'Clubhouse' จากแอปสุดฮิต คืนสู่สามัญ จ่อปลดพนักงานครึ่งบริษัท!

'Clubhouse' จากแอปสุดฮิต คืนสู่สามัญ จ่อปลดพนักงานครึ่งบริษัท!

ล่าสุด Clubhouse เพิ่งประกาศปลดพนักงานลงครึ่งหนึ่งของบริษัท สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไม Clubhouse มาถึงจุดนี้ได้ จากแต่ก่อนเป็นแอปฯ ที่ชาวเน็ตนิยมเล่นและกล่าวถึงกันทั่ว และดูมีอนาคตสดใส แต่ปัจจุบันกลับเผชิญกับขาลงอย่างเห็นได้ชัด

Key Points

  • Clubhouse เคยเป็นบริษัทที่ถูกคาดหวังไว้สูง โดยความนิยมในตัวเเอปฯนี้พุ่งทะยานใน “ช่วงการระบาดโควิด-19” จากการที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดทำการ เพื่อควบคุมการระบาด 
  • แม้ยอดดาวน์โหลดแอปฯ Clubhouse จะพุ่งสูงถึง 14.2 ล้านครั้งในกลางเดือน เม.ย. 2564 แต่ปัจจุบัน การเติบโตเริ่มกลับมาราบเรียบ ไม่เพิ่มขึ้นเหมือนแต่ก่อน
  • เมื่อโลกเข้าสู่ “ยุคหลังโควิด” มีการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงทำให้ผู้คนเปลี่ยนจากการสนทนาในโลก Clubhouse มาสู่โลกในชีวิตจริงแทน


บริษัท Clubhouse โซเชียลมีเดียที่ตั้งกลุ่มออนไลน์พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวผ่าน “เสียง” เป็นหลัก ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ได้ตัดสินใจ “ปลดพนักงานลงครึ่งหนึ่ง” เพื่อรีเซ็ตบริษัท ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้น่าประหลาดใจแต่อย่างใด จากความนิยมที่ลดลงอย่างหนักในปัจจุบัน

สำหรับ Clubhouse นั้นเคยเป็นบริษัทที่ถูกคาดหวังไว้สูง โดยความนิยมในตัวแอปพลิเคชัน Clubhouse พุ่งทะยานในช่วงการระบาดโควิด-19 จากการที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปิดทำการ เพื่อควบคุมการระบาด ผู้คนออกจากบ้านไม่ได้

ผู้คนจึงมองหาวิธีรวมกลุ่ม หาความบันเทิงร่วมกันได้ ไม่เว้นแม้แต่บรรดาคนดัง ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี นักลงทุนในสตาร์ทอัพต่างก็ต้องการเช่นกัน

 

\'Clubhouse\' จากแอปสุดฮิต คืนสู่สามัญ จ่อปลดพนักงานครึ่งบริษัท!

- แอปฯ Clubhouse -

ในช่วงนั้น ด้วยกระแสเงินทุนที่แสวงหาง่ายกว่าปัจจุบัน ประกอบกับซอฟต์แวร์ก็ถูกมองว่า “กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลก” จากคำกล่าวของมาร์ค แอนดรีซเซน (Marc Andreessen) นักลงทุนสตาร์ทอัพชาวอเมริกัน

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วสำหรับโซเชียลมีเดียแห่งยุคต่อไป คือ “Clubhouse” ที่เปิดให้ผู้คนสามารถเข้ามารวมกลุ่มเป็นชุมชนออนไลน์ ฟังการถกเถียงทั้งประเด็นดนตรี เทคโนโลยี แฟชั่น ฯลฯ จนกลายเป็นแอปฯ ที่ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย

แม้แต่เอ็มซี แฮมเมอร์ (MC Hammer) นักร้องเพลงแร็ป, โอปราห์ วินฟรีย์  (Oprah Winfrey) พิธีกรชื่อดังประเภททอล์คโชว์ และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) Facebook ก็อยู่ในชุมชน Clubhouse นี้ด้วย

 

  • จากบริษัทร้อยล้านสู่พันล้านในไม่ถึงปี

มูลค่าบริษัท Clubhouse ได้เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านดอลลาร์ในกลางปี 2563 สู่ 1,000 ล้านดอลลาร์ในเดือน ม.ค. 2564 จากการเข้าลงทุนของบริษัท Andreessen Horowitz ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยแอนดรีซเซน

3 เดือนต่อมาในปีเดียวกัน มูลค่าบริษัท Clubhouse ก็ก้าวขึ้นสู่ 4,000 ล้านดอลลาร์ จากการร่วมลงทุนใน Clubhouse เพิ่มของ 2 บริษัท ได้แก่ Tiger Global บริษัทการลงทุนสัญชาติอเมริกัน และ DST Global บริษัทการลงทุนสัญชาติรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม จากการอ้างอิงข้อมูล App Annie บริษัทวิจัยตลาดแอปฯ มือถือ แม้ยอดดาวน์โหลดแอปฯ จะพุ่งสูงถึง 14.2 ล้านครั้งในกลางเดือน เม.ย. 2564 แต่ปัจจุบัน การเติบโตเริ่มกลับมาราบเรียบ ไม่เพิ่มขึ้นเหมือนแต่ก่อน ถือเป็นความท้าทายก่อนที่บริษัทจะพัฒนาแอปฯ ให้สามารถหารายได้ด้วย
 

