ถอดสูตรคมคิด ‘ซีอีโอ STT GDC' ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ เบอร์ใหญ่ในอินโดไชน่า

ถอดสูตรคมคิด ‘ซีอีโอ STT GDC' ‘ดาต้าเซ็นเตอร์’ เบอร์ใหญ่ในอินโดไชน่า

รายการ SUITS ถอดสูตรความสำเร็จฉบับ CEO ของ “กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ "ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC ซีอีโอ ที่ต้องบริหารดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดไชน่า

“ดาต้า เซ็นเตอร์” ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่าหมื่นล้านบาทบนพื้นที่ใหญ่ ใจกลางกรุงเทพมหานคร ไม่ง่ายนักที่คนภายนอกจะเข้ามาที่นี่ได้ ภายในบริเวณของ ศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ STT GDC มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก “ข้อมูล” มหาศาลจากองค์กรธุรกิจชั้นนำของทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อยู่ในนี้  มีเซิร์ฟเวอร์มากมาย ใช้พลังงานไฟฟ้ามหาศาล เพื่อให้ข้อมูลที่ไหลเวียนภายในดาต้าเซ็นเตอร์สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ติดขัด 

“ที่นี่เป็นศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดไชน่า สิ่งที่อยู่ข้างในมีมูลค่ามหาศาลมากๆ” 

“ศุภรัฒศ์” ซีอีโอของ STT GDC ดาต้าเซ็นเตอร์ แบบไฮเปอร์สเกล เอ่ยประโยคแรก พร้อมบอกว่า ไม่มีใครล่วงรู้เลย แม้กระทั่งตัวเขาว่าภายในศูนย์แห่งนี้มีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง เพราะนี่คือ Privacy และ Security ระดับสุดยอด
 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ “ศุภรัฒศ์” เป็นคนหนุ่ม มองไกล เรียน และทำงานอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีมาตลอดเลย เริ่มต้นในสายซอฟต์แวร์ โปรแกรมมิ่ง เขียนโปรแกรม จากนั้นค่อยมูฟมาเรื่อยๆ สู่วงการบริหารจัดการ

"เริ่มมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ไอที เริ่มบูม ก่อนหน้านั้นในประเทศไทยจะมี 2 สายที่เรียน คือ วิศวโยธา และวิศวไอที แต่ผมตัดสินใจเลือกเรียนไอที โปรแกรมมิ่ง เริ่มทำงานที่ ธอมสัน รอยเตอร์ สมัยก่อนตอนเข้าไป ประมาณปี 2002 มีพนักงาน 30 คน จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปทำงานที่อเมริกา ต้องบอกว่า ผมเป็นคนไทยแรกๆ ที่ไปอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ ไปทำมาสักพัก จากฝั่งตะวันตก ย้ายไปฝั่งตะวันออก ของอเมริกา และก็ไปอยู่ที่นิวยอร์ก" 

ผู้บริหารอายุน้อย-แบกหน้าที่เต็มเปี่ยม

แบคกราวด์ของ "ศุภรัฒศ์" มาจากซอฟต์แวร์เอ็นจิเนีย ส่วนหนึ่ง และก็อยู่ในสายไฟแนนเชียล เซอร์วิส แบงกิ้งด้วย พอกลับมาที่ไทย อายุประมาณ 25 ปี มีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้บริหาร และต้องรับผิดชอบตลาดในอเมริกา ยุโรป เอเชีย ก็ถือว่าเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ของ รอยเตอร์ ที่ดูแลทุกทวีป เป็นผู้บริหารอายุน้อยที่สุด ซึ่งเขาทำอยู่ที่รอยเตอร์ราว 12 ปี

“เป็นผู้บริหาร ที่อายุน้อยที่สุด และเป็นคนไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ รอยเตอร์ ที่ดูแลทุกทวีป ตอนนั้นรอยเตอร์ ในประเทศไทย เป็นศูนย์ใหญ่ที่สุดของซอฟต์แวร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จากวันแรกที่เข้ามามีพนักงาน 30 คน ตอนพีคมีพนักงานประมาณ 1,200 กว่าคน ในปี 2014 เป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน" 

