมืองแบบเปิด ช่วยปูทางสำหรับการเติบโตของเมืองในอนาคต
นิพัทธ์ ยมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี 5GCT กล่าวว่า บริษัทมุ่งสร้างแพลตฟอร์มเพื่อบรรลุภารกิจในการช่วยเหลือเมือง เพื่อให้เมืองเกิดความยืดหยุ่น (Interoperability) ในการบริหารงานและเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทุกมิติของข้อมูลเมืองที่สำคัญจากหลายผู้ให้บริการ ให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียว ( All in One Single Platform )
“เป้าหมายหลักของเราหวังมีส่วนร่วมในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองและส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ยั่งยืนผ่านแพลตฟอร์ม Urban Data Platform”
นอกจากนี้ จะมีการร่วมมือกับพันธมิตรระดับชาติอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผ่านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จัดทำระบบการเชื่อมต่อข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศของเมืองเข้าด้วยกัน