"ทวิตเตอร์" โยนภาระต้นทุนให้ผู้ใช้! จำกัดการใช้งาน เพราะไม่จ่ายค่าคลาวด์
“ทวิตเตอร์” ปรับนโยบายอีกครั้ง จำกัดจำนวนทวีตที่ผู้ใช้งานเห็น ผู้ใช้งานฟรี มองเห็นได้ 500 โพสต์/ วัน เหตุจากไม่ต่อสัญญา “Google Cloud” ทำให้ #ทวิตเตอร์ล่ม ขึ้นเทรนด์
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวในวงการเทคโนโลยีใหญ่ไปกว่าปัญหาของเหล่าทวิตเตี้ยนไม่สามารถใช้งาน ทวิตเตอร์ได้เป็นปกติจน #ทวิตเตอร์ล่ม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์แบบข้ามวันข้ามคืนจนถึงวันจันทร์ ที่ 3 ก.ค. ก็ยังคงติดเทรนด์อันดับ 1 ของไทยอยู่ ส่วนในต่างประเทศ #TwitterDown และ #RIPTwitter ก็ติดเทรนด์ด้วยเช่นกัน
อันที่จริงแล้ว ทวิตเตอร์ไม่ได้ล่มแต่อย่างใด แต่ว่าอีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ทวิตเตอร์ได้จำกัดจำนวนการมองเห็นทวีตของผู้ใช้งานชั่วคราว โดยผู้ใช้งานแต่ละระดับนั้นจะมีปริมาณการมองเห็นทวีตไม่เท่ากัน ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
- บัญชียืนยันตัวตนอ่านได้ 6,000 โพสต์/ วัน
- บัญชีที่ไม่ยืนยันตัวตนอ่านได้ 600 โพสต์/ วัน
- บัญชีใหม่ที่ไม่ยืนยันตัวตนอ่านได้ 300 โพสต์/ วัน
แต่หลังจากนั้นเพียงชั่วโมงเดียว มัสก์ออกมาทวีตเพิ่มเติมว่าจะมีปรับมาตรการให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นทวีตได้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเป็น
- บัญชียืนยันตัวตนอ่านได้ 10,000 โพสต์/ วัน
- บัญชีที่ไม่ยืนยันตัวตนอ่านได้ 1,000 โพสต์/ วัน
- บัญชีใหม่ที่ไม่ยืนยันตัวตนอ่านได้ 500 โพสต์/ วัน
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยว่า “มาตรการชั่วคราว” นี้จะดำเนินไปถึงเมื่อไหร่ และไม่ได้อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อฟีเจอร์ต่างๆ ในทวิตเตอร์ เช่น Spaces ฟีเจอร์การสนทนาด้วยเสียง หรือไม่ ซึ่งหลังจากมาตรการนี้ออกมาผู้ใช้งานหลายคนเริ่มแชร์ภาพหน้าจอของหน้าทวิตเตอร์โดยมีข้อความว่า "rate limit exceeded" ซึ่งจำกัดความสามารถในการดูการตอบกลับทวีตหรือโพสต์บนฟีดหลัก จนกลายเป็นที่มาของการติดเทรนด์ทั่วประเทศ และทั่วโลก
มัสก์ ระบุว่า มาตรการเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อตอบโต้บริษัทต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลของแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรใช้ทวิตเตอร์ในทางที่ผิด จนทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดี อีกทั้งมัสก์ยังไม่พอใจที่บริษัทพัฒนาโปรแกรมแชตบอตนำข้อมูลจากทวิตเตอร์ไปใช้ในการพัฒนา AI (เอไอ) ของตนเอง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทวิตเตอร์ออกมาตรการสำหรับตอบโต้ผู้นำข้อมูลในทวิตเตอร์ไปใช้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์เพิ่มกฎไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ลงชื่อเข้าใช้มองเห็นทวิตเตอร์นั้นๆ ซึ่งกระทบต่อเวลาการใช้งาน เมื่อคนส่งลิงก์ทวิตเตอร์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ พอกดเข้าลิงก์นั้นจะไม่สามารถเข้าชมได้ ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับผู้ใช้งาน
ข้อจำกัดดังกล่าวแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ล่าสุด หลังจากที่มัสก์ เข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมัสก์ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกับทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นกู้คืนบัญชีที่ถูกแบนจำนวนมาก รวมถึงบัญชีของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐ แถมถอดเครื่องหมายยืนยันตัวตนบุคคลสาธารณะออก แล้วเสนอบริการรายเดือนสำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องหมายติ๊กถูกในราคา 8 ดอลลาร์ต่อเดือนแทน