มุมมองในการบริหารจาก พนักงานจำนวนน้อย จนมาเป็นระดับพันคนนั้น "ศุภรัฒศ์" มองว่า จำนวนคนไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ เปรียบเทียบกับฟังก์ชั่นที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบ

"ดังนั้นการต้องมีความรับผิดชอบที่หลากหลาย เราต้องแบ่งเวลาว่า เราควรต้องตัดสินใจอะไรที่เรารู้สึกว่า ตัดสินใจได้เลย กับต้องรับฟังมากน้อยขนาดไหน จากพนักงาน 30 คน ไปเป็น 1,200 ตอนนั้นถือว่า รอยเตอร์เป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์ที่ใหญ่ที่สุดในไทยแล้ว มีประสบการณ์มากพอสมควร แต่ผมก็เริ่มในตอนนั่นแล้วว่า บริบทของคำว่าผู้บริหาร ไม่ได้มองแค่ โกลบอลอย่างเดียว หากเราต้องมองกลับมาที่เอเชียด้วย" 

ศภรัฒศ์ มองว่า ในช่วงเวลานั้น ทุกคนมักคิดว่าถ้าเป็นโกลบอล จะชอบมองไปที่ นิวยอร์ก ลอนดอน แต่เขากลับมาโฟกัสที่เอเชียตอนนั้นจีนเริ่มมา และจังหวะนั้นเอง เขาจึงตัดสินใจออกจาก รอยเตอร์ ย้ายไปบิ๊กคอร์ปใหญ่ของไทย คือ กลุ่มซีพี และได้ไปอยู่ที่ ทรู ด้วยจุดประสงค์หลัก เขาอยากทำอะไรเพื่อประเทศ

"ผมกล้าบอกได้ว่า ผมชัดเจนว่า จุดประสงค์ของผม คือ อะไร หลักๆ เลย คือว่า ผมรู้ว่าผมเกิดมาเพื่อผลักดันให้ประเทศชาติให้มีประสิทธิภาพ ผมมองว่าตอนอยู่รอยเตอร์มา เรามั่นใจว่า คนไทยก็สามารถบริหารจัดการได้ในระดับโกลบอล ทำไมเราไม่เอาประสบการณ์นี้ หรือ สเกลเซ็ตนี้ มาใช้กับบริษัทไทยที่เกิดขึ้น นั่นเป็นจุดที่ออกจากบริษัทต่างชาติ

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่มองว่า ประเทศไทยมีประสิทธิภาพ และผมรู้สึกว่า ประเทศไทยยังขาดผู้บริหาร ที่จะบริหารในระดับโกลบอล หรือ region ไม่ค่อยมีผู้บริหารคนไทยที่อยู่บริษัทต่างชาติและถูกไว้วางใจให้ดูแลระดับโกลบอล เราก็เลยมองว่า อยากเข้ามาบริษัทไทยดีกว่า uplift บริษัทไทย" 

ก้าวสู่แวดวงดาต้าเซ็นเตอร์ 

ศุภรัฒศ์ เข้าไปทำงานที่ ซีพี ทรู มีโอกาสได้เริ่มธุรกิจคลาวด์ กับดาต้าเซ็นเตอร์ครั้งแรก และเข้ามาในฝั่งของการบริหาร

โดยที่เขาไม่เคยคิดว่า จะมารันธุรกิจ แต่เมื่อถูกการฝึกฝน จนพัฒนาขึ้น ลองดูคงไม่ได้เสียหายอะไรมาก ที่สำคัญเขาทำดีด้วย นั่นจึงเป็นสิ่งที่เขาคิดว่า การก้าวหน้าในภาคการบริหารจัดการ หรือในธุรกิจ คุณไม่จำเป็นต้องใหญ่ออกไประดับโลกเสมอ แต่คุณสามารถอ้อมกลับมา แล้วก็มาพัฒนาสิ่งที่อยู่ในเมืองไทย ให้ไประดับโลก

“เราไม่จำเป็นต้องอ้อมไปก็ได้ แต่เราควรจะมีประสบการณ์ และความเข้าใจ เราไม่ต้องถึงขนาดว่า เป็นผู้บริหารที่มีตำแหน่งบริหารจัดการในต่างประเทศก็ได้ แต่ขอให้เข้าใจว่า เทคโนโลยีมันเปิดประตู ให้เราไปสู่ทุกตลาดในโลกนี้ แต่ถ้าเรามีประสบการณ์ตรงนั้น มันก็จะเชื่อมเร็วกว่า ก็เป็นที่มาที่ไป พอมีประสบการณ์ เราก็มาทำงานที่ไทย แล้วคอนเนคไปตลาดโลกได้ หรือมองว่า ทำอย่างไรให้มีเทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย"