  • ความนิยมร่วงหลังโควิดคลาย

ช่วงปลายปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ประเทศต่าง ๆ เริ่มกลับมาเปิดเมือง และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ส่งสัญญาณว่าโลกยุคดอกเบี้ยต่ำกำลังจะสิ้นสุดแล้ว

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีก็แตะระดับสูงสุดครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ก่อนจะถล่มลงมา และราคาหุ้นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากการที่ผู้คนอยู่แต่ในบ้านช่วงโควิด-19 อย่าง Zoom บริษัทจัดการประชุมออนไลน์ และ Peloton บริษัทสตาร์ทอัพจำหน่ายเครื่องออกกำลังกาย ก็ร่วงระนาว

ความนิยมใน Clubhouse กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อมีโพสต์ในบล็อกของวันพฤหัสฯ จากผู้ก่อตั้งแอปฯ Clubhouse ที่แถลงเมื่อวันพฤหัสบดี (27 เม.ย.) ว่า บริษัทจะเลิกจ้างพนักงานลง 50% ซึ่งอันที่จริงแล้วสถานการณ์เช่นนี้ของบริษัทควรน่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายเดือน และพอล เดวิสัน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอบริษัท Clubhouse ให้ความเห็นกับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อปลายปี 2564 ว่า “บริษัทเราเติบโตเร็วเกินไป”

ในโพสต์เมื่อวันที่ 27 เม.ย. บริษัท Clubhouse แถลงว่า “การลดพนักงานลง” เป็นสิ่งจำเป็นต่อการรีเซ็ตบริษัท โดยจากข้อมูล LinkedIn บริษัท Clubhouse มีจำนวนพนักงานมากกว่า 200 คน

 

\'Clubhouse\' จากแอปสุดฮิต คืนสู่สามัญ จ่อปลดพนักงานครึ่งบริษัท!

- บริษัท Clubhouse กำลังถูกท้าทายจากจำนวนผู้ใช้งานที่ลดลงหลังโควิด-19 คลี่คลาย (เครดิต: AFP) -

 

เดวิสัน และโรฮาน เซธ (Rohan Seth) แสดงความเห็นว่า ในขณะที่โลกเข้าสู่ “ยุคหลังโควิด” มีการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงเป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับหลายคนที่จะหาเพื่อนใน Clubhouse และพวกเขาก็ได้เปลี่ยนจากการสนทนาในโลก Clubhouse มาสู่โลกในชีวิตจริงแทน ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องวิวัฒนาการตัวเอง 

 

  • “เลิกจ้าง” วิบากกรรมบริษัทเทคฯ

การเลิกจ้าง กลายเป็นประเด็นสำคัญของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในปีที่ผ่านมา บริษัทด้านซอฟต์แวร์ ธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ และโซเชียลมีเดียต่างต้องสู้กับภาวะเศรษฐกิจซบเซา

ข้อมูลจาก Layoffs.fyi. เครื่องมือติดตามการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ระบุว่า ในปีนี้ มีการเลิกจ้างมากกว่า 184,000 ตำแหน่งในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ที่มีมากกว่า 600 บริษัท และเมื่อปีที่แล้ว มีการเลิกจ้างเกือบ 165,000 ตำแหน่งในมากกว่า 1,000 บริษัท 

สถานการณ์ Clubhouse ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงล่อแหลมมากกว่าบริษัทอื่น ๆ และมูลค่าบริษัทก็แพงเกินไป แม้ในปี 2564 ที่ตลาดร้อนแรงสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) ก็ตาม
โดยเฉพาะในช่วงสุดท้ายของการระดมทุนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก นับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่มีมูลค่าสูงอย่าง Stripe แอปฯบริการชำระเงิน และ Canva แอปฯแต่งรูป ก็มีมูลค่าลดลงอย่างรวดเร็ว

 

  • Clubhouse ยังขอสู้ต่อ

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้ง Clubhouse ยืนยันว่า บริษัทมีเงินทุนเพียงพอในการขับเคลื่อนบริษัท หลังจากได้เงินระดมทุนหลายร้อยล้านดอลลาร์ในปี 2564 

Clubhouse ให้เหตุผลที่ลดพนักงานลงว่า ทีมที่เล็กลงจะช่วยให้การดำเนินงานบริษัทตรงจุด รวดเร็วขึ้น และช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์บริษัทไปสู่อีกขั้น

เดวิสัน และเซธ ผู้ร่วมก่อตั้ง Clubhouse เปิดเผยว่า พวกเขากำลังพัฒนา Clubhouse เวอร์ชัน 2.0 ที่จะทำให้ผู้ใช้แอปฯ ได้ยินเสียงเพื่อนดียิ่งขึ้น เกิดการสนทนา และรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คนรอบตัวเรามากกว่าเดิม

เพื่อให้ประสบความสำเร็จในโลกที่ขับเคี่ยวกันสูง บริษัทจำเป็นต้องขยายฐานลูกค้าออกไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อขยายไปจนถึงระดับสูงพอสมควรแล้ว บริษัทก็สามารถหารายได้ผ่านการโฆษณา การสมัครสมาชิก หรือขายสินค้าเสมือนจริง

ในหลายครั้งนั้น บริษัทผู้พัฒนาแอปฯ ในโลกออนไลน์ มักโด่งดังในช่วงระยะหนึ่ง และล้มหายไปจากความแปลกใหม่ที่ลดลง หรือแพลตฟอร์มคู่แข่งหันมาลอกเลียนแบบนวัตกรรม และเมื่อความนิยมหายไปแล้ว ก็อาจยากที่ฟื้นกลับมาใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแทบทุกวินาที

อ้างอิง: cnbc