'ดร.สมเกียรติ' ทีดีอาร์ไอ โพสต์ 'ปมถ่ายทอดฟุตบอลโลก' อัด ประกาศพิลึก กสทช.!!

'ดร.สมเกียรติ' ทีดีอาร์ไอ โพสต์ 'ปมถ่ายทอดฟุตบอลโลก' อัด ประกาศพิลึก กสทช.!!

ดร.สมเกียรติ โพสต์ ปมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ชี้ กองทุน กทปส. ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่ออุดหนุนฟุตบอลโลก ชี้ปัญหาอยู่การออกกฎ Must have และ Must carry ของ กสทช.

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ เฟซบุ๊คส่วนตัว ถึงปม การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ว่า

"จนบัดนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยจะถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จะเริ่มในวันที่ 21 พ.ย. นี้อย่างไร และด้วยเงินจากที่ไหน แม้จะมีความเชื่อกันลึกๆ ว่า คนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกแน่

มีข่าวว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งมีรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ ได้ยื่นขอเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ประมาณ 1.6 พันล้านบาท เพื่อถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดย กสทช. จะพิจารณากันในวันพุธที่ 9 พ.ย. นี้

ประเด็นก็คือ กองทุน กทปส. ซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎหมาย กสทช. ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่ออุดหนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลกหรือกิจกรรมอะไรแบบนี้ เพราะถูกกำหนดให้ต้องใช้เงินเพื่ออุดหนุนบริการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมให้ทั่วถึง (เช่นขยายพื้นที่บริการ 5G ไปพื้นที่ห่างไกล หรือช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงบริการได้)  สนับสนุนการพัฒนากิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมในด้านต่างๆ รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาสื่อที่มีเนื้อหาปลอดภัย และการชดเชยผู้ถูกเรียกคืนคลื่นเพื่อให้สามารถจัดระเบียบการใช้คลื่นความถี่ได้ เป็นต้น

ถ้าถามว่า ทำไมจนบัดนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยจะถ่ายทอดฟุตบอลโลกอย่างไร ก็น่าจะมีสาเหตุ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ฝ่ายไทยเองน่าจะเริ่มดำเนินการช้า เพราะหลายประเทศรวมทั้งเพื่อนบ้านของเราก็ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เช่น กัมพูชา ก็ได้สิทธิมาตั้งแต่เดือน ม.ค.  ส่วนฟิลิบปินส์และอินโดนีเซียก็ได้มาตั้งแต่เดือน มี.ค. ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีทั้งประเทศที่จะถ่ายทอดผ่านเพย์ทีวีอย่างเดียว ฟรีทีวีอย่างเดียว และที่ผสมกัน (ข้อมูลจาก Wikipedia และ FIFA)

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนในไทยที่มีแรงจูงใจไปขอซื้อลิขสิทธิ์ เพราะว่า กสทช. ไปออกกฎที่เรียกว่า กฎ Must Have ที่กำหนดว่า 7 มหกรรมกีฬาเช่น โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวี ซึ่งทำให้เพย์ทีวีไม่อยากไปซื้อลิขสิทธิ์ เพราะซื้อมาก็ต้องให้ฟรีทีวีเอาไปถ่ายทอดต่อฟรี  ส่วนฟรีทีวีก็ไม่อยากไปซื้อลิขสิทธิ์ เพราะซื้อมาก็ต้องให้เพย์ทีวีเอาไปถ่ายทอดต่อฟรี ตามอีกกฎที่เรียกว่ากฎ Must Carry

ผมเองเคยทักท้วงตั้งแต่ออกกฎทั้งสองนี้ใหม่ๆ แล้วว่า จะทำให้มีปัญหา

ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ก็มีกฎในการถ่ายทอดกีฬาคล้ายๆ กฎ Must Have ที่เรียกว่า “กฎต่อต้านไซฟ่อน” (Anti-siphoning law) ซึ่งเป็นบทบัญญัติใน Broadcasting Services Act 1992 แต่ออกแบบมาดีกว่า เลยไม่สร้างปัญหา   

กฎดังกล่าวกำหนดให้การถ่ายทอดมหกรรมกีฬาตามบัญชีในกฎหมาย ต้องให้ฟรีทีวีมีสิทธิในการขอลิขสิทธิ์ถ่ายทอดก่อน แต่ถ้า 3 เดือนก่อนการแข่งขัน ฟรีทีวียังไม่ได้สิทธิในการถ่ายทอด เพย์ทีวีก็สามารถติดต่อขอสิทธิได้

