ยาน Luna-25 รัสเซีย พุ่งชนดวงจันทร์ ปิดฉากการกลับมาสำรวจดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี
ยาน Luna-25 (ลูนา-25) ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซียครั้งแรกในรอบ 47 ปี ประสบความล้มเหลว เนื่องจากยานสูญเสียการควบคุมและพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ( สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยบทความที่แปลและเรียบเรียง โดยพิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ยาน Luna-25 ของรัสเซียพุ่งชนดวงจันทร์ การกลับมาสำรวจดวงจันทร์ในรอบ 47 ปี ประสบความล้มเหลว
Luna-25 (ลูนา-25) ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซียครั้งแรกในรอบ 47 ปี ประสบความล้มเหลว เนื่องจากยานสูญเสียการควบคุมและพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์ หลังจากเจอปัญหาระหว่างการเตรียมพร้อมก่อนลงจอด สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของการเดินทางไปยังดวงจันทร์ ที่ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ไม่เว้นแม้กับประเทศที่เคยมีประวัติศาสตร์ในการเดินทางอวกาศอย่างโชกโชนมาก่อน เช่นรัสเซีย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 2023 เวลา 18:57 น. (ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย) Roscosmos หรือ รัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย ในฐานะองค์การอวกาศแห่งชาติรัสเซียประกาศว่า ได้สูญเสียการติดต่อกับยานลูนา-25 ไป หลังจากเกิดปัญหายานปรับเปลี่ยนเส้นทางในวงโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนการลงจอด ซึ่งมีกำหนดลงจอดในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2023 ตามแผนภารกิจ
"ยานได้เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ที่คาดการณ์ไม่ได้ และจบลงด้วยการพุ่งชนพื้นผิวดวงจันทร์" นี่คือคำประกาศของ Roscosmos ในแถลงการณ์เรื่องยานลูนา-25
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
Roscosmos ได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษระหว่างแผนก เพื่อศึกษาถึงเหตุผลที่ทำให้สูญเสียยานในภารกิจลูนา-25 ซึ่งเป็นภารกิจที่ทางรัสเซียตั้งความหวังว่าจะกลับมาสู่การแข่งขันด้านอวกาศมุ่งสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง จากที่อดีตสหภาพโซเวียตเคยเป็นผู้นำทางด้านการสำรวจอวกาศมาก่อน และเคยส่งยานสำรวจลูนา-24 ไปลงจอดบนดวงจันทร์มาก่อนแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976
ความล้มเหลวครั้งนี้ ย้ำเตือนให้เราประจักษ์ถึงความท้าทายในการส่งภารกิจสำรวจอวกาศ แม้จะเป็นรัสเซียที่สืบทอดสายเลือดมาจาก "สหภาพโซเวียต" ที่เต็มไปด้วยประวัติการสำรวจอวกาศอันโชกโชนนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ทั้งการส่งดาวเทียมดวงแรกของโลก "สปุตนิก 1" ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อปี ค.ศ. 1957 และส่งนักบินอวกาศคนแรกของโลก "ยูริ กาการิน" ขึ้นสู่อวกาศในปี ค.ศ. 1961
ปัจจุบัน รัสเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขนาดประมาณ 3.6 เท่าของขนาดเศรษฐกิจไทย) และกำลังเจอกับความท้าทายภายนอกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทั้งการคว่ำบาตรของกลุ่มชาติตะวันตก และสงครามในยูเครน
- การส่งยานไปดวงจันทร์ที่จบลงด้วยความล้มเหลว
ก่อนหน้านี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่รัสเซียกับอินเดียต่างแข่งกันส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ ซึ่งยานในภารกิจ "จันทรยาน-3" ของอินเดียมีกำหนดการลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในสัปดาห์นี้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่ามีชาติอื่น ๆ ที่พยายามไล่ตามสหรัฐฯ และจีน ที่มีความก้าวหน้าเรื่องการส่งยานสำรวจดวงจันทร์
"ยานในภารกิจจันทรยาน-3 จะลงจอดบนดวงจันทร์ในวันที่ 23 สิงหาคม" โพสต์จากองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) บนแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล X (ทวิตเตอร์ในอดีต) ในช่วงที่มีข่าวว่ายานลูนา-25 ของรัสเซียพุ่งชนดวงจันทร์
ทางคณะเจ้าหน้าที่ของรัสเซียต่างเคยคาดหวังว่าภารกิจลูนา-25 จะเป็นตัวพิสูจน์ว่ารัสเซียยังสามารถแข่งขันกับมหาอำนาจชาติอื่น ๆ ด้านอวกาศ แม้ว่ารัสเซียจะประสบกับความเสื่อมถอยหลังโซเวียตล่มสลาย และค่าใช้จ่ายมหาศาลในสงครามยูเครน
"ระบบควบคุมเที่ยวบินอวกาศ เป็นสิ่งที่อ่อนไหวเปราะบาง และยังต้องปรับปรุงอีกมาก" Anatoly Zak ผู้สร้างเว็บไซต์ www.RussianSpaceWeb.com ที่ติดตามโครงการอวกาศต่าง ๆ ของรัสเซียกล่าว
Zak กล่าวว่ารัสเซียเองเลือกที่จะส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ แทนที่จะเลือกยานโคจรรอบดวงจันทร์ ซึ่งยานลงจอดเป็นภารกิจที่ยากกว่ายานโคจรรอบตัวดาว และชาติมหาอำนาจด้านอวกาศหลายชาติก็เคยเจอเรื่องราวดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ จีน และอินเดีย
นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียเคยออกมาพูดหลายครั้งว่าโครงการอวกาศถูกบ่อนทำลายด้วยกลุ่มผู้จัดการโครงการที่คอรัปชั่น และความเสื่อมถอยของระบบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์หลังโซเวียตล่มสลาย
ก่อนหน้านี้ ความล้มเหลวของภารกิจโฟบอส-กรุนต์ (Fobos-Grunt) ในปี ค.ศ. 2011 ที่มีเป้าหมายสำรวจดวงจันทร์บริวารของดาวอังคาร เผยให้เห็นถึงความท้าทายที่โครงการอวกาศของรัสเซียกำลังเผชิญหน้า ในครั้งนั้นยานไม่สามารถออกจากวงโคจรรอบโลกได้ ก่อนตกกลับลงมาสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในปี ค.ศ. 2012
ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2010 รัสเซียได้เริ่มแนวคิดและแผนการในภารกิจลูนา-25 โดยตั้งเป้าหมายลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ แม้ยานลูนา-25 จะสามารถออกจากวงโคจรรอบโลกได้ แต่ความล้มเหลวที่เกิดกับยานลูนา-25 ย่อมหมายความว่า ความพยายามของรัสเซียที่จะเป็นชาติแรกที่จะนำดินตัวอย่างจากขั้วใต้ของดวงจันทร์กลับมายังโลก เพื่อยืนยันการมีอยู่ของน้ำแข็ง ยังคงเป็นเพียงอีกเป้าหมายหนึ่งของมนุษยชาติที่ยังคงไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้ต่อไป
และตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดในทันทีว่าความล้มเหลวของยานลูนา-25 จะมีผลกระทบระยะยาวต่อโครงการสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซีย ที่จะมีภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งอื่น (ลูนา-26 ถึงลูนา-28) หลังจากนี้หรือไม่
อ้างอิง : reuters