คุมดาต้าเซ็นเตอร์เบอร์1แห่งอินโดไชน่า

จากนั้นเขาถามตัวเองว่า แล้วธุรกิจถัดไปที่มันจะเติบโตจริงๆ ของประเทศไทย กับเทคโนโลยี คือ อะไร 

"เราก็เลยตัดสินใจว่า ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์นี่แหล่ะ มันจะเติบโต ซึ่งธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ที่นี่เป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุด ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ใหญ่ที่สุดในอินโดไชน่า แล้วถามว่า ธุรกิจนี้ทำอะไร ทำไมมีซิเคียวริตี้มากขนาดนี้ ถ้าอธิบายเข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนเป็น แวร์เฮ้าส์ สิ่งที่อยู่ข้างในเป็นสิ่งที่มูลค่ามหาศาลมาก เพราะมัน คือ เทคโนโลยี ดาต้า แพลตฟอร์ม ผมจะบอกว่า สิ่งที่อยู่ในในแวร์เฮ้าส์ คือ ดาต้า ซึ่งเปรียบเสมือนเงินจำนวนมหาศาล”

ศุภรัฒศ์ อธิบายให้เข้าใจมากขึ้นว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ เปรียบเสมือนธุรกิจเรียลเอสเตท ใกล้เคียงธุรกิจที่เป็นคอนโด หมายความว่า ถ้าเราต้องการอยู่แถวกลางเมือง แน่นอนเราคงไม่สร้างบ้านเอง เพราะใช้เงินมหาศาล แต่มี somebody สร้างตึกคอนโดขึ้นมา สิ่งที่ต้องทำหลังจากนั้น คือ โยกย้ายเฟอร์นิเจอร์เข้ามา ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ก็เปรียบเหมือน ธุรกิจคอนโด เราสร้างตึกให้มหาศาล คนที่มาอยู่เขาย้ายเซิร์ฟเวอร์ของเขามาไว้ที่นี่ เขามีข้อมูลอยู่บนเซิร์ฟเวอร์เขา แต่เขาคงไม่สร้างตึกที่มีไฮสเกลขนาดนี้เพื่อป้องกันเซิร์ฟเวอร์ของเขา

"เราสร้างให้เซิร์ฟเวอร์เข้ามาอยู่ ในเซิร์ฟเวอร์นี้ คือ ข้อมูลของลูกค้า เราจะไม่ทราบเลยว่าลูกค้ามีข้อมูลอะไรบ้าง เป็นเรื่อง Pricacy ของลูกค้าเลย ตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติ ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ยังเหมือนกับธุรกิจสายการบิน ที่นี่คือ สนามบิน ดาต้าเซ็นเตอร์ของ STT GDC เราจะมีหลายที่มาก เปรียบเหมือนสนามบินก็ได้ ที่เซิร์ฟเวอร์เข้ามาอยู่ และสามารถพูดคุยกันได้ ส่วนใหญ่เราจะซัพพอร์ตลูกค้าต่างชาติ แบงกิ้ง นอกจากที่ไทย เรายังมีที่สิงคโปร์ จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ในยุโรปเรามีที่อังกฤษ แต่ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เราถือว่า ใหญ่สุดในอินโดไชน่า ทั้งหมดทั้งตึกนี้ 7 ชั้น มีไฟฟ้า 4 เมกะวัตต์ เท่ากับหมู่บ้านที่มีบ้าน 2 แสนกว่าหลังคา"

แผนขยาย “ดาต้าเซ็นเตอร์”

ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ของ STT GDC มีลูกค้าอยู่ในนี้มากกว่า 60% ที่เหลือไว้ 40% เพราะในมุมของดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องสามารถสเกลได้ หรือมีคาปาซิตี้ได้ มีพื้นที่ให้วางเซิร์ฟเวอร์ได้มากขึ้น ปัจจัยสำคัญของดาต้าเซ็นเตอร์มีอยู่ 5 เรื่อง คือ  สถานที่ต้องปลอดภัย ไฟฟ้าต้องมหาศาล แอร์ เน็ตเวิร์ค และสุดท้าย คือเรื่องของมาตรฐาน ต้องบอกว่า ศูนย์นี้เป็นศูนย์เดียวของประเทศไทยที่มีมาตรฐานทุกอย่างที่ในโลกมี