รายการมหกรรมกีฬาที่กำหนดไว้ในกฎหมายของออสเตรเลีย แบ่งคร่าวๆ ออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้ กลุ่มแรก มหกรรมกีฬาระดับโลกที่ออสเตรเลียเข้าร่วม เช่น กีฬาโอลิมปิก และกีฬาเครือจักรภพ (Commonwealth Games)

กลุ่มที่สองคือ มหกรรมกีฬาที่ออสเตรเลียจัด เช่น ออสเตรเลียน โอเพ่น หรือมหกรรมกีฬาที่ทีมชาติออสเตรเลียร่วมแข่ง เช่น ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก และ เทนนิสเดวิสคัพ (Davis Cup) เฉพาะในกรณีที่เป็นการแข่งขันของทีมชาติออสเตรเลียเท่านั้น

กลุ่มที่สามคือ กีฬาในประเทศที่คนออสเตรเลียชื่นชอบ เช่น AFL Premiership (ออสเตรเลี่ยน รูลส์ ฟุตบอล) และ NRL Premiership (รักบี้) เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็อยู่ในบัญชีตามกฎหมายของออสเตรเลียด้วย ทั้งที่ไม่ชัวร์ว่าทีมชาติออสเตรเลียจะได้แข่งขันทุกครั้งหรือไม่ แต่ถ้าหากดูประวัติที่ผ่านมาก็จะพบว่า ทีมชาติออสเตรเลียได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 5 ครั้งหลังสุดมาโดยตลอด ไม่เคยตกรอบ

ในกรณีของไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีกฎกำหนดให้โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ ตลอดจนกีฬาคนพิการที่เกี่ยวข้อง ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ดูฟรี เพราะนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาเหล่านี้มาโดยตลอด

แต่ที่แปลกก็คือ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีของไทยด้วย ทั้งที่ทีมชาติไทยไม่เคยไปแข่งขันแม้แต่ครั้งเดียว เพราะตกรอบคัดเลือกไปก่อนเสมอ 

ถ้าหน่วยงานรัฐทั้งหลาย เช่น กกท. และ กสทช. มองว่า การถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสำคัญมาก จนต้องให้ถ่ายทอดสดทุกนัด แม้ไม่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันด้วย ก็คงต้องถามว่า ครั้งนี้จะเอาเงินจากไหนไปซื้อลิขสิทธิ์ในเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิด จะเอาเงิน กทปส. ก็น่าจะไม่ตรงวัตถุประสงค์ (ซึ่งแปลว่าผิดกฎหมาย)

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็คงต้องเอาเงิน “กองทุนกีฬา” ที่ กกท. ดูแลเอง หรือใช้งบประมาณของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ กกท. และรัฐบาลต้องรับรู้ว่านโยบายให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกนี้ มี “ต้นทุน” ไม่ใช่ของฟรีๆ ที่จะไปล้วงเอามาจาก กสทช. ง่ายๆ   

หลังจากนี้ กสทช. เอง ก็ควรต้องเร่งทบทวนกฎพิลึก Must Have และ Must Carry ของตน เพื่อเปิดให้กลไกตลาดทำงานได้ตามปกติ  มิฉะนั้นอีก 4 ปีหน้า ก็จะเจอปัญหาแบบนี้อีก ถ้าคิดไม่ออกว่าจะแก้แบบไหน ก็ลอกเลียนแนวคิดของออสเตรเลียมาก็ได้

ที่สำคัญ กสทช. ซึ่งเพิ่งมีมติ “รับทราบ” ปล่อยให้ทรู-ทีแทค ควบรวมกันไป โดยไม่ได้ทำหน้าที่ของตน (ซึ่งน่าจะแปลว่าทำผิดกฎหมาย) ก็อย่าไปยอมให้ กกท. มาเอาเงินกองทุน กทปส. ไปใช้อีก เพราะจะไปเบียดบังประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ควรได้ผลประโยชน์จากเงินกองทุนนี้ โดย กสทช. ที่ลงมติอนุมัติ ก็จะเสี่ยงทำผิดกฎหมายอีกรอบ

ถ้าวันพุธนี้ กสทช. ยอมเสี่ยงผิดกฎหมายอีกครั้ง ผมเสนอว่าควรเปลี่ยนชื่อ กองทุน กทปส. เป็น “กองทุนป้อมสั่ง” ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย

.....