ใครเจ๋งกว่า 'Threads' VS 'Twitter' เหมือนหรือต่างกันขนาดไหน?
พิสูจน์ความแตกต่างของโซเชียลมีเดียน้องใหม่ “Threads” จากบ้าน “Meta” ของ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” กับ “Twitter” ของ “อีลอน มัสก์” ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
เปิดให้ดาวน์โหลดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับแอปพลิเคชัน “Threads” (เธรดส์) จากบริษัท “Meta” ของ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ที่สื่อหลายสำนักเก็งว่าจะเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ “Twitter” โซเชียลมีเดียของ “อีลอน มัสก์” ที่มีเรื่องวุ่นวายในนโยบายการใช้งานที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก
ทันทีที่เปิดดาวน์โหลดในวันที่ 6 ก.ค. 2566 Threads มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 2 ล้านครั้งภายในสองชั่วโมง และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างเรื่อย ๆ ทำให้ Threads มีแนวโน้มจะก้าวเป็นผู้นำในวงการโซเชียลมีเดียเคียงคู่กับ Facebook, Instagram, TikTok แถมเบียด Twitter ออกจากแนวหน้าของโซเชียลมีเดียได้เลย เพราะ Threads แทบจะเป็นฝาแฝดของ Twitter ได้เลย
Threads มีฟีเจอร์พื้นฐานของ Twitter ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การทวีตโดย Theads เรียกว่า เธรด (Thread) การรีทวิต ใช้ว่า รีโพสต์ (Repost) สามารถตอบกลับได้หรือที่เรียกว่ารีพลายได้เช่นกัน กดถูกใจโพสต์ได้เช่นกัน รวมถึงสามารถบล็อกผู้ใช้งาน บล็อกคำบางคำที่คุณไม่ต้องการเห็นได้ เช่น สปอยเลอร์สำหรับภาพยนตร์ เหมือนกับ Twitter
อย่างไรก็ตาม การจะใช้ Threads คุณต้องมีบัญชี Instagram อยู่แล้ว เพื่อลงชื่อเข้าใช้งาน เพราะระบบจะเชื่อมต่อ Threads ไปยังโปรไฟล์ Instagram ปัจจุบันของคุณ โดยมีตัวเลือกบางอย่างที่สามารถปรับแต่งได้ เช่น ประวัติ และ ลิงค์เว็บไซต์ แต่ชื่อของผู้ใช้งานยังไม่สามารถเปลี่ยนได้
เมื่อใส่ข้อมูลเสร็จแล้ว จะมีตัวเลือกให้ดำเนินการต่อและติดตามบัญชีเดียวกับที่คุณติดตามบน Instagram มาตลอด และสุดท้ายสามารถตั้งค่าโปรไฟล์ของคุณเป็น "สาธารณะ" หรือ "ส่วนตัว” ซึ่งคุณสามารถจำกัดให้ใครสามารถดูโพสต์ของคุณได้
แม้จะบอกว่า Threads คล้ายคลึงกับ Twitter แทบทุกประการ แต่ก็ยังมี “ข้อแตกต่าง” กันอยู่บ้าง โดยกรุงเทพธุรกิจสรุปมาให้แล้ว
1. หน้าฟีดที่วุ่นวาย
หน้าแรกของ Threads ยังไม่ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนแบบ Twitter ที่แยกระหว่างทวีตแนะนำ และทวีตของผู้ที่คุณติดตาม ทำให้ในตอนนี้หน้าฟีดของ Threads จึงเต็มไปด้วยเธรดของทุกคน ทั้งที่คุณติดตามอยู่และไม่รู้จักมาก่อน
2. ใช้แฮชแท็กยังไม่ได้
แฮชแท็ก (#) เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้งาน Twitter ได้สะดวกยิ่งขึ้นในการค้นหาเรื่องที่ต้องการ แต่ตอนนี้ระบบแฮชแท็กยังไม่สามารถได้ใน Threads แถมช่องค้นหาทำได้แค่หาชื่อผู้ใช้งาน
3. ข้อจำกัดในการโพสต์
สำหรับ Twitter เราคุ้นชินกันเป็นอย่างดีว่าสามารถทวีตได้ 280 ตัวอักษร แม้จะดูเป็นข้อจำกัด แต่เป็นเสน่ห์ที่ทุกคนชอบ โดยสามารถทวีตรูปภาพ วิดีโอ ข้อความเสียง GIF โลเคชัน ซึ่งสามารถแนบได้ 4 รูปภาพต่อ 1 ทวิต ส่วนวิดีโอจำกัดความยาวที่ 2.20 นาที
ขณะที่ Threads เพิ่มทุกอย่างให้จาก Twitter โดยโพสต์ได้ 500 ตัวอักษร พร้อมแนบรูปภาพและวิดีโอในเธรดได้ด้วยเช่นกัน โดยแนบรูปได้ถึง 10 ภาพ แถมเพิ่มความยาววิดีโอได้ถึง 5 นาที
4. ฟังก์ชันที่ขาดไป
เมื่อเข้าไปเว็บไซต์ Threads หน้าเว็บจะแสดงรหัส QR ที่นำคุณไปยังหน้าดาวน์โหลดสำหรับแอปใน App Store หรือ Google Play store ซึ่งต่างจาก Twitter ที่สามารถเล่นผ่านคอมพิวเตอร์ได้เลย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ขณะที่ฟีเจอร์พูดคุยกันด้วยเสียงอย่าง “Space” อีกหนึ่งจุดเด่นของ Twitter ก็ยังไม่มีให้ใช้งานใน Threads ด้วยเช่นกัน
หากคุณต้องการส่งข้อความส่วนตัว (Direct Message) ไปหาใครสักคนใน Threads คุณยังไม่สามารถทำได้ในตอนนี้ คุณต้องเข้าส่งข้อความไปหา IG ได้แทน อีกทั้งยังไม่สามารถดูได้ว่ามีใครรีโพสต์เราบ้างอีกด้วย
5. ไร้โฆษณากวนใจ
เนื่องจาก Threads พึ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ทำให้ในตอนนี้ยังไม่มีโฆษณามารบกวนใจ ทุกคนสามารถใช้ได้ฟรี และสามารถใช้ฟังก์ชันทุกอย่างเหมือนกันหมด ยังไม่มีฟังก์ชันพิเศษสำหรับผู้ที่เสียค่าบริการการรายเดือนเหมือนกับ Twitter
ตอนนี้ Threads เป็นโซเชียลมีเดียที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก แต่ Threads ยังมีอีกหลายสิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนา เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี่ให้แก่ผู้ใช้ จนอยากใช้งานแอปพลิเคชันต่อไปในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์เหมือนกับโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ที่พยายามเจาะตลาดแต่ไม่สามารถยืนระยะได้ยาว
กราฟิก: จิรภิญญาน์ พิษถา