“ที่นี่ เรามีพนักงานที่เชี่ยวชาญ เรากล้าบอกว่า เรามีความเชี่ยวชาญมากที่สุดในประเทศไทย หรือเปรียบเสมือนว่า เรา เป็นทีมชาติประเทศไทยของดาต้าเซ็นเตอร์เลยก็ว่าได้ เราดึงทุกอย่างที่ดีที่สุดมาอยู่ที่นี่ ดังนั้นในมุมของเทคโนโลยี ดีไซน์ ซิเคียวริตี้ บวกกับวิธีบริหารจัดการ ที่นี่แทบจะไม่มีปัญหาเลย” 

ปัจจุบัน STT GDC ในกรุงเทพฯ ยังเป็น Flagship แต่ด้วยกลยุทธ์เรา เราต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศไทย ไปสู่ดิจิทัล อีโคโนมี เราจะมีไซต์เพิ่มขึ้นอยู่ในใจกลางเมือง ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ คือ อินฟราสตรัคเจอร์หลักของประเทศ มันต้องมีหลายจุด ภายใน 2-3 ปีนี้ บริษัทมีแผนขยายอีกราว 2 ไซต์ ในประเทศไทย

ถอดสูตรกลยุทธ์ในแบบ “ศุภรัฒศ์”​

ศุภรัฒศ์ ยังได้เล่าถึง “วิธีการ” ในการพูดคุยกับลูกค้าแต่ละรายในแบบฉบับของเขาว่า ในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์จะแบ่งเป็น 2 เซกเม้นท์ มีลูกค้าเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา และจะมีลูกค้าเทคโนโลยีจากประเทศจีน ซึ่งเทคโนโลยีมีความใกล้เคียงกัน แต่วิธีการที่เรานำเสนอสินค้า หรือวิธีการขายของทั้ง 2 วัฒนธรรมนี้ไม่เหมือนกันเลย ความเชื่อก็ไม่เหมือนกัน

“หน้าที่ผมส่วนหนึ่งก็ใช้ 2 วิธี วิธีแน่ๆ คือ เราต้องรู้ทั้งงาน และคน เรื่องคนสำคัญที่สุดในหมวดการขาย เพราะเราต้องเข้าใจลูกค้าที่ต้องการเข้ามาจริงๆ เขาต้องการต่อยอดธุรกิจของเขากับเราแบบไหนบ้าง แต่ละบริษัท แต่ละวิธีไม่เหมือนกัน แต่ในที่สุด มันก็ต้องใช้ relationship ซึ่งส่วนหนึ่งที่มีลูกค้าเข้ามา ก็มาจากความน่าเชื่อถือกับสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด"

 เขาย้ำว่า ทุกบริษัทอยากเข้ามาร่วมงานกับบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ บริษัทที่สามารถเปิดประตูใหม่ๆ เพื่อหวังว่า จะเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในตลาดร่วมกัน ซึ่ง STT GDC มีอยู่หลายประเทศ หลายพันธมิตร ซึ่งให้บริการซึ่งกันและกัน

“เพราะในที่สุด หน้าที่ของซีอีโอ ไม่ใช่หน้าที่เซลส์อย่างเดียว แต่หน้าที่ซีอีโอ คือ สร้างโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้ แต่การจะสร้างโอกาสให้เติบโตได้ เราต้องเข้าใจกลยุทธ์ของเรา ของลูกค้า กลยุทธ์เราคืออะไร และถ้าเราเดินเติบโตไปด้วยกันในบริบทใหม่ที่จะกลับมา win win ด้วยกันจริงๆ”

บริหารจัดการเวลาในแบบ ซีอีโอ 

เมื่อถามถึงการบริหารจัดการเวลาส่วนตัวในแบบฉบับของซีอีโอ “ศุภรัฒศ์” เล่าว่า เขาตื่นทุกวันในเวลา 04.30-05.00 น. รูทีนของเขาจะเริ่มตั้งแต่ก่อนนอน เริ่มวางแผนว่าวันถัดไปจะใส่เสื้อผ้าอะไร พอตอนเช้า ตื่นมาจะเข้ายิมที่บ้าน แล้วก็ชอบยกเวท เพราะเป็นเรื่องของบุคลิก 

