ดีลควบทรู ดีแทค ส่อลากยาว กสทช.ยื้อลงมติออกไปอีก 30 วัน

ดีลควบทรู ดีแทค ส่อลากยาว กสทช.ยื้อลงมติออกไปอีก 30 วัน

บอร์ด กสทช.ลงมติยืดเวลาตัดสิน "ดีลควบทรูดีแทค" ออกไปอีก 30 วัน หลังสนง.ยังไม่ส่งแผนวิเคราะห์ 6 ข้อกลับขึ้นมา พร้อมสั่งให้ยกร่างฯมาตรการเฉพาะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ระบุ หากพบช่องโหว่คงต้องพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (10 ส.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุมกรรมการ (บอร์ด) เมื่อเวลา 9.30 น. เป็นวาระการประชุมมีเรื่องรับทราบการปฎิบัติงานประจำ ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอวาระเข้ามา ส่วนการพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ตามที่บรรจุลงเป็นวาระการประชุมที่ 5 นั้น ระบุเกี่ยวกับกำหนดเวลาและวิธีการลงมติการรวมธุรกิจ ตามที่เบื้องตัน ได้มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการปรับปรุงให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และนำเสนอที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อไป

ขยายเวลาพิจารณาอีก30วัน

การประชุมดังกล่าวมีผลปรากฏว่า สำนักงาน กสทช.ยังไม่สามารถทำรายงานข้อเสนอเพิ่มเติมตามที่บอร์ดกสทช.มีมติสั่งไปเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีการหารือคร่าวๆ ว่า จะยืดเวลาให้สำนักงาน กสทช.ไปเร่งทำผลวิเคราะห์ 6 ข้อให้เสร็จภายใน 30 วัน นับจากมีมติลงไป นอกจากนี้ ยังให้สำนักงาน กสทช.ไปดำเนินการยกร่างมาตรการเฉพาะในการคุ้มครองผู้บริโภคและการป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย

 

ซึ่งหากสำนักงาน กสทช.เสนอกลับมา เพื่อนำมาประกอบกับการพิจารณาการรวมธุรกิจ จากนั้น กสทช.จึงจะพิจารณาว่าจะดำเนินการตัดสินดีลนี้อย่างไร นอกจากนี้ ส่วนร่างมาตรการเฉพาะหากพบว่าไม่มีความเรียบร้อยหรือขาดข้อมูลส่วนอื่นๆนอกเหนือจากที่สำนักงาน กสทช.เสนอมา ก็อาจจะมีการพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระภายนอก หรือ สถาบันการศึกษามาดำเนินการควบคู่กันไป

“วันนี้ยังไม่ได้ลงมติอะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับดีลควบรวม เพราะสำนักงานฯบอกว่า ยังไม่สามารถทำรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆแล้วเสร็จ ที่ประชุมเราเองก็มีการคุยกันปากเปล่าโดยก็จะขยายเวลาเพื่อให้สำนักงานฯมีเวลาทำงานอย่างเต็มที่ออกไปอีก 30 วัน นับจากวันที่ 3 ส.ค. ที่มติไปก่อนหน้านี้” แหล่งข่าว กล่าว

โจทย์หินสนง.ศึกษาเพิ่ม6ข้อ

สำหรับ มติเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ระบุไว้ว่า ให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปวิเคราะห์ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้ 1.วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของทรูและดีแทคโดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่ทรูและดีแทคและ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม

2.วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม

3.วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน

4.วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่อย่างไร

5.วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

และ 6. วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

ทั้งนี้ บอร์ด กสทช. มองว่าข้อมูลดังกล่าวมีความจำเป็นสำหรับการออกแบบมาตรการเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดโทรคมนาคม หรือการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายโดยให้สำนักงาน กสทช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานที่มอบหมายต่อ กสทช. โดยเร็ว