Tech JV ไปต่อหรือพอแค่นี้? | ต้องหทัย กุวานนท์
การประกาศแยกทางของกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่างยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซกับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของไทย เป็นข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการอีคอมเมิร์ซไทย ที่ผ่านมาดีลนี้เป็นดีลที่ถูกจับตามองมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ในมุมของเม็ดเงินลงทุนหรือในด้านของการแข่งขัน
การถอนตัวออกจากไทยและอินโดนีเซียของยักษ์ใหญ่รายนี้ เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดเดากันไว้ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว
ความกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงและการเติบโตแบบชะลอตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้บริษัทแม่จำเป็นต้องเบนเข็มการขยายธุรกิจ โดยกลับไปให้ความสำคัญกับตลาดใหญ่และปรับเปลี่ยนโมเดลไปให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดการหลังบ้าน เช่น ซัพพลายเชน และโลจิสติกส์
ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company ในปีล่าสุด ระบุว่า จำนวนดีลการร่วมมือทางธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบของดีลร่วมค้า มีตัวเลขที่ลดลงไปเกือบ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา
ในช่วงปี 2562-2563 องค์กรขนาดใหญ่เลือกใช้กลยุทธ์ JV& Alliance เป็นสัดส่วนถึง 35% เมื่อเทียบกับจำนวนดีลทั้งหมด อุตสาหกรรมที่มีการตั้งธุรกิจร่วมทุนและสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์มากที่สุดคือ อุตสาหกรรม Software อุตสาหกรรมยา Biotech และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
แม้ว่า JV & Alliance จะช่วยลดความเสี่ยงองค์กรในการเดินหน้าสู่ธุรกิจใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำดีลธุรกิจในรูปแบบ M&A แต่ข้อมูลสำรวจจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำทางด้าน JV ระบุว่า 31% ของกิจการร่วมค้าตัดสินใจแยกทางกันภายใน 5 ปี ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุบริษัทที่เป็น JV จะอยู่ได้ไม่เกิน 10 ปีเท่านั้น
บริษัทร่วมค้าส่วนใหญ่มักมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเมื่อเป้าหมายบรรลุผลต่างฝ่ายก็มักจะตัดสินใจแยกทางกัน นักวิเคราะห์หลายกลุ่มตั้งขอสังเกตว่าการตั้งบริษัทร่วมค้าของกลุ่มธุรกิจในเอเชียมีแนวโน้มไม่ได้ไปต่อค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น
สำหรับทิศทางการจัดตั้ง JV ในธุรกิจที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดบริษัทผู้นำด้านเคมีภัณฑ์ระดับโลกอย่าง BASF จับมือกับบริษัท Heraeus ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์และโลหะจากเยอรมนี จัดตั้งบริษัทในประเทศจีนเพื่อบุกเบิกตลาดวัสดุรีไซเคิล
บริษัทซีเมนส์และกลุ่มธุรกิจยานยนต์ระดับโลกอีก 10 บริษัทเพิ่งประกาศจัดตั้ง Cofinity-X บริษัทที่จะให้บริการเชื่อมต่อกับโทเคนหลักของยุโรป เพื่อให้บริการระบบมาร์เก็ตเพลส ที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลบนแวลูเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุโรปเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและคล่องตัว
ในกลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภค ยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร Kraft Foods ร่วมมือกับสตาร์ตอัปด้านฟู้ดเทค NotCo ที่มีความโดดเด่นด้าน AI โดยจัดตั้ง JV เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ร่วมกัน
ถึงแม้การจัดตั้ง JV จะตั้งอยู่บนความเสี่ยงของการไม่ได้ไปต่อ จะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ตัวเลขผลประกอบการ หรือความไม่ลงรอยกันในเรื่องของเป้าหมายและโครงสร้างองค์กร การจัดตั้งบริษัทร่วมค้าก็ยังคงเป็นความคุ้มค่าเพื่อทำให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ หรือการสร้างฐานตลาดใหม่
ความท้าทายของผู้บริหารคือการวางโรดแมป เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วมและมีตัวชี้วัดความสำเร็จตัวเดียวกัน และยังต้องวางแนวทางการบริหารจัดการให้รัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งก่อนที่แต่ละฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้