"ผมขายความน่าเชื่อถือ บุคลิกมันต้องดูมีซิเคียวริตี้ก่อน และในฐานที่อยู่ในโลกไอที ผมก็จะหาอะไรที่ผมไม่ต้องดูมือถือเลย เราต้องหาวิธีที่ cut off เราเหมือนกัน การยกเวท เราอยู่ส่วนตัว มันเป็นเรื่องของลมหายใจ เวลาเรายกขึ้น ยกลง มันเป็นเรื่องสมาธิ ผมอยู่ห้องเวท ไม่เกิน 15 นาที แต่ทำทุกวัน หลังจากนั้นเข้าห้องพระสวดมนต์ไม่เกิน 3 นาที ขอให้มีเวลานั้นกลับไปดูสภาพจิตใจตัวเอง จากนั้นก็เริ่มแต่งตัวไปทำงาน"

ศุภรัฒศ์ เริ่มประชุมทีมงานตั้งแต่ 07.30 เขาให้เหตุผลว่า ที่ต้องเริ่มเช้าเพราะเป็นผู้บริหาร และควรต้องพร้อมให้ได้ก่อนลูกค้า การประชุมจะมีแค่วันจันทร​์ และวันศุกร์ วันจันทร์จะคุยกับทีมผู้บริหารว่า กลยุทธ์ หรือสิ่งที่เราต้องทำในสัปดาห์นี้ คืออะไร

“ในห้องประชุม เราจะไม่ประชุมในแบบการอัพเดท แต่เราจะเลือกเป็น hot topic มีอะไรให้เราตัดสินใจ เจตนาของการประชุมไม่ใช่มาคุยกัน แต่เป็นการมาตัดสินใจพร้อมกัน ระหว่างทาง มีอะไรก็โทรคุยกัน มันจะกระชับ เร็ว และชัดเจน แล้วมา follow อีกทีวันศุกร์”

“ข้อคิด” แบบฉบับซีอีโอ

แน่นอนว่า การก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งซีอีโอ หลายคนต้องเสียสละบางอย่าง เพื่อให้การทำงานในตำแหน่งที่สูงมีความสัมฤทธิผล แต่ “ศุภรัฒศ์” ไม่ได้มองว่า เขาจะต้องเสียอะไรไปเมื่อก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งซีอีโอ  

“ผมไม่คิดว่า ผมต้องเสียอะไร ถ้าเริ่มต้นจากความรู้สึกเป็นทุกข์ จะไม่ประสบความสำเร็จ ผมมีความเชื่อว่า เราต้องระวังสิ่งที่เรารู้สึก เพราะสิ่งนั้นจะผลักดันแนวคิดเรา สิ่งที่เราคิดคือสิ่งที่เราจะพูด ถ้าพูดเดิมๆ เรื่อยๆ จะกลายเป็นนิสัยเรา สิ่งที่เป็นนิสัยจะกลายเป็นคาแรคเตอร์ และสุดท้ายจะกลายเป็น destiny ของเราที่เกิดขึ้น กลับไปเรื่อง sacrifice ผมไม่เคยรู้สึกทุกข์ กับการ sacrifice แต่พร้อมที่จะทำสิ่งที่เรามีเจตนาจะทำให้มันประสบความสำเร็จ อาจจะฟังเว่อร์หน่อย แต่ในการที่เราเติบโตในต่างประเทศ ผมรู้สึกว่า สิ่งที่ผมเกิดมาในชาตินี้ ผมต้องการทำอะไรให้กับประเทศไทย 

 ผมรู้สึกว่า ภารกิจผมต้องการ uplift ประเทศไทย ในมุมมองนี้ ผมไม่รู้สึกหรอก sacrifice อะไร เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำสำเร็จ หรือไม่สำเร็จอีกเรื่องหนึ่ง เราหวังว่า จะสร้างถนน ให้ประเทศไทย มีเส้นทางเดิน และพัฒนาเศรษฐกิจ หรือภาพรวมของสังคม ให้เกิดขึ้นให้ได้"