หลังจากนั้นทวิตเตอร์ก็ต้องเจอความวุ่นวายนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งการเปลี่ยนแปลงในแง่ประสบการณ์การใช้งานและการเปลี่ยนแปลงในองค์กร มัสก์ปลดพนักงานในทวิตเตอร์อีกหลายพันคน พร้อมแต่งตั้ง ลินดา ยัคคาริโน อดีตประธานฝ่ายโฆษณา และพันธมิตรระดับโลกของ NBCUniversal เป็นซีอีโอของทวิตเตอร์ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
- ผู้ใช้งานหันไปใช้แอปอื่น
ด้วยประสบการณ์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงจากความวุ่นวาย และการปรับนโยบายของทวิตเตอร์ เช่น นำฟีเจอร์แปลภาษาออก เพิ่มฟีเจอร์จำนวนการมองเห็น เพิ่มทวีตที่แนะนำท้ายรีพลาย เพิ่ม “For You” ในหน้าแรกเพื่อให้ผู้ใช้งานได้มองเห็นทวีตเพิ่มมากขึ้น โดยฟีเจอร์เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้งานพึงพอใจ เพราะระบบแนะนำมาแต่ทวีตที่พวกเขาไม่ได้ติดตาม แต่ทวีตของคนที่พวกเขาติดตามกลับไม่มีขึ้นมาเลย นอกจากนี้ยังเกิดข้อผิดพลาดบ่อยครั้ง จนทำให้ผู้ใช้บางคนหันไปใช้โซเชียลมีเดียที่คล้ายกัน เช่น Mastodon แอปพลิเคชันที่ไม่มีโฆษณา และใช้ได้ฟรี Telegram แอปแชตจากรัสเซีย รวมถึง Bluesky ของ “แจ็ค ดอร์ซี” ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์
นอกจากนี้ Meta บริษัทแม่ของโซเชียลมีเดียใหญ่ของโลก อย่างเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม กำลังพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ที่มีรูปร่างหน้าตา และฟังก์ชันการใช้งานเหมือนกับทวิตเตอร์ทุกอย่าง โดย The Verge สำนักข่าวเทคโนโลยีได้รับการยืนยันจากการประชุมภายในบริษัทว่าจะใช้แอปพลิเคชันนี้ว่า “Threads” หลายฝ่ายจึงคิดว่าแอปพลิเคชันนี้จะมาแทนที่ทวิตเตอร์ได้โดยสมบูรณ์
สำหรับข้อมูลของ Threads หลุดออกมา เพราะอะเลสซานโดร พาลุซซี นักพัฒนาซอฟต์แวร์บังเอิญไปเจอโค้ด และภาพหน้าจอที่แสดงองค์ประกอบ UI บางส่วน ของแอปนี้ใน Google Play Store แม้ Meta ยังไม่ได้ประกาศวันที่เผยแพร่อย่างเป็นทางการสำหรับแอป แต่การปรากฏบน Google Play Store เป็นไปได้ว่าใกล้จะเปิดตัวแอปพลิเคชันนี้เต็มทีแล้ว
- ทวิตเตอร์ต้องการลดค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าว Platformer รายงานว่า ทวิดเตอร์เลิกต่อสัญญาใช้บริการคลาวด์กับ Google Cloud และเตรียมย้ายระบบออกจากแพลตฟอร์มของกูเกิล หลังหมดสัญญาในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าที่ทวิตเตอร์ต้องจำกัดจำนวนการเข้าถึงทวีต เพื่อเป็นการประหยัดใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล และค่าใช้จ่ายไปในตัว
อันที่จริงทวิตเตอร์ใช้บริการ Google Cloud มาหลายปี ไว้สำหรับดำเนินระบบต่อต้านสแปม ระบบลบภาพโป๊เปลือยเด็ก ระบบป้องกันบัญชี เป็นต้น นอกจากนี้ทวิตเตอร์ก็ขึ้นชื่อเป็นบริษัทที่เบี้ยวเงินบริษัทคู่สัญญาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Slack แอปพลิเคชันสนทนา และ Redis การเก็บข้อมูลในหน่วยความจำแบบโอเพนซอร์ส ทำให้ความร่วมมือของทวิตเตอร์และบริษัทเหล่านั้นต้องสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ยังเคยพยายามจะไม่จ่ายค่าใช้บริการคลาวด์ของ Amazon Web Service หรือ AWS จนทาง AWS ถึงกลับขู่ว่าจะไม่จ่ายเงินค่าโฆษณาให้ทวิตเตอร์ ถึงจะตกลงกันได้
ในตอนนี้ถือว่าทวิตเตอร์เป็นแอปพลิเคชันที่คนทั่วไปจะนึกถึง เมื่อพูดถึงโซเชียลมีเดีย แต่หลังจากมาตรการชั่วคราวที่มัสก์พึ่งประกาศออกมาอาจจะทำให้ทวิตเตอร์เสื่อมความนิยมลง หลายคนยังคงใช้งานทวิตเตอร์อยู่ เพราะยังหาแอปที่ “ตอบโจทย์” สำหรับพวกเขาไม่ได้ แต่ถ้าหาก Threads หรือมีแอปที่ทำได้ดีกว่า ผู้คนอาจหันไปใช้แอปอื่น และทวิตเตอร์อาจจะเป็นแค่ตำนานก็ได้
ที่มา: Platformer, The Verge, The Wire Washington Post
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์