THAI STARTUP ชี้ 70% ของสตาร์ทอัพไทยไปต่อไม่ได้เพราะขาดแหล่งทุน-ซอฟต์แวร์

THAI STARTUP ชี้ 70% ของสตาร์ทอัพไทยไปต่อไม่ได้เพราะขาดแหล่งทุน-ซอฟต์แวร์

สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (THAI STARTUP) เผยว่า สตาร์ทอัพไทยที่มียอดธุรกิจไม่ถึง 10 ล้านบาทต่อปี มีจำนวน 53.1% ซึ่งเกิดจากปัญหา 70% ขาดแหล่งทุน 35% ขาดซอฟต์แวร์ และอีก 35% ไม่มีโมเดลธุรกิจ

ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย หรือ “THAI STARTUP” และผู้ร่วมก่อตั้ง iTAX เปิดเผยว่า จากการสำรวจสมาชิกของสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยและพันธมิตรกว่า 100 ราย พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมามียอดธุรกิจรวมกันกว่า 11,558 ล้านบาท เติบโตจากปี 2563 ที่ยอดธุรกิจรวมกันยังไม่ถึง 7,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจนและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันจุดชะงักของสตาร์ทอัพไทยก็ยังประสบปัญหาสตาร์ทอัพที่มียอดธุรกิจไม่ถึง 10 ล้านบาทต่อปีอยู่ 53.1% ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ตามด้วยสตาร์ทอัพที่มียอดธุรกิจ 10-30 ล้านบาทต่อปี มีสัดส่วน 22.4% , 30-100 ล้านบาท มีสัดส่วน 11.2% และสตาร์ทอัพที่ยอดธุรกิจเกิน 100 ล้านบาท มีสัดส่วน 12.6%

THAI STARTUP ชี้ 70% ของสตาร์ทอัพไทยไปต่อไม่ได้เพราะขาดแหล่งทุน-ซอฟต์แวร์

จุดชะงักของสตาร์ทอัพไทยประกอบด้วย

  • 70.1% ขาดแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ
  • 40.2% ขาดผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น software engineer , UX/UI Designer
  • 35.5% ขาดการวางโมเดลธุรกิจที่ดี
  • 34.6% ผู้บริหารทำหลายบทบาท ทำให้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ไม่ทันการเติบโต และไม่มีเงินทุนจ้างคนเก่งมาร่วมงาน
  • 31.8% ติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ 30.8% พบปัญหาการทำงานร่วมกับภาครัฐด้านการจัดซื้อจัดจ้าง
  • 27.1% ติดปัญหาการขยายตลาด

นอกจากนี้ ก็ยังพบปัญหาเรื่องของ “คนไทยขาดความเชื่อใจผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพคนไทยด้วยกัน

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่จำนวน 16 คน จากธุรกิจสตาร์ทอัพหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนสตาร์ทอัพไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านสตาร์ทอัพเพื่อทำให้เกิดเป็นเวทีให้สตาร์ทอัพ เกิดแหล่งทุน มองหาการพิชชิ่งกับคู่ค้า มองหาผลประโยชน์ที่คุ้มค่าให้กับสตาร์ทอัพไทย 

“เราอยากเปลี่ยนให้ประเทศไทยจากเดิมที่เป็นผู้บริโภคเทคโนโลยีได้กลายเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยี และสามารถส่งออกเทคโนโลยีระดับโลก อยากเปลี่ยนความคิดของคนในประเทศว่า สตาร์ทอัพไทยนั้นเป็นคนเก่ง เป็นคนมีความครีเอทีฟ และเป็นคนมีความสามารถ ซึ่งก็ต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราทำได้ เราสามารถใช้โซลูชันจากสตาร์ทอัพไทยพัฒนาประเทศได้” ยุทธนา กล่าว 

THAI STARTUP ชี้ 70% ของสตาร์ทอัพไทยไปต่อไม่ได้เพราะขาดแหล่งทุน-ซอฟต์แวร์

ยุทธนา ศรีสวัสดิ์

นอกจากนี้ได้มีการเสนอรัฐบาลในเรื่องของการสร้างโมเดลเพื่อร่วมลงทุน ผลักดันสตาร์ทอัพไทย โดยมีการเสนอว่า อยากให้มีการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย ได้แก่ สตาร์ทอัพ-VC-รัฐบาลไทย โดยให้ภาครัฐเข้ามาช่วยถือหุ้นเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือทั้งกับนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ

โดยให้ VC เป็นผู้คัดกรองสตาร์ทอัพ ซึ่งเดิมทีเคยมีแต่การให้ทุนเปล่า แต่ยังไม่มีโมเดลดังกล่าวที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ในหลายประเทศอย่างรัฐบาล อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีการตั้งกองทุนเพื่อร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง

ตัวอย่างของการทำงานร่วมกับภาครัฐจากคณะกรรมการชุดใหม่ คือ การจับมือกับกรุงเทพมหานครเพื่อจัดงาน HackBKK โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจากหลายธุรกิจได้ช่วยกันออกแบบโซลูชันเพื่อประชาชนและตอบโจทย์นโยบายทำกรุงเทพให้เป็นเมืองนวัตกรรม ซึ่งหากโมเดลนี้สำเร็จ จะเป็นการการันตีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและสตาร์ทอัพที่ช่วยพัฒนาเมืองและประเทศ เพื่อขยายผลไปสู่ภาคจังหวัดและท้องถิ่นต่าง ๆ 

“ในภาคการศึกษา นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นสตาร์ทอัพก็จะมีภาคสำหรับการบ่มเพาะธุรกิจ ส่วนในภาคธุรกิจหากขาดเครื่องมือ หรือทุน ตลอดจนองค์ความรู้ต่าง ๆ เช่น การทำตลาด การสร้างแบรนด์ สิ่งเหล่านี้สามารถเข้าใช้บริการ-มาทำงานร่วมกับสมาคมฯ ได้ สำหรับภาครัฐหากอยากจะสนับสนุนทุนให้กับสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับด้านที่สนใจแต่ไม่ทราบถึงข้อมูลเหล่าสตาร์ทอัพก็สามารถเข้ามาพูดคุยเพื่อหาช่องทางการติดต่อกับสตาร์ทอัพเหล่านั้นได้” 

รับขวัญ ชลดำรงค์กุล ทนายความและเนติบัณฑิตไทย และเจ้าของบริษัท EasyCompany หนึ่งในคณะกรรมการของสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย กล่าวว่า ตนเองนั้นจะมุ่งมั่นเดินหน้าในการผลักดันผู้ประกอบการที่พร้อมเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยจะร่วมสนับสนุนเพื่อให้เกิดการยกระดับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่ดีทั้งในธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ตลอดจนธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

“จุดประสงค์ของสมาคมฯ คือ เราต้องการที่จะเป็นแพลตฟอร์มคนกลางที่คอยเชื่อมต่อสตาร์ทอัพกับแหล่งทุนต่าง ๆ เรารวมตัวคนที่ใช่ไว้ที่นี่ เพื่อเกิดการร่วมมือ และผลักดันสตาร์ทอัพให้เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีของประเทศไทยให้เติบโตระดับโลก”