Apple vs EU ศึกที่เพิ่งเริ่มต้น | กันต์ เอี่ยมอินทรา
หลังจากบริษัท Apple เปิดตัวผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ก็เป็นที่น่าจับตาทุกครั้งถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สาวก Apple เชื่อว่าจะมาเปลี่ยนโลกให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น
ผมเชื่อว่า หลายคงอาจจะผิดหวังกับนวัตกรรมที่แน่นอนว่าดีกว่าผลิตภัณฑ์รุ่นก่อนๆ ของ Apple แต่ก็ไม่ได้ล้ำหน้าแบบก้าวกระโดดที่จะให้ทุกคนต้องตกตะลึงจนอ้าปากค้าง การพัฒนาให้กล้องไอโฟนถ่ายรูปสวยขึ้น หรือใช้วัสดุที่ดูสวยงามทนทานขึ้นอย่างไทเทเนียม หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยี double tap ของนาฬิกา Apple Watch ที่จะทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น
Apple คือหนึ่งในกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐ โดยมีการประมาณการจากรายได้เมื่อปี 2564 ที่สูงถึง 430,000 ล้านดอลลาร์ที่การกระจายสู่ห่วงโซ่อุปทานในสหรัฐ ทั้งในส่วนของการผลิต การจ้างงาน การจับจ่ายใช้สอยอย่างมหาศาลจากเม็ดเงินนี้ รวมไปถึงการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในการจับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ที่มากมายของบริษัทไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ ทีวี นาฬิกา คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ
Apple ได้มีการจ้างงานกว่า 164,000 อัตรา (ข้อมูลปี 2564) และหากนับรวมการจ้างงานรวมในห่วงโซ่อุปทานจะพบว่าการจ้างงานนั้นอาจจะสูงถึง 2.7 ล้านอัตราทั่วสหรัฐ และบริษัทเองก็ภูมิใจที่จะประกาศอย่างเสียงดังฟังชัดว่า Apple คือบริษัทผู้เสียภาษี Domestic Corporate Income Tax ก้อนใหญ่ที่สุดในสหรัฐ โดยมีการรวบรวมตัวเลขภาษีที่เสียไปในระยะเวลา 5 ปีที่สูงถึง 45,000 ล้านดอลลาร์
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา จึงสามารถพูดได้ว่า Apple คือฟันเฟืองตัวสำคัญที่ขณะนี้เป็นกุญแจในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐ และ Apple ก็เป็นสินค้าส่งออกชั้นดี ที่ดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมากจากสินค้านวัตกรรมที่เน้นการออกแบบที่ทันสมัย และมีกลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกอยากให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ารุ่นใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม จะด้วยเหตุผลทางเทคนิคหรือจะเป็นกลยุทธ์การตลาดก็ดี การตัดสินใจบางประการของ Apple ก็ถูกมองว่าไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค กรณีระบบชาร์จไฟของไอโฟน ที่มีเอกลักษณ์ด้วยการใช้ระบบ Lightning ทั้งที่ในทางเทคนิคแล้ว USB-C นั้นจะดีกว่า ความพยายามในการผูกขาดแม้กระทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อการชาร์จไฟ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เป็นปัญหา
ก่อนที่ Apple จะมีผลิตภัณฑ์ที่มากมายเช่นในปัจจุบัน หากย้อนเวลากลับไปไม่นาน สัก 15-20 ปี ผู้บริโภคที่ซื้อมือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพาก็จะคุ้นชินกับกลยุทธ์ราคาเหมารวม คือ จ่ายหนึ่งครั้งได้ทั้งเครื่องทั้งที่ชาร์จ แต่นี่ไม่ใช่กลยุทธ์ทางการตลาดของ Apple ที่เน้นขายไม่เพียงแต่ผลิตภัณฑ์หลักแต่ยังเน้นการทำกำไรกับอุปกรณ์เสริม และการเปลี่ยนระบบทุกครั้งก็มีความหมายเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายอุปกรณ์เสริมเหล่านี้
จากเหตุผลที่ว่านี้ ประกอบกับเหตุผลอีกหลายประการทำให้สหภาพยุโรป (EU) ออกกฎหมายเพื่อบังคับให้โทรศัพท์ทุกเครื่องที่จะจัดจำหน่ายหลังจากฤดูใบไม้ร่วงในปีหน้า ต้องใช้ระบบการชาร์จไฟด้วย USB-C เหมือนกัน ซึ่งก็เหมือนเป็นกฎที่เขียนขึ้นมาเพื่อจัดการ Apple โดยเฉพาะ เพราะ USB-C นี้มีความสามารถที่ดีกว่าในทางเทคนิค และก็เป็นที่นิยมของอุปกรณ์อื่นๆ
พูดสั้นๆ ว่า มีปลั๊กเดียวสามารถชาร์จไฟได้ตั้งแต่โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นมิตรกับทั้งสิ่งแวดล้อม และกับกระเป๋าของผู้บริโภค
Apple ไม่ใช่บริษัทของสหรัฐเพียงบริษัทเดียวที่ถูกเพ่งเล็งเรื่องของการค้าที่ EU มองแล้วว่าไม่เป็นมิตรกับผู้บริโภค บริษัทอื่นๆ อาทิ Meta เจ้าของ Facebook ก็มีประเด็นเรื่องของการทำรายได้ที่มหาศาล แต่ไม่สมดุลกับภาษีที่จ่ายใน EU เช่นกัน ซึ่งก็น่าจับตาต